อาจไม่ใช่เรื่องยากหากใครสักคนจะสร้างสรรค์วรรณกรรมออกมาสักชิ้นหนึ่ง แต่คงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะยืนอยู่บนเส้นทางนี้ไปตลอด หากไม่สามารถสร้างมาตรฐานผลงานให้สม่ำเสมอได้ก็แทบไม่มีความหมายอะไร และถ้านักเขียนเปรียบเสมือนนักวิ่งมาราธอน คุณชมัยภร แสงกระจ่าง ก็คงเป็นนักวิ่งระยะยาวผู้อดทนพิสูจน์ให้เห็นด้วยผลงานผ่านกาลเวลาต่อเนื่องหลายสิบปี

มีทั้งเรื่องสั้น นวนิยายบทวิจารณ์บทกวี สารคดี ฯลฯ ซึ่งเป็นที่มาของนามปากกาอันหลากหลาย อาทิ ชมจันทร์, นศินีวิทูธีรศานต์, ไพลิน รุ้งรัตน์, บัวแพน, นันทพิสัย แสนดาว,ชมัยภร แสงกระจ่าง และนี่เองคืออีกหนึ่งเหตุผลว่าทำไม รางวัลศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พ.ศ.2557 สมควรเป็นของท่าน

คุณชมัยภรเกิดที่ตำบลท่าช้าง อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี โดยมีคุณแม่เป็นครูประชาบาล ส่วนคุณพ่อเคยเป็นครูประชาบาลเหมือนกัน แต่ภายหลังตัดสินใจลาออกมาเพื่อทำสวน เมื่อเทียบกับชาวบ้านในสมัยนั้นท่านทั้งสองท่านจึงถือว่ามีการศึกษาในหมู่บ้านพอสมควร

“คุณพ่อกับคุณแม่เป็นคนชอบอ่านหนังสือ ที่บ้านจึงมีหนังสืออยู่เยอะ เช่นนิยาย สารคดีบทความ บทกวี พอดิฉันอายุ 11-12 ปี ก็เริ่มอ่านหนังสือในบ้านทั้งหมด มันเหมือนกับว่าตัวหนังสือที่อ่านนั้นฝังอยู่ข้างในตัวตลอด เหตุการณ์ที่ทำให้ดิฉันชอบเรื่องของอักษร และบทกวี บางส่วนได้รับอิทธิพลมาจากคุณพ่อแต่ท่านอาจไม่รู้ตัว โดยปกติท่านชอบทำสวนพอตกเย็นมาก็ดื่มเหล้า หลังจากดื่มเหล้าเมื่อเห็นลูกสาว 3 คน ท่านก็นึกครึ้มท่องบทกลอนของสุนทรภู่ให้ลูกฟัง ‘ผู้ใดเกิดเป็นสตรีอันมีศักดิ์ บำรุงกายไว้ให้เป็นผล สงวนงามตามระบอบให้ชอบกล  จึงจะพ้นภัยพาลการนินทา เป็นสาวแซ่แร่รวยสวยสะอาด ก็หมายมาดเหมือนมณีอันมีค่า แม้แตกร้าวรานร่อยถอยราคา จะพลอยพาหอมหายจากกายนาง’ เท่าที่จำได้ยังมีอีกบทนึงที่ชอบมากคือ ‘ครืนครืนใช่ฟ้าร้อง เรียมครวญ หึ่งหึ่งใช่ลมหวน พี่ไห้ ฝนตกใช่ฝนนวล พี่ทอดใจนา ร้อนใช่ร้อนไฟไหม้ พี่ร้อนรนกาม’  พอฟังจบก็ชอบมากแล้วประหลาดใจว่าคุณพ่อมีอะไรแบบนี้ด้วยเหรอ

