รองเท้าสลับข้าง – ผู้สูงวัยอ่านเล่มไหนกันดี
(ไลฟ์ครั้งที่ 2 มิถุนาไฉไล ชมัยภร 5-6-7)

สืบเนื่องมาจาก อ.ชมัยภร ใส่รองเท้าสลับข้างมาจากบ้านลูกสาว ซึ่งก็คือกว่าชื่นนั่นล่ะค่ะ คุณชมัยภรเล่าว่า เหตุการณ์รองเท้าสลับข้างนี้ ไม่ได้เพิ่งเกิดเป็นครั้งแรกนะ

ย้อนไปสมัยหนึ่งที่อาจารย์ยังมีคดีความต้องไปศาล วันหนึ่งสามีขับรถไปส่งที่ศาล จนอยู่ในห้องพิจารณาจึงได้เห็นรองเท้าตัวเองว่า ข้างหนึ่งสีน้ำตาล อีกข้างสีดำ พอรู้แล้วก็รู้สึกอายจนไม่รู้ว่าจะเอาเท้าตัวเองซ่อนไว้ตรงไหนดี กระทั่งออกจากที่ศาล ระหว่างเดินข้ามสะพานลอยก็คิดพิจารณาว่าหน้าที่ของรองเท้าคืออะไร รองรับเท้า สำหรับการเดินให้สบาย ดังนั้นก็พอจะทำใจไปต่อได้ จนกระทั่งถึงที่สำนักโทรทัศน์วิทยุรามคำแหงก็ถอดรองเท้าเข้าไปจัดรายการวิทยุต่อได้โดยโล่งใจ

เป็นประเด็นต่อเนื่องว่า เมื่อถึงวัยที่เรียกว่า “สูงวัย” หรือ ชรา” หรือ “แก่” อาจารย์ชมัยภรบอกว่า “ไม่มีอะไรดี” แต่ที่จริงแล้วคำว่าไม่มีอะไรดีนั้น แค่หมายถึงความเสื่อมของร่างกาย ความสูงวัยนั้นมีมุมอะไรมากมายที่คุณชมัยภรนำมาสร้างสรรค์เป็นวรรณกรรมดีๆ มากมาย

สำหรับงานเขียนเล่มที่ตัวละครสูงวัยเป็นแก่นของเรื่อง เช่น คุณปู่แว่นตาโต คุณปู่แว่นตาแตก คุณยายหวานซ่าสสส์ อาม่าบนคอนโด คุณย่าติดไลน์คุณยายติดเฟซ หลวงตาจิ๋วกับเจ้าป๋อง ขวัญสงฆ์ ซึ่งกลุ่มนี้เป็นวรรณกรรมเยาวชน แต่ก็มีอีกส่วนที่เป็นนวนิยายที่มีผู้สูงวัยเป็นตัวละครสำคัญในการดำเนินเรื่อง

“ถ้าผู้สูงวัยไปอยู่ในวรรณกรรมเยาวชนเราก็จะปรับให้ผู้สูงวัยมีความเบิกบานขึ้น ถ้าในนวนิยายที่มีผู้สูงวัยเนี่ยก็มักจะมีความซับซ้อนภายในจิตของคนแก่”

ตัวอย่างเช่น คุณยายหวานซ่าส์ส์ส์ ซึ่งมีที่มาจากคุณแม่ของคุณชมัยภร มาจากช่วงที่เห็นคุณแม่ที่ต้องเลี้ยงลูกของพี่สาว (พี่สาวต้องย้ายไปทำงานอีกจังหวัด) หลานที่อายุ 15 ก็เลยต้องอยู่กับยาย คุณชมัยภรก็เลยสังเกตเห็นแม่ของตัวเองที่มีความห่วงใยต่อหลาน แม้ว่าจะบ่นๆ ถึงเรื่องต่างๆ แต่ก็ด้วยใจที่มีความรักและเป็นห่วง

