ข้าพเจ้ายืนนิ่งอยู่หน้าพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลเดช ฯ ผลงานจากฝีมือของ นายจำรัส เกียรติก้อง ศิลปินไทยที่ได้รับการยกย่องจากสำนักศิลปะวัฒนธรรมร่วมสมัยให้เป็น “สยามศิลปิน” ผลงานชิ้นนี้ของนายจำรัส เป็นภาพวาดสีน้ำมัน บนผ้าใบ ขนาด 93×70.5 เซนติเมตร เขียนขึ้นตั้งแต่เมื่อ ปี พ.ศ. 2490 (ปัจจุบันเป็นสมบัติของ พล.ต.ต. จักรทิพย์ ชัยจินดา) นับเป็นภาพเขียนพระบรมสาทิสลักษณ์ภาพแรก แห่งรัชกาล (ทรงเสด็จขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติ ในปี พ.ศ. 2589) ร่องรอยแห่งกาลเวลาสำแดงชัดเจนออกมาทางรอยแตกร้าวของสี ทั่วทั้งภาพ และรอยแตกเหล่านั้นนั่นเอง ที่ทำให้ข้าพเจ้าต้องยืนนิ่ง เพ่งมองเข้าไปในแต่ละรอยแตก ไล่สายตามตามไปตรงนั้นตรงนี้ รอยเล็กบ้าง ใหญ่บ้าง เส้นสายแห่งรอยแตกแต่ละรอยก็ไม่เท่ากัน แต่เชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวทั่วทั้งภาพ นั่นคือกาล-เวลา แห่งภาพ ร่องรอยลายเส้นเสมือนแสดงให้เห็นถึงการผ่านระยะเวลาร้อนหนาวมายาวนาน ถึงพุทธศักราชนี้ นับได้ 60 ปี!

เสน่ห์แห่งรอยแตก ดึงดูดให้ข้าพเจ้าจมตัวเองลงไปในภาพนี้ ความหมายของภาพจึงคล้ายกับว่าจะตีความได้มากมายยิ่งขึ้นไปกว่าภาพพอร์ทเทรทของพระมหากษัตริย์ ด้วยนัยยะของ 60 ปี และนัยยะแห่งรัชกาล นี่เป็นนัยยะที่เกิดจากการตีความของข้าพเจ้าผู้ชมภาพ เพราะรอยแตกเหล่านั้น ศิลปินมิได้คาดหวังว่าจะเกิดขึ้นตรงส่วนไหนของภาพ หากแต่กาลเวลานั่นต่างหาก ที่สร้างรอยแตกขึ้นมาทับซ้อนบนผลงานของศิลปิน

ภาพ “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล อดุลยเดช 2490” นี้ เป็นส่วนหนึ่งของ นิทรรศการเฉลิมพระเกียรติฯ ศิลปะแห่งรัชกาลที่เก้า หกทศวรรษศิลปะไทย จัดแสดงขึ้น ณ หอศิลป์ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ เมื่อเดินเข้าชมนิทรรศการ ภาพแรกที่ปรากฏแก่สายคือ จิตรกรรมฝีพระหัตถ์ ชื่อภาพ มือแดง (2504)

การแสดงนิทรรศการครั้งนี้ นับเป็นงานแสดงศิลปะยิ่งใหญ่ที่แสดงความเป็นมาและพัฒนาการของศิลปะแห่งชาติอย่างครบถ้วน โดยนำเสนอผลงานของศิลปินของชาติ อย่างเป็นลำดับ ควบคู่ไปกับภาพการเปลี่ยนแปลงทางสังคม วัฒนธรรม และการเมือง โดยแบ่งยุคสมัยของศิลปะเป็น 6 ทศวรรษ แสดงผลงานตามช่วงสมัยที่สร้างสรรค์ผลงาน ภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ ที่วาดโดยจำรัสเกียรติก้อง อยู่ในทศวรรษที่ 1 (พ.ศ. 2489-2498) ยุคสมัยแห่งการเริ่มพื้นฐานการศึกษาศิลปะในประเทศไทย มีผลงานร่วมสมัย ของศิลปิน เช่น ทวี นันทขว้าง, มีเซียม ยิบอินซอย, เขียน ยิ้มศิริ, ชลูด นิ่มเสมอ, เฟื้อ หริพิทักษ์, ศิลป์ พีระศรี ฯลฯ

ในทศวรรษที่ 2 ( พ.ศ. 2499-2508) ช่วงสมัยแห่งการสร้างบุคลากรทางศิลปะ เกิดสถาบันการศึกษาด้านศิลปะอย่างแท้จริง โดย จิตร บัวบุศย์ ผู้จบการศึกษาด้านศิลปะจากญี่ปุ่น ได้วางรากฐานศิลปะให้โรงเรียนเพาะช่าง ในขณะที่ ศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นแหล่งกำเนิดศิลปินของประเทศ และยังได้ส่งเสริมการประกวดศิลปกรรมแห่งชาติ อันถือเป็นการสร้างมาตรฐานของวงการศิลปะไทย ผลงานของศิลปินในช่วงนี้ เช่น ของ ชำเรือง วิเชียรเขตต์, ประยูร อุลุชาฎะ, อารี สุทธิพันธ์, ประหยัด พงษ์ดำ