“ปกติที่บ้านจะรับหนังสือสัปดาห์วิจารณ์เป็นหนังสือประจำบ้าน เราก็ได้อ่านหนังสือพวกนี้เยอะ เวลาไปโรงเรียนก็ไปตะลุยอ่านหนังสือในห้องสมุดจนไม่เหลือ เรียกว่าเป็นนักอ่านตัวยงตั้งแต่สมัยนั้นเลยค่ะ นักเขียนในยุคนั้น ที่ถือว่าอยู่ในดวงใจเลยคือ คุณสุนทร บุนนาค ท่านใช้ภาษาไพเราะมาก มีนิยายอยู่เรื่องหนึ่งที่ท่านเขียน ตัวละครเป็นนางเอกบอบบาง แล้วมีคุณยายเข้ามาเกี่ยวข้อง ก็คิดไปเองว่าเหมือนตัวดิฉันทุกประการเลย ขาดไปเพียงข้อเดียวคือ นางเอกต้องไปเรียนคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อเป็นแบบนี้เลยถามคุณพ่อว่า อยากไปเรียนจุฬาฯ ท่านก็ขำออกมาแล้วบอกว่า ไปเรียนตัดเสื้อผ้าดีกว่าไหม ตรงนี้เองที่เป็นแรงผลักดันให้อยากเข้าเรียนที่นั่นเพื่อจะได้เหมือนกับตัวละคร

“เมื่อเรียนอยู่ชั้น มศ. 3 มีหนังสือชัยพฤกษ์ที่คุณพ่อรับประจำอยู่แล้ว ด้วยความที่อ่านเยอะแล้วอยากเขียนมากดิฉันก็ลองเขียนเรื่องส่งไป เป็นเรื่องราวง่ายๆ เกี่ยวกับเพื่อนที่อยู่ในโรงเรียน ปรากฏว่าได้รับการตีพิมพ์ก็ดีใจมาก เพราะว่าเป็นเรื่องสั้นเรื่องแรกของตัวเอง หลังจากนั้นพอคิดอะไรได้ก็เขียนเก็บเอาไว้ตลอดเลย 

“ดิฉันเริ่มเข้าใกล้สิ่งที่ฝันไว้คือการเดินตามชีวิตของตัวละคร เริ่มจากสอบเข้าได้ที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา เวลานั้นก็อ่านหนังสือในโรงเรียนอย่างสนุกสนาน เพราะเป็นห้องสมุดใหญ่มาก พออ่านหนังสือเยอะๆ มันก็เกิดความหลากหลายทั้งในเรื่องของวิชาการ และวรรณกรรม ด้วยความมุ่งมั่นดิฉันก็สอบเข้าได้ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เหมือนที่ตั้งใจเอาไว้ได้สำเร็จ อยู่ที่นั่นก็เริ่มเขียนกลอนทุกวัน อย่างน้อยวันละหนึ่งบท อยากบอกว่ากลอนมันคือพื้นฐานที่ดีมากของการเขียนหนังสือ เพราะว่ามันต้องอยู่ในสัมผัส เราต้องเลือกคำที่อยู่ในหัวของเราออกมาใช้ ถ้าเราอ่านน้อย คำที่มีให้เลือกใช้มันก็น้อย เพราะฉะนั้นจึงต้องหมั่นฝึกซ้อมเรื่องเหล่านี้เป็นประจำ 

“แต่ช่วงที่เรียนอยู่ตรงนั้นมันไม่ได้สวยหรูทั้งหมด เพราะมีการเรียนที่หนักมากถึงวันละ 8 ชั่วโมง คือเรียนตั้งแต่ 8 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็น ความใฝ่ฝันว่าเราจะเป็นนิสิตมหาวิทยาลัยที่มีเวลาว่างก็จบลง แล้วอาจารย์จะให้เรียนแต่ตำราโบราณ ดิฉันก็คิดว่าทำไมให้ของแบบนี้ แล้วต้องอ่านหนังสือเยอะมากจนทำให้มีความรู้สึกว่าไม่น่าอ่านสักนิด” 

