เนื่องในโอกาสครบรอบ 80 ปีของการปฏิวัติสยาม 2475 ทางเว็บไซต์ Siam Intelligence ขอแนะนำหนังสือ “สันติปรีดี” นิยายอิงประวัติศาสตร์ สารคดีชีวิตของปรีดี พนมยงค์ ผู้นำสายพลเรือนและมันสมองของคณะราษฎร
“สันติปรีดี” เป็นสารคดีเล่าเรื่องชีวิตของปรีดี พนมยงค์ และภรรยาคือท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ โดยเริ่มตั้งแต่ต้นตระกูล “พนมยงค์” ในสมัยกรุงศรีอยุธยา จวบจนกระทั่งวาระสุดท้ายของปรีดีและพูนศุข ผู้เขียนคือ ชมัยภร แสงกระจ่าง นักเขียนนิยายชื่อดัง ได้รวบรวมหลักฐานทั้งจากเอกราชและจากคำบอกเล่าของคนในตระกูลพนมยงค์อย่างละเอียด และใช้กลวิธีการเล่าเรื่องแบบนิยายให้น่าสนใจมากขึ้น
หนังสือเล่มนี้เหมาะกับผู้ที่เริ่มศึกษาประวัติชีวิตและผลงานของปรีดี พนมยงค์ เพราะเป็นการเล่าเรื่องราวชีวิตแต่ละช่วงของปรีดี จากสายตาของ (ตัวละคร) ปรีดีเอง ไม่ว่าจะเป็นการตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือการสร้างภาพยนตร์พระเจ้าช้างเผือก การหนีออกจากทำเนียบท่าช้างในวันรัฐประหาร และการโดยสารเรือออกจากประเทศไทยหลังการรัฐประหาร แต่ก็ยังมีรายละเอียดที่แม่นยำ เช่น ผู้เขียนได้ศึกษาวิธีการเรียกสรรพนามระหว่างปรีดีและพูนศุข ซึ่งจะต่างกันไปเมื่อเป็นการสนทนากันธรรมดา (ฉัน-เธอ) และการสนทนาผ่านจดหมาย (พี่-น้อง) หรือสภาพความเป็นอยู่ของปรีดีระหว่างการลี้ภัยในจีนและฝรั่งเศส ว่าบริเวณบ้านมีลักษณะเป็นอย่างไร รอบๆ บ้านมีร้านค้าหรือสถานที่อะไรบ้าง
นอกจากนี้ยังมีเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ ในประวัติการเมืองการปกครองของไทยที่น่าสนใจอีกมาก เช่น วันที่ 23 มิถุนายน 2475 ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองเพียง 1 วัน ปรีดีได้บอกกับท่านผู้หญิงพูนศุขว่าต้องการบวช และจะเดินทางไปยังพระนครศรีอยุธยาเพื่อขอลาบวชกับบิดา แต่ในความเป็นจริงนั้น ปรีดีเดินทางออกจากบ้านไปร่วมก่อการกับคณะราษฎรคนอื่นๆ ในกรุงเทพนั่นเอง พูนศุขมารู้ความจริงเมื่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองสำเร็จไปแล้ว
เกร็ดอีกอย่างที่น่าสนใจคือ การเซ็นสัญญาร่วมเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่นของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ถูกฝ่ายเสรีไทยนำไปอ้างว่าเป็นโมฆะต่อฝ่ายสัมพันธมิตร เหตุเพราะว่าปรีดีซึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ในเวลานั้นไม่ได้ร่วมลงชื่อด้วย เนื่องจากพลาดการประชุมโดยบังเอิญ
นอกจากชีวิตและผลงานของปรีดีแล้ว ในหนังสือยังเล่าสภาพของการเมืองไทยในแต่ละช่วงเวลาอีกส่วนหนึ่ง (ถึงแม้จะไม่มากนักเพราะไม่ใช้ประเด็นหลักของเรื่อง) ถือเป็นพื้นฐานสำหรับผู้สนใจศึกษาประวัติการเมืองไทยได้เป็นอย่างดี
การศึกษาเรื่องราวชีวิตของปรีดี-พูนศุข ที่ตั้งใจทำประโยชน์เพื่อชาติ และนำพาประเทศรอดพ้นจากสงครามโลกครั้งที่สองมาได้ แต่กลับต้องแพ้ภัยการเมืองจนต้องหนีออกไปใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศจวบจนวาระสุดท้าย และไม่ได้ตายในบ้านเกิดเมืองนอน ย่อมทำให้ผู้อ่านตระหนักถึงคุณความดีของปรีดี-พูนศุขเป็นอย่างดี และน่าพึงระลึกไว้เป็นตัวอย่างในฐานะบุรุษคนสำคัญที่ทำประโยชน์ให้กับประเทศ ชีวิตของปรีดีนั้นไม่ได้ต้องการเงินทองหรือเกียรติยศใดๆ เลย มีเพียงแต่ความมุ่งหวังให้เกิด “สันติ” แก่ประเทศไทยเท่านั้น
สันติปรีดี มีจำหน่ายแล้วตามร้านทั่วไป ราคาเล่มละ 220 บาท