“โครงสร้างเรื่องเป็นเรื่องจริงหมด แต่รายละเอียดนั่นล่ะที่สร้างขึ้น อารมณ์ของคุณยายข้างในจริงๆ ก็เป็นอารมณ์ของผู้เขียน เช่น สร้างให้ตัวละครยายต้องนุ่งผ้าไทยไปพูดที่โรงเรียน แต่ความสัมพันธ์ของวัยรุ่นกับยายก็ครบถ้วน แล้วก็ชี้ให้เห็นว่าเป็นเรื่องปกติที่คนแก่กับเด็กจะคิดไม่เหมือนกัน และการคิดไม่เหมือนกัน และทำอย่างไรที่จะทำให้คลี่คลายไปสู่การอยู่ร่วมกันได้แม้จะคิดต่างกัน”

อีกเรื่องคือ คุณย่าติดไลน์คุณยายติดเฟซ ซึ่งถ้ามองเรื่องยุคสมัยก็เป็นเรื่องคนละยุคกับ คุณยายหวานซ่าส์ส์ส์ จากยุคบ้านสวน มาสู่ยุคที่มีอุปกรณ์การสื่อสารทันสมัย

“เป็นยุคของการเรียนรู้เรื่องเครื่องมือ ตอนที่เขียนเรื่องนี้ก็ยังไม่ได้คิดว่าไลน์กับเฟซบุ๊กมันจะขึ้นมาขนาดนี้ นี่ถ้าเขียนใหม่อีกเล่มคนแก่น่าจะเก่งไลน์มากกว่านี้”

ทำไมถึงเป็นคุณย่าติดไลน์คุณยายติดเฟซ

“ตอนนั้นคุณย่าติดไลน์คุณยายติดเฟซกำลังเป็นปัญหา พอติดแล้วก็เป็นปัญหา เช่น ติดหนึบไม่สนใจลูกหลานกันเลยทีเดียว”

ในเรื่องนี้ตัวละครเล่น แคนดี้ครัช ซึ่งมาจากตัวอาจารย์ชมัยภรเองก็เล่นแคนดี้ครัช

“ติดจริงๆ ติดแคนดี้ครัชอยู่ 4 ปี แล้วก็ได้เอามาเขียนเรื่อง”

นวนิยายอีกเรื่องที่มีแคนดี้ครัช ซึ่งก็เป็นเรื่องของผู้สูงวัยเช่นกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่เขียนก่อน คือ ในเวิ้งฟ้าอันไพศาล จากนั้นจึงเขียนเรื่อง คุณย่าติดไลน์คุณยายติดเฟซ

“ในเรื่อง ในเวิ้งฟ้าอันไพศาล พอตัวละครที่สามีตาย จะให้ตัวละครที่อยู่ในภาวะที่ไม่มีคนข้างๆ โดยฉับพลัน คนที่สูญเสีย ตัวจันทรที่เป็นตัวเอกของเรื่องต้องมีภาวะทางอารมณ์ที่เราสัมผัสได้ ตัวละครเช่นเดียวกับคุณยาย ใน คุณยายหวานซ่าส์ส์ส์ ซึ่งอยู่ในช่วงที่มีปัญหาเช่นเดียวกัน เราก็ใช้ข้อมูลนี้มาใส่ในตัวละคร ซึ่งตัวละครทั้งสองนี้ที่มีแคนดี้ครัชเข้าไปอยู่ในเรื่องเหมือนกัน เมื่ออยู่ในงานเขียนคนละแบบเราจะต้องเลือก ถ้าเป็นวรรณกรรมเยาวชนก็จะอ่อนโยนกว่า เพราะต้องไปปฏิสัมพันธ์กับเด็ก เพราะฉะนั้นคุณย่าติดไลน์คุณยายติดเฟซก็จะเฮฮามากกว่าในเวิ้งฟ้าอันไพศาล

ไปถึงเรื่องในเวิ้งฟ้าอันไพศาล นั้น ตัวละครจันทร ที่เพิ่งสูญเสียสามีนั้นจะมีความซับซ้อนและร้ายกาจมากในตอนเริ่มต้น ซึ่งบรรณาธิการบอกว่าเป็นเรื่องที่น่าสร้างเป็นละครไทยมากๆ เพราะมีหลายมิติ ตัวละครที่ดูร้ายเพราะเหตุสูญเสียในชีวิต ความหวงลูกชาย และปมปัญหาในใจ ผู้เขียนนำพาผู้อ่านไปสู่จุดที่คลี่คลายและสร้างความเห็นใจให้ตัวละครได้อย่างไม่น่าเชื่อ