เมื่อก้าวเข้าสู่โลกของการทำงานจริง คุณชมัยภร ก็ต้องขอบคุณอาจารย์ที่ถ่ายทอดวิชามาให้เพราะถูกบ่มเพาะพื้นฐานด้านอักษรศาสตร์อย่างหนักหน่วง เมื่อเริ่มทำงานจริงจังจึงเป็นเรื่องไม่ยากเย็นนักที่จะสร้างผลงานคุณภาพ โดยมีผลงานทยอยออกมาสู่สาธารณะชน เช่น เขียนงานวิจารณ์รวมเรื่องสั้นและบทร้อยกรองชุด ความเงียบ ของสุชาติ  สวัสดิ์ศรี  เขียนวิจารณ์ในนิตยสารประชาชาติ เขียนงานเรื่องสั้น และบทกวี ฯลฯ ซึ่งเริ่มเป็นยอมรับในสมัยนั้นแล้ว ไม่นานนักคุณชมัยภรก็มีโอกาสเข้ารับราชการ ที่กองกลางสำนักเลขาฯ คณะรัฐมนตรี  สำนักนายกก็รัฐมนตรี ระหว่างที่ทำงานด้วยความปกติสุข ก็เหมือนโชคไม่เข้าข้างที่เธอต้องโดนคดีที่เกี่ยวกับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ซึ่งตัวเองไม่ได้ก่อขึ้น แต่ก็ต้องติดร่างแหไปด้วยเป็นเหตุให้ต้องออกจากราชการ เป็นมรสุมชีวิตทำให้เป็นที่ทุกข์ใจอยู่นานหลายปี

“ตอนนั้นดิฉันเป็นข้าราชการระดับ 7 แล้ว พอเรารู้ว่าเกิดเรื่องขึ้นมันเหมือนการขับรถบนทางเรียบ อยู่ดีๆรถก็พลิกคว่ำตกเหว ถ้าคดีนี้ยาวนาน 26 ปี ดิฉันอยู่ในคดีถึง 23 ปีลองคิดดูว่ามันยาวนานขนาดไหน แต่เมื่อเจอเรื่องร้ายๆถ้าเรามัวแต่คิดลบตลอดเวลาชีวิตเราจะอยู่ไม่ได้ เพื่อนคนหนึ่งจึงพาดิฉันไปฟังธรรมมะกับคุณหมออมรา มลิลา แล้วท่านพูดว่า จงจำไว้นะว่า “อะไรก็ตามที่เกิดขึ้นกับเรานั้นดีเสมอ” ดิฉันก็ย้อนถามท่านว่าถูกจับดำเนินคดีนี่นะคะ คุณหมอก็บอกว่าใช่ คำนี้มันก็ติดหูมาตลอดเลย 20 กว่าปี

“ถ้าดิฉันไม่เอาตัวเองออกจากตรงนั้น สิ่งดีๆ ในชีวิตมันจะหายไปเลย ก็ลองเอาคำจากที่คุณหมอพูดมามองดูเหตุการณ์ในแต่ละวันว่ามันเกิดอะไรที่ดีบ้าง เช่น เหตุการณ์ยื่นใบเสียภาษี ซึ่งไม่มีการเรียกให้ไปจ่าย พอนานวันเข้าก็เลยต้องเดินไปพบเอง เมื่อถามเจ้าหน้าที่ว่าทำไมไม่มีใบเสียภาษีมาที่บ้าน เขาตอบว่าทำไมไม่มาดูเอง ซึ่งถ้าเป็นเมื่อก่อนจะโกรธมาก ดิฉันก็คิดหามุมดีๆ ว่าไม่เป็นไร เดี๋ยวดิฉันจะได้มีตัวละครแบบนี้สักตัวหนึ่ง พอคิดได้อย่างนั้นก็อารมณ์ดีขึ้นทันที ในระหว่างที่ต้องคดีก็เหมือนเป็นคนไม่ดีในสายตาคนอื่น มีอยู่ช่วงหนึ่งดิฉันไม่อยากออกงานสังคมเลย สามีก็บอกว่าไปเถอะไม่เห็นเป็นไรเลย ดิฉันบอกว่าเดี๋ยวคนเขาจะนินทาอย่างนั้นอย่างนี้ สามีตอบกลับว่าแล้วเราเป็นหรือเปล่าล่ะ ใช่แล้ว! เรารู้อยู่แก่ใจว่าไม่ได้เป็นแบบที่คนอื่นคิด อยากทำอะไรเราก็ทำไปเลยส่วนคนอื่นก็ไม่ต้องใส่ใจ”