ทศวรรศที่ 3 (พ.ศ. 2509-2518) นับเป็นช่วงสมัยของความขัดแย้งของวงการศิลปะไทย หลังมรณะกรรมของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี ด้านการเมืองเป็นยุคสมัยของจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่มุ่งเน้นความเจริญทางวัตถุ ด้านศิลปะการประกวดศิลปกรรมได้ถูกโต้แย้งจากศิลปินบางกลุ่ม พร้อมกับการหลั่งไหลเข้ามาของวัฒนธรรมตะวันตก อันรวมถึงศิลปะ เอกชนมีบทบาทมากขึ้นในวงการศิลปะ และองค์กรเอกชนเริ่มสะสมงานศิลปะ เริ่มจาก TISSO (2514) เกิด หอศิลป พีระศรี (2517) ศิลปินที่มีผลงานโดดเด่นในยุคสมัยนี้ เช่น จ่าง แซ่ตั้ง, ช่วง มูลพินิจ, จักรพันธ์ โปษยกฤต, เดชา วราชุน, ถวัลย์ ดัชนี, ปรีชา อรชุนกะ, ประพนธ์ ศรีสุตา, สน สีมาตรัง, เหม เวชกร, อังคาร กัลยาณพงศ์ ฯลฯ

ทศวรรษที่ 4 (พ.ศ 2519-2528) เป็นยุคสมัยที่การเมืองมีความเปลี่ยนแปลง จากเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ก่อให้เกิดศิลปะที่เรียกว่า ศิลปะเพื่อชีวิต เกิดแนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทย แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 นอกจากจะทำลายแนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทย ยังทำลายศิลปะแนวเพื่อชีวิตลงไปโดยปริยาย หลังยุคสมัยนี้ วงการศิลปะเกิดความขัดแย้ง ซึ่งอาจสืบเนื่องมาจากอุดมการณ์ เกิดกลุ่มที่แยกออกจากกลุ่มศิลปะเดิม งานภาพพิมพ์กลับพัฒนามากขึ้น ทั้งการเรียนการสอนด้านศิลปะในสถาบันการศึกษาอื่นเริ่มคึกคักขึ้น เช่น จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ประสานมิตร นับเป็นยุคใหม่ของศิลปะ หลังจากเปิดหอศิลป พีระศรี (2517) ในยุคนี้ก็ตามมาด้วย หอศิลป แห่งชาติ (2520) หอศิลป มหาวิทยาลัยศิลปากร เกิดหนังสือด้านศิลปะ ศิลปินที่มีผลงานโดดเด่น เช่น กมล
ทัศนาญชลี, เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์, ไทวิจิต พึ่งเกษมสมบูรณ์, ประเทือง เอมเจริญ, ปัญญา วิจินธนสาร, ไพศาล ธีรพงศ์วิษณุพร, มณเฑียร บุญมา, วิบูลย์ ลี้สุวรรณ, วิรุณ ตั้งเจริญ , อภินันท์ โปษยานนท์ ฯลฯ

ทศวรรษที่ 5 (พ.ศ. 2529-2539) นับเป็นช่วงเวลาของความหลากหลาย ในสมัยของการเฉลิมฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ 200 ปี ทำให้ศิลปะแบบกลับไปสู่แนวประเพณีนิยม ทั้งแบบอนุรักษ์นิยมและแบบล้ำยุค ในทางการเมือง เกิดเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม ปี 2535 ซึ่งเป็นความรุนแรงทางสังคมที่ศิลปินส่วนหนึ่งนำเสนอในงานศิลปะ อย่างไรก็ตาม โลกของศิลปะพัฒนามากขึ้น มีผลงานที่เน้นแสดงความหมายทางสังคม และนามธรรม ควบคู่กันไป งานแต่ละแบบมีการพัฒนาไปตามแนวทางของตน ศิลปินบางคนสร้างงานที่ต่อเนื่องมาจากช่วงก่อน และมีแนวทางชัดเจนขึ้น เริ่มมีงานที่เน้นการสื่อแสดงให้กระทบใจคนดู เช่น งานของ จุมพล อภิสุข , สุธี คุณาวิชยานนท์ , วสันต์ สิทธิเขตต์,