“ตอนที่เขียนลงสกุลไทย มีแฟนคลับโกรธจันทร พอตอนท้ายๆ ตอนจันทรลำบากมากๆ แฟนคนเดิมก็มาดุคนเขียน ว่า เอ๊ะ ชักสงสารจันทรแล้วนะ!”

นี่เป็นความชำนาญของการสร้างตัวละครของคุณชมัยภร ที่สร้าง “ความเยอะ” ให้ตัวละคร โดยมีเหตุผลจากความสูญเสียซึ่งนำไปสู่พฤติกรรมมากมาย คุณชมัยภรเล่าว่า มีฉากหนึ่งของจันทร ที่เขียนขึ้นมาจากประสบการณ์ที่ได้คุยกับผู้สูงวัยคนหนึ่งที่พบบนรถทัวร์ขณะเดินทางกลับจากจันทบุรี

“ผู้หญิงคนนี้นั่งรถจากกรุงเทพฯ ตั้งแต่เช้ามืด มาถึงจันทบุรีลงเดินที่สถานีแล้วก็นั่งรถกลับเลย ผู้หญิงคนนั้นเล่าให้ฟังว่าเพราะว่าเบื่อสามี คือไปไหนก็ได้ให้ชีวิตมันเคลื่อนที่ไป เป็นข้าราชการหรือทำงานธนาคารนี่ล่ะ แล้วพอเกษียณก็ต้องอยู่บ้านกับสามีที่เกษียณเหมือนกัน แล้วอยู่กันไม่ได้ ก็เลยเลือกวิธีนี้ เพราะจะทิ้งไปนอนค้างที่ไหนไม่ได้ ก็นั่งรถวันเดียวแล้วกลับบ้าน แต่เขาก็ดูมีความสุขดี เราเอาตัวอย่างชีวิตที่เจอมาใส่ให้จันทร”

นอกจากนี้ก็เอาปมของคุณแม่ (แม่ของคุณชมัยภร ผู้เป็นต้นแบบคุณยายในคุณยายหวานซ่าส์ส์ส์) มาใส่ให้คุณจันทรด้วย ก็คือปมที่เคยแท้งลูก และยังคงเป็นปมในใจจนกระทั่งถึงวัยชรา

ในเวิ้งฟ้าอันไพศาล เป็นนวนิยายที่คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ ชอบมากและนำไปกล่าวถึงในเพจของคุณหญิงด้วย ซึ่งที่จริงคุณหญิงถือเป็นบุคคลสำคัญที่ทำให้เกิดนวนิยายเรื่องขึ้นมาเลยทีเดียว ที่มาแรกเริ่มมาจากการที่คุณแม่ของคุณชมัยภรเสีย (คุณยายในเรื่องคุณยายหวานซ่าส์ส์ส์นั่นเอง) เมื่อมีโอกาสพบหน้าคุณหญิงจำนงศรีคุณชมัยภรก็พูดถึงความรู้สึกในใจที่ไม่ได้อยู่กับคุณแม่ในวาระสุดท้ายของชีวิตว่า “รู้สึกผิด” คุณหญิงเอ่ยขึ้นว่า “คนที่สูญเสียมันพูดแบบนี้ทุกคน!” แล้วอีกไม่นานคุณหญิงจึงชวนให้คุณชมัยภรไปฝึกปฏิบัติธรรมเรื่องการเรียนรู้เรื่องความตายของท่านไพศาล วิสาโล ทำให้คุณชมัยภรได้เรียนรู้เรื่องเกี่ยวกับความตายอย่างลึกซึ้งมากขึ้น