เหมือนพลิกวิกฤตเป็นโอกาส คุณชมัยภรได้ถ่ายทอดความรู้สึกทุกข์ทนแต่มองโลกในแง่ดี นำมาจัดร้อยเรียงเรื่องราวเป็นตัวหนังสือแทน โดยหนังสือเล่มที่ท่านชื่นชอบเป็นพิเศษคือเรื่อง ขวัญสงฆ์ เป็นงานวรรณกรรมที่เขียนเป็นกลอนนิยาย ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจมาจากการไปฝึกสมาธิที่สวนโมก 

“เรื่องของขวัญสงฆ์เป็นเด็กกำพร้า ที่ถูกนำไปวางไว้ที่หน้าวัด โดยมีพระท่านเก็บไปเลี้ยงแล้วตั้งชื่อว่าขวัญสงฆ์ ระหว่างที่ขวัญสงฆ์เริ่มโต พระท่านจะสอนเรื่องธรรมะให้กับเด็กคนนี้ตลอด ตอนเขียนเรื่องนี้ดิฉันมีความสุขมาก เพราะมันเป็นส่วนผสมระหว่างความทุกข์ และธรรมะที่ทำให้เข้าใจชีวิตมากขึ้น

“ถ้าคุณมีความทุกข์คุณอ่านขวัญสงฆ์แล้วจะสนุก แต่ถ้าคุณทุกข์จริงๆ แล้วอยากได้คำตอบคุณต้องอ่าน “หยาดน้ำค้างพันปี” ซึ่งเป็นนวนิยายเกี่ยวกับคดีความ เป็นจินตนาการที่ดิฉันเอาอารมณ์ของเราใส่เข้าไป ตัวละครต้องถูกขึ้นศาล หมกมุ่นอยู่กับตัวเองโดยมีการปักคอสติสสีดำ เป็น 10 ปี คือเราเขียนเป็นเชิงสัญลักษณ์ จึงเหมือนเป็นคู่มือการก้าวออกจากความทุกข์ที่น่าสนใจ

“บางคนอาจคิดว่ามีแต่นิยายแนวชีวิตเหรอ แนวหวานโรแมติกก็มีค่ะ เช่น เรื่องจดหมายถึงดวงดาว ซึ่งถูกนำไปทำเป็นละครโทรทัศน์ สาเหตุที่มีนวนิยายรักโรแมนติกได้เพราะเขียนตอนอายุยังน้อย เรื่องนี้ตัวละคร 3 ตัวเป็นผู้หญิง พ่อแม่เสียชีวิตอยู่ได้เพราะเพื่อนบ้านซึ่งเป็นเพื่อนของพ่อมาชวยเลี้ยง คือสถาบันครอบครัวอาจไม่ได้อยู่แค่ญาติเราเท่านั้นยังมีคนอื่นที่มีน้ำใจด้วย

“พอเขียนนิยายแนวนี้ออกไปก็มีคนบอกว่าดิฉันเป็นนักเขียนโลกสวย แต่มันเป็นสิ่งที่เรารู้สึกว่าถ้าเราบ่มสิ่งที่ไม่ดีให้คนอ่านมันจะเป็นไฟร้อนที่ติดตัวเขาไป แล้วการเป็นนักเขียนต้องรับผิดชอบสังคมส่วนหนึ่งด้วย วรรณกรรมจึงเป็นศิลปะแขนงหนึ่งทำหน้าที่แก้ปัญหาในการดูแลจิตใจมนุษย์ มันสามารถเยียวยาบอบช้ำของใจมนุษย์ให้เข้าถึงตัวเองและผู้อื่นมากขึ้น สิ่งที่ดิฉันทำต่อไปคือเชื่อมั่นมากว่างานของเราไม่เป็นพิษเป็นภัยต่อทุกคน 