ทศวรรษปัจจุบัน (2540-) นับเป็นความหลากหลายของวงการศิลปะ ผลงานของศิลปินหลายคนที่พัฒนาอย่างลงตัว และเกิดเป็นผลงานร่วมสมัย ที่ผสมผสานศิลปะแบบไทย กับศิลปะสากล เช่น งาน ของ ปัญญา วิจินธนสาร , ประทีป คชบัว สิ่งที่มองเห็นชัดเจนคือ ศิลปินมีการนำเสนองานศิลปะแบบจัดวางมากขึ้น เช่น งานของ สุธี คุณาวิชยานนท์, นภดล วิรุฬชาตะพันธ์ , สุโรจนา เศรษฐบุตร รวมทั้งมีงานที่นำเสนอด้วยสื่อสมัยใหม่ เช่น คอมพิวเตอร์ เช่นงานของ สาครินทร์ เครืออ่อน

นิทรรศการศิลปะทั้ง 6 ทศวรรศนี้ ในการจัดแสดงนี้ มีผลงานส่วนหนึ่งที่ห้องจัดแสดงไม่พอ ผู้จัดได้พรินต์ตัวอย่างผลงานมาแสดงไว้ด้วย

สำหรับห้องแสดงงานชั้นบนสุดนั้น นำเสนอศิลปะในโลกดิจิตอล นั่นคือการนำผลงานศิลปะทั้งหมดที่แสดง (รวมทั้งที่ไม่ได้นำมาแสดงเพราะพื้นที่ไม่พอ) มาจัดทำใหม่ เป็น digital gallary หรือ digita zone ในรูปแบบภาพ 3 มิติ เสมือนจริง โดยการสแกนรูป หรือการสร้างภาพนั้น เป็นไปตามสัดส่วนจริง ในโลกดิจิตอล ผู้ชมงานสามารถเลือกเดินไปในโลกดิจิตอล เพื่อชมผลงานเสมือนเดินอยู่จริง มีลักษณะเหมือนเกมคอมพิวเตอร์ (ถ้าใครเคยเล่นเกม doom คงนึกออก) ทั้งนี้ผู้สนใจสามารถเข้าชมได้ทางเว็บไซต์ http://www.rama9art.org

ดูเหมือนว่า ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี จะนำศิลปะเข้าไปใส่ในโลกดิจิตอลได้ทั้งหมด (ครบถ้วนกว่าในสถานที่แสดงจริง) อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าเห็นว่า แม้จะสร้างได้เสมือนจริงเพียงใด ก็มิสามารถจำลองอารมณ์ของข้าพเจ้า ยามยืนจ้องที่งานปั้น “พิชิตมาร” ของ ปัญญา วิจินธนสาร ได้ เพราะในโลกดิจิตอล ข้าพเจ้าไม่สามารถก้มเงย เขย่ง เพื่อเพ่งมองรายละเอียดได้ หรือเมื่อถึงงานแสดง ชุด ห้องเรียนประชาธิปไตย ของ สุธี คุณาวิชยานนท์ ซึ่งเป็นงานแสดงแบบจัดวาง เป็นโต๊ะนักเรียนไม้ ที่ผิวหน้าของโต๊ะแกะสลักเป็นภาพเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์การเมืองของไทย และให้ผู้ชมงานร่วมบันทึกความทรงจำเกี่ยวกับเหตุการณ์ต่างๆ ด้วยการนำกระดาษมาวางทับ และฝนสีบนกระดาษ เกิดเป็นภาพศิลปะที่ผู้ชมสรางขึ้นเอง (ซึ่งในขณะที่ข้าพเจ้าเดินชมงานนั้น พนักงานทำความสะอาด 2 คน กำลังนั่งฝนสีอย่างสนุกสนาน พร้อมกับคุยโทรศัพท์มือถือไปด้วย) ในโลกดิจิตอล คงไม่สามารถทำให้ข้าพเจ้าได้ฝนสีลงบนกระดาษเพื่อลอกลายแกะสลักเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 จากโต๊ะนักเรียนได้

แต่นี่คือการแสดงความก้าวหน้า ดิจิตอล เป็นคำที่บ่งบอกถึงความก้าวหน้า
และความก้าวหน้านี้ ก็ทำหน้าที่ลบรอยแตกในภาพ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพล อดุลยเดช 2490 ของศิลปิน จำรัส เกียรติก้อง กลายเป็นผิวเรียบลื่น เนียนนวล เป็นภาพจำลอง ดิจิตอลพรินต์ ที่ในแผ่นพับระบุว่า “ประหนึ่งย้อนเวลากลับไปเมื่อ 60 ปีก่อน” เป็นภาพจำลองที่จัดทำขึ้นเพื่อหารายได้สำหรับโครงการเฉลิมพระเกียรติฯ ศิลปะแห่งรัชกาลที่ 9 เป็นภาพทรงคุณค่าแห่งรัชกาลที่ควรค่าแก่การสะสม

ทว่า สำหรับข้าพเจ้า เสน่ห์ทรงพลังแห่งรอยแตกที่บรรยายไว้ในย่อหน้าแรก ก็ถูกลบไปด้วย