“มันดีมากเลยค่ะ เราได้ชำระล้าง ถ้าเราสูญเสียจะเป็นอย่างไร ในหนังสือเขียนไว้ละเอียดเลยค่ะตามที่อบรม แต่เราเอามาสวมไว้ในตัวจันทร”

และที่มาของการเขียนเป็นนวินิยายนั้นมาจากจดหมายฉบับหนึ่งฉบับนั้น

“ตอนอบรมพระอาจารย์ให้เขียนจดหมายน้อยถึงพระอาจารย์ ถึงการนำความรู้ที่ได้จากการอบรมนั้นจะนำไปทำอะไร เราก็เขียนว่า จะนำความรู้ที่ได้จากการอบรมนี้ไปเขียนเรื่องเผยแพร่เพื่อให้คนอื่นรู้ แต่ก็ไม่ได้บอกนะว่าจะเขียนนวนิยาย”

กลับจากการอบรมแล้วคุณชมัยภรก็เขียนรายงานพิเศษลงในนิตยสารสกุลไทยเรียบร้อยแล้ว แต่หลังจากนั้น (ราว 6 เดือน) ก็ได้รับจดหมายจากพระอาจารย์

“ในจดหมายคือกระดาษแผ่นนั้นที่เราเขียนใส่พานให้พระอาจารย์ แล้วพระอาจารย์ส่งคืนมาให้เราเป็นคำสัญญาที่เราให้ไว้กับพระ โอย ไม่น่าเชื่อเลยว่าคนเราจะเปิดจดหมายมาเจอลายมือตัวเอง แล้วก็ทำให้เริ่มเขียน ในเวิ้งฟ้าอันไพศาล

มาถึงเรื่องที่คนแก่แสนสนุก คือเรื่อง สายาห์สาละวน เป็นคนแก่แสนเจ้าเล่ห์ชื่อคุณยายแกลบ จอมวางแผน จับคู่ให้หลาน ปลอมตัว แสนสนุกจริงๆ เรื่องราวมีฉากที่จังหวัดจันทบุรี บ้านสวน และจะมีฉากเรือนจวนผู้ว่าจันทบุรี ซึ่งคุณชมัยภรบอกว่านี่เป็นซิกเนเจอร์ของจันทบุรี รวมทั้งเรื่องของสินค้าประจำจังหวัดจันทบุรี คือทุเรียนทอด

“ไปดูเขาทำทุเรียนทอดมาด้วย ไปดูเพื่อจะเอามาเขียนเลยนะ”

คุณชมัยภรบอกว่าอยากเขียนเรื่องคนแก่สนุก

“อยากให้คนแก่สนุกบ้าง เพราะรู้สึกว่าเราเขียนถึงความจริงจังมากแล้ว บางเรื่องก็ม้วนเข้าไปข้างในมากแล้ว เลยคิดว่าถ้าเราเขียนเรื่องที่ตัวละครมันเคลื่อนไหว ไปโน่นมานี่สนุกสนาน สอดคล้องกับภาวะทางอารมณ์ของคนอ่านที่อยากอ่านเรื่องสนุก แล้วตัวละครก็มีทั้งรุ่นยาย รุ่นหลาน และรุ่นเด็กๆ อยากให้เรื่องมีทุกรส สลับไปบ้าง”

ที่จริงโดยตัวเรื่อง สายาห์สาละวน นั้น มีความเหมือนกับเรื่อง จับต้นมาชนปลาย ซึ่งเป็นเรื่องของผู้สูงวัยอีกเรื่อง ซึ่งบรรณาธิการบอกว่า คล้ายจนจำตัวละครสลับกัน