“ดิฉันจึงเป็นห่วงสังคมปัจจุบัน เพราะคนรุ่นใหม่เกิดขึ้นมาจากสังคมที่บางครั้งฉาบฉวย เขารู้สึกว่าความไม่ดีผ่านเข้าไปเร็ว จนไม่มีเวลามาหาสาเหตุว่าเกิดจากอะไร ลองดูการทะเลาะกันในข่าวมีการฆ่ากันตาย บางสาเหตุมันง่ายมากที่เกิดเรื่องแบบนี้ เพราะขาดความยั้งคิดไม่ได้คิดถึงอนาคต”

นอกจากการทำงานที่ต้องคำนึงต่อสังคมส่วนรวมแล้ว เคล็ดลับการทำงานอย่างหนึ่งของคุณชมัยภรคือเรื่องวินัย เห็นได้จากการเขียนงานที่ยาวนานต่อเนื่องกว่า 20 ปี จากนิตยสารสกุลไทยและขวัญเรือน ซึ่งถือได้ว่าน้อยคนนักในประเทศไทยที่ทำได้แบบนี้

“เคล็ดลับจริงๆ ถ้าคือคุณหยุดเขียนคุณจะไม่มีรายได้(หัวเราะ) คือสกุลไทยเป็นหนังสือรายสัปดาห์ ถ้าคุณได้ลงมือเขียนไปแล้วคุณหยุดไม่ได้หรอก ดิฉันเขียนไปครั้งแรกก็ทำรวดเดียวเลย 19 ตอน เมื่อเขียนครั้งที่ 2 ก็ทำต่อเนื่องอีก 20 ตอน รวมเป็น 39 ตอน คราวนี้ก็ว่างเลย เพราะนิตยสารเขาจะทยอยลง แต่พอผ่านไปหลายปีมีบางครั้งที่ไม่สามารถเป็นแบบเดิมได้แล้ว มันกลายเป็นครั้งละ 4 – 5 ตอน พอนานเข้ามันก็กลายเป็นครั้งละ 2 ตอน ซึ่งต้องคอยหา
แง่มุมใหม่ๆ เพื่อไม่ให้งานเขียนหยุดอยู่ที่เดิม

“เหมือนเป็นความโชคดีที่ไอเดียของดิฉันไม่เคยตัน มีเพียงบางครั้งที่ไม่ได้ดั่งใจ เราก็ต้องมาเปลี่ยนกันใหม่ เพราะนักเขียนจะเป็นนักวิจารณ์อยู่ในตัวทุกคน เวลาที่เราคิดว่ามันไม่ดีก็ต้องพยายามทำใหม่ให้ได้ แต่ถ้าเขียนนวนิยายไม่ออกรู้สึกไม่โอเคกับงานที่ทำก็ใหัไปเขียนบทกวีก่อน แล้วไม่นานก็จะกลับมาเขียนได้เอง

“งานเขียนหรือเรื่องแต่งเป็นงานที่ทำได้ตลอดเวลา ไม่จำเป็นต้องทำเฉพาะหน้าคอมพิวเตอร์เท่านั้น คุณแค่เดินออกไปนอกบ้านก็มีนวนิยายในหัวได้ มันคือการทำตลอดเวลาทุกนาที พอสั่งสะสมเอาไว้มากๆ เมื่อมาถึงหน้าคอมพิวเตอร์ก็เขียนได้เลย หากนักเขียนบอกว่าไม่มีอารมณ์แสดงว่ายังบ่มไม่พอ บางคนอาจบอกว่ายังไม่ตกตะกอนจึงเขียนไม่ได้ แต่ถ้าตกตะกอนแล้วมีความอยากทำยังไงก็ทำได้

“แม้ว่ากาลเวลาจะผ่านไปมีเทคโนโลยีใหม่ๆ แทรกเข้ามา แต่เราก็ต้องตามโลกให้ทันปรับตัวให้เข้ากับสังคมให้ได้ ปัจจุบันดิฉันเริ่มเขียนงานใหม่ให้กับสกุลไทย เรื่องคุณย่าติดไลน์คุณยายติดเฟส มันมาจากตอนนี้มีไลน์เพื่อนๆ และกลุ่มต่างๆ เยอะ แล้วแต่ละคนก็มีเรื่องราวแปลกๆ ที่น่าสนใจ

