คารวาลัย “รพีพร”-สุวัฒน์ วรดิลก


โลกประเทศแปรปรวนปั่นป่วนนัก
สิ่งใดว่าหนาหนักมากันใหญ่
เมฆมืดมนห่มฟ้ามาทันใด
บังตะวันแห่งชัยไว้ในฟ้า
เป็นข่าวร้ายข่าวเศร้าเป็นข่าวแรก
สงกรานต์แทรกฝนคะนองก้องฟ้าผ่า
รับปีใหม่ไทยปีนี้มีน้ำตา
กองทุน “ศรีบูรพา”เสียประธาน
บ่ายวันเดียวกันนั้นยังขอพร
ยังรดน้ำเอื้อนอ้อนสนุกสนาน
ค่ำวันเดียวลาลับกลับร้าวราน
น้ำตาน้องนองบ้านนักเขียนไทย
เสียเสาหลักของบ้านในวันนี้
เสียพี่ชายคนดีผู้ยิ่งใหญ่
เสียสุวัฒน์ รพีพร คนสอนใจ
เสียยอดดวงหทัยเพ็ญพระจันทร์
สุวัฒน์ วรดิลก
โลกตระหนกตกใจและไหวหวั่น
คนหนังสือจะครวญคร่ำร่ำรำพัน
สถาบันวรรณกรรมจะช้ำใจ
เราจดจำความดีพี่ได้หมด
เราจารจดอุดมการณ์อันยิ่งใหญ่
เรายืนยันสืบเท้าก้าวต่อไป
ขอร่ำรักคารวาลัย-อาลัยลา
ไปสู่สรวงสวรรค์อันไพจิตร
มุ่งหมายนิรมิตตะวันกล้า
แม้สุวัฒน์ด่วนดับไปกับตา
แต่รพียังคู่ฟ้า-สถาพร

ชมัยภร แสงกระจ่าง
๒.๒๖ น.๑๕ เมษายน ๒๕๕๐

รพีพร หรือ สุวัฒน์ วรดิลก ได้จากไปแล้ว เมื่อค่ำวันที่ 15 เมษายน 2550 ที่ผ่านมา ด้วยอาการหัวใจวาย ในช่วงเวลา ขณะกำลังมีความสุขในการดูโทรทัศน์
รพีพร นับเป็นนักเขียนที่แผ้วทางถางทางแห่งการวรรณกรรมไทย เป็นต้นแบบของนักเขียนรุ่นหลัง นับเป็นการสูญเสียอีกครั้งของวงการวรรรณกรรมไทย


สุวัฒน์ วรดิลก เกิดเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2466 เป็นบุตรของ ขุนวรกิจอักษร กับ นางจำรัส (ชีวกานนท์) ได้รับการศึกษาชั้นต้นจากโรงเรียนหลายแห่งในต่างจังหวัด ชั้นมัธยมศึกษา ปีที่ 1-3 ที่โรงเรียนวัดโสมนัสวิหาร ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 ที่โรงเรียนเบญจมบพิตร เตรียมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และการเมือง และวิชากฎหมาย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ฯ
ระหว่างศึกษาที่ธรรมศาสตร์ ได้เข้าทำงานที่กรมราชทัณฑ์ เสมียนการเงินกองทัพเรือ ก่อนจะเข้าสู่วงการหนังสือพิมพ์ โดยเป็นนักข่าวของหนังสือพิมพ์เอกราช ก่อนจะเขียนเรื่องสั้นประจำฉบับ ต่อมาได้เขียนจินตนิยาย เรื่อง เปลวสุริยา และ ราชินีบอด ลงพิมพ์ในปิยะมิตร รายสัปดาห์ ทั้งสองเรื่องได้รับความนิยมอย่างกว้างขวาง ต่อมาเมื่อ สุวัฒน์ เข้าไปเขียนบทละครให้ คณะศิวารมณ์ ได้นำจินตนิยายทั้งสองเรื่องไปทำเป็นละครเวที ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างสูง

ในปี พ.ศ. 2500 สุวัฒน์ได้นำคณะศิลปินไทย เดินทางไปแสดงที่ประเทศจีน รัฐบาลไทยขณะนั้นมีนโยบายต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ ประจวบกับเดินทางกลับมาในช่วงที่ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ทำการปฏิวัติล้มอำนาจ จอมพล ป. พิบูลสงคราม ส่งผลให้ถูกจับกุมคุมขังเป็นเวลา 4 ปี ระหว่างที่อยู่ในเรือนจำได้เขียนนิยาย บทละครโทรทัศน์ บทละครวิทยุ อย่างต่อเนื่อง เมื่อพ้นโทษก็ยังคงทำงานด้านการเขียนตลอดมา

นามปากกาที่ใช้มี รพีพร, ไพร, วิษณุ, ศิวะ, รณชิต, สันติ, ชูธรรม ฯลฯ ผลงานที่ได้รับรางวัลจากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ ได้แก่ นวนิยาย เรื่อง ขอจำจนวันตาย, นกขมิ้นบินถึงหิมาลัย และรวมเรื่องสั้น เหนือจอมพลยังมีจอมคน
สุวัฒน์ ได้รับปริญญาศิลปศาสตร์ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และได้รับการประกาศเกียรติคุณเป็นศิลปินแห่งชาติ (สาขาวรรณศิลป์) ในปี 2534
เป็นผู้มีส่วนสำคัญในการก่อตั้งชมรมนักเขียน 5 พฤษภาคม และสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย และเคยดำรงตำแหน่ง นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย
สมรสกับ เพ็ญศรี (พุ่มชูศรี) ไม่มีบุตรธิดาด้วยกัน

ข้อมูลประวัตินักเขียน จาก www.praphansarn.com