“จริงๆ จับต้นมาชนปลายเนี่ยอยากจะเขียนเรื่องของการคลุมถุงชน เหมือนกับเรื่องสายาห์สาละวนที่เป็นเรื่องของการคลุมถุงชนเหมือนกัน แต่ปรากฏว่าคลุมถุงชนในเรื่องจับต้นมาชนปลายมันกลายตัว มันกลายตัวระหว่างเขียนเลย คือที่จริงวางพล็อตจับต้นมาชนปลายไว้ว่า ตัวละครผู้ที่เป็นพ่อแม่เนี่ยจะจับคู่ให้ลูกรักกัน แต่ก็ไม่สามารถทำได้ แต่ลูกมารักกันเอง เหมือนพล็อตในเรื่องเก่าๆ เช่น ศัตรูของเจ้าหล่อน ที่นี้ด้วยความที่เป็นพล็อตแบบเก่า แล้วมันง่าย คนเขียนกลับเขียนไม่ได้ คือตอนที่ไปคลี่ปมของตัวละครปมที่อยู่ข้างใน คลี่ไปเรื่อยๆ ตัวละครค่อยๆ มีปมเรื่อยๆ ที่นี้ตัวละครที่เป็นพื้นๆ อย่างตัวละครที่เป็นมิตรเพชราในมหาวิทยาลัย ปรากฏว่ามันไม่สามารถทำให้ตรงไปตรงมาได้ แต่มันกลายเป็นความซับซ้อน เราสงสารตัวละครก็เลยสร้างภูมิหลังของมันขึ้นมาอีก กลายเป็นความซับซ้อนมาก คือเขียนไปคนเขียนก็ตกใจเหมือนกัน”

จับต้นมาชนปลาย ได้รับรางวัลถึง 2 รางวัล คือ รางวัลหนังสือดีเด่น ของสพฐ. กระทรวงศึกษาธิการ และรางวัลเซเว่นบุ๊กอวอร์ด

“ตอนได้รางวัลก็แปลกใจเหมือนกัน เพราะนึกว่าที่ตัวเองสร้างปมไว้เนี่ย มันเหมือนสร้างปมแบบไม่ตั้งใจแล้วมันเกิดขึ้นมาๆ เรื่อยๆ พอได้รางวัลก็เลยมาอ่านใหม่อีกทีว่าปมเหล่านั้นเราสร้างด้วยอะไร”

เทียบจับต้นมาชนปลาย กับสายาห์สาละวน คุณชมัยภร บอกว่า

เรื่องสายาห์สาละวน จะไม่มีประเด็นการเมืองอยู่เลย แต่ในจับต้นมาชนปลาย มันจะมีอยู่ เพราะชมัยภรจะมักใส่เรื่องสังคม การเมือง ไว้ในตัวละครที่สามารถใส่ได้เสมอๆ เลยเอามาแปะไว้ในจับต้นมาชนปลาย แต่ในสายาห์สาละวนนั้น ไม่ได้มี”

คุณชมัยภรบอกว่า ชื่อเรื่องจับต้นมาชนปลาย ชื่อเรื่องมัน “คุม” เนื้อเรื่องอยู่ด้วย จะเขียนไปทางไหนก็ได้ บางทีบางเรื่องก็ได้ข้อมูลมาจากคนขับแท็กซี่ด้วย จนมาเป็นตัวละครพ่อใน จับต้นมาชนปลาย

ย้อนกลับมาถึงนวนิยายเรื่องแรกของคุณชมัยภรที่เขียนให้ตัวละครผู้สูงวัยเป็นตัวหลักของเรื่อง คือ บานไม่รู้โรย คุณชมัยภรบอกว่า ที่มาจากช่วงนั้นเขียนเรื่องโรคภัยไข้เจ็บเยอะ เรื่องเด่นคือเรื่อง ฤดูร้อนมีดอกไม้บาน ที่เป็นเรื่องของโรคลมชัก เพราะพี่สาวของคุณชมัยภร ก็เป็นโรคลมชัก จึงอยากจะเขียนถึงเรื่องของโรคที่ตนรู้จักที่สุด หลังจากฤดูร้อนมีดอกไม้บาน เผยแพร่ ได้รับความชื่นชมจากนักอ่านมากมายที่ติดตามในนิตยสารสกุลไทย และมีน้องคนหนึ่งโทรศัพท์มาที่บ้านแล้วบอกว่า