“ซึ่งถือว่าเป็นข้อดีเวลาเขียนเป็นนิยายเด็กจะเข้าใจคนแก่มากขึ้น และคนแก่ก็เข้าใจเด็กมากขึ้น เหมือนที่ดิฉันลองหันมาเล่นเกมยังเข้าใจลูกเลยว่าเด็กติดเกมเขาคิดอย่างไร ลูกก็เข้าใจคนแก่อย่างเรามาคอยสอนให้เล่นแบบนั้นแบบนี้ มันเกิดกระบวนการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ดิฉันอยากบอกคนรุ่นใหม่ที่อยากเป็นนักเขียนด้วยว่า ต้องอ่านหนังสือให้เยอะ มันไม่มีทางที่จะเขียนได้โดยไม่ต้องอ่าน การอ่านมันเป็นการเรียนรู้ทั้งความชีวิตที่คนอื่นเขาถ่ายทอดมาแล้ว โดยมีกลวิธีในการเขียนซ่อนอยู่ ถ้าเราอ่านมาเรายิ่งมีกลวิธีมาก 

“ในขณะเดียวกันงานการเขียนคืองานศิลปะที่ออกมาจากใจคุณต้องหัดสังเกตใจตัวเองสังเกตภาวะอารมณ์ตัวเองให้ได้ ความจริงมันทำนองเดียวกับการปฏิบัติธรรมว่าจิตกำลังทำอะไร ถ้าคุณสามารถบรรยายได้คุณเข้าจะเข้าใจมนุษย์ถึงระดับคุณจะสุดยอดเลย” 

เกี่ยวกับชีวิตและผลงาน

ชมัยภร แสงกระจ่าง เป็นชื่อสกุลจริง ภายหลังได้เปลี่ยนสกุลเป็น บางคมบาง ตามสามีอีกครั้งในขณะที่เรียนคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ท่านเคยดำรงตำแหน่งประธานชมรมวรรณศิลป์ ท่านคือหนึ่งในผู้ร่วมจัดตั้งกลุ่มวรรณกรรมพินิจขึ้น เป็นการรวมตัวของชาววรรณศิลป์ จุฬาฯ นามปากกาไพลิน รุ้งรัตน์ ใช้เขียนบทวิจารณ์ประมาณ 17 ปี มีผลงานมากกว่า 500 ชิ้น

ผลงานหนังสือ วรรณพินิจ : กฤษณา อโศกสิน เป็นการรวมบทวิจารณ์ผลงานของกฤษณา อโศกสิน รวมเล่มเมื่อปี พ.ศ.2532 ภายหลังได้รับรางวัลชมเชยประเภทสารคดี จากการประกวดหนังสือประจำปี ของคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ 

หนังสือ บ้านหนังสือในหัวใจ ได้รับรางวัลชมเชย ประเภทสารคดีสำหรับเยาวชน ประจำปี พ.ศ.2533 

อ่านหนังสือเล่มนี้เถอะ…ที่รัก นวนิยายว่าด้วยเรื่องของนักอ่าน ได้รับรางวัลชมเชย ประเภทบันเทิงคดีสำหรับเยาวชนเมื่อ พ.ศ.2539

มิเหมือนแม้นอันใดเลย (บทกวี) ได้รางวัลชมเชย ประเภทบทกวี จากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ

เด็กหญิงแห่งกลางคืน (นวนิยายเยาวชน) ได้รางวัลชมเชย ประเภทบันเทิงคดีสำหรับเด็กอายุ 14 – 18 ปี จากคณะกรรมการพัฒนาหนังสือแห่งชาติ พ.ศ.2548

นวนิยาย บ้านไร่เรือนตะวัน , หน้าต่างสีชมพู ประตูสีฟ้า กระท่อมแสงเงิน, รังนกบนปลายไม้ ฯลฯ ถูกนำมาสร้างเป็นละครโทรทัศน์