“ถ้าอาจารย์เขียนนวนิยายให้คนเข้าใจเรื่องโรคลมชักได้ ก็อยากขอร้องให้เขียนเรื่องโรคอัลไซเมอร์บ้าง แล้วก็เล่าว่าเขากำลังดูแลพ่อที่เป็นอัลไซเมอร์ เขาเล่าว่ารู้สึกซาบซึ้งใจที่ได้ดูแลพ่อที่ป่วย ได้เห็นชีวิตหลายอย่าง เล่าไปก็ร้องไห้ไป แล้วเขาก็ส่งข้อมูลเกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์มาให้ เป็นเอกสารต่างๆ ที่เขาไปอบรมมา จากนั้นก็มีพี่อีกคนที่สามีเป็นโรคอัลไซเมอร์ 8 ปี และเมื่อสามีเสียชีวิต เขาได้ส่งหนังสืองานศพของสามีมาให้ ซึ่งข้อมูลจากทั้งสองคนนี้มากมายมหาศาล สามารถอธิบายรายละเอียดได้”

ฉากเปิดเรื่องนั้นน่าสนใจมาก เพราะคุณชมัยภรได้แรงบันดาลใจจากการดูโทรทัศน์
“ฉากเปิดที่เป็นคุณปู่อาบน้ำแล้วไม่ใส่เสื้อผ้าออกมาที่ห้องรับแขกนั้นคือเรื่องจริงๆ ที่คุณจรัญ ภักดีธนากุล เล่าถึงพ่อของตนเองในรายการโทรทัศน์รายการหนึ่ง เขาเล่าด้วยความอ่อนโยนและเข้าใจ ทำให้รู้สึกว่า โอ ฉากนี้มันใช่ ขอเป็นฉากเปิดด้วย เราเลยเปิดด้วยฉากนั้น”

บานไม่รู้โรย จึงสร้างจากการต้องการนำเสนอเรื่องของโรคอัลไซเมอร์ แต่ก็มีตัวละครหลากหลาย ทั้งรุ่นผู้สูงวัย ทั้งคุณยายบานเช้า คุณย่า และยังมีตัวละครรุ่นลูกเป็นตัวเชื่อมประเด็นของเรื่อง คุณชมัยภรบอกว่า ที่ยากหน่อยคือการแปะภูมิหลังของตัวละคร ซึ่งก็อาศัยคนใกล้ๆ มาเป็นภูมิหลัง เป็นช่วงที่ทำงานวิจับกับอ.เจตนา นาควัชระ จึงยืมอาจารย์มาเป็นภูมิหลังของตัวละคร (อ.เจตนานั้นเป็นที่มาของตัวละคร คุณปู่ ในคุณปู่แว่นตาโต และคุณปู่แว่นตาแตก ด้วย)

“ชื่อบานไม่รู้โรย เป็นชื่อดอกไม้ที่เป็นดอกไม้ที่เป็นสัญลักษณ์ของคนชรานั่นล่ะ”

ตัวละครที่น่าสนใจคือ คุณย่าที่ตรงข้ามกับคุณปู่ ในขณะที่คุณปู่ลืมไปหมดทุกเรื่อง แต่คุณย่าจำได้หมดทุกเรื่อง ซึ่งเป็นความตรงข้ามกันของคน

สำหรับ บานไม่รู้โรย นั้น บรรณาธิการให้ความเห็นว่า เป็นอีกเรื่องที่น่าจะเป็นละครได้ เพราะมีตัวละครที่ตรงข้ามกันมากๆ แต่คงต้องเขียนบทใหม่ให้จับประเด็นที่สนุกสนานมากกว่า บรรณาธิการแนะนำด้วยว่า เซ็ตนวนิยายผู้สูงวัยทุกเรื่องนี้น่าทำละครทุกเรื่อง รับรองสนุกมากๆ ตัวละครผู้สูงวัยทั้งสีสันสนุกสนาน และมีความซับซ้อนให้นำมาเล่นได้มากมาย

สำหรับนักอ่านที่ชอบเรื่องสนุกๆ สะท้อนมุมผู้สูงวัยในหลากหลายแบบ เลือกอ่านได้ รับรองว่าสนุกทุกเรื่องจริงๆ

หมายเหตุ คลิกไปดูรายละเอียดแต่ละเล่มได้