ลดราคา!

ในเวิ้งฟ้าอันไพศาล

230 ฿

ผู้แต่ง ชมัยภร แสงกระจ่าง
ISBN 9786167787183
จำนวน 296 หน้า
สำนักพิมพ์ คมบาง
ปีที่พิมพ์ 2558

นวนิยายของชมัยภร แสงกระจ่าง แม้จะไม่ได้ “ปะ”  ยี่ห้อ “เพื่อชีวิต” หรือ “วรรณกรรมเพื่อสังคม” นักวิจารณ์บางท่านอาจจะจัดกลุ่มอยู่ในนวนิยายประโลมโลกด้วยซ้ำ แต่ในความเป็นจริง นักอ่านนักวิจารณ์ที่ติดตามผลงานของชมัยภร แสงกระจ่าง จะทราบดีว่า “สาร” ในนวนิยายของนักเขียนหญิงผู้เปี่ยมประสบการณ์ชีวิตท่านนี้ ล้วนแต่ “หนัก” และ “แน่น” ไปด้วยเรื่องราวของชีวิต สังคม รวมทั้งการเมือง โดยเล่าเรื่องผ่านตัวละครธรรมดาราวกับมีเลือดเนื้อตัวตน ด้วยกลวิธีเล่าที่ไม่ยากหรือซับซ้อนจนเกินไป

 

รายละเอียดเพิ่มเติม

คำนำสำนักพิมพ์

นวนิยายของชมัยภร แสงกระจ่าง แม้จะไม่ได้ “ปะ”  ยี่ห้อ “เพื่อชีวิต” หรือ “วรรณกรรมเพื่อสังคม” นักวิจารณ์บางท่านอาจจะจัดกลุ่มอยู่ในนวนิยายประโลมโลกด้วยซ้ำ แต่ในความเป็นจริง นักอ่านนักวิจารณ์ที่ติดตามผลงานของชมัยภร แสงกระจ่าง จะทราบดีว่า “สาร” ในนวนิยายของนักเขียนหญิงผู้เปี่ยมประสบการณ์ชีวิตท่านนี้ ล้วนแต่ “หนัก” และ “แน่น” ไปด้วยเรื่องราวของชีวิต สังคม รวมทั้งการเมือง โดยเล่าเรื่องผ่านตัวละครธรรมดาราวกับมีเลือดเนื้อตัวตน ด้วยกลวิธีเล่าที่ไม่ยากหรือซับซ้อนจนเกินไป

ในระยะหลัง เมื่อประสบการณ์ของนักเขียนและความเข้าใจในชีวิตและโลกมากขึ้น นักเขียนมักนำเสนอประเด็นเรื่องการใช้ธรรมะเยียวยาชีวิตไว้มากขึ้น จากที่เป็นเพียงปมแทรกในเรื่องรัก ก็กลายเป็นประเด็นหลักในเรื่อง เช่น นวนิยายเรื่อง หยาดน้ำค้างพันปี (๒๕๕๗)

ในเวิ้งฟ้าอันไพศาล เล่มนี้เป็นอีกก้าวของการกล่าวถึงสัจธรรมของชีวิต นั่นคือ “ความตาย” ซึ่งเป็นประเด็นที่เขียนขยายออกมาเป็นนวนิยายได้อย่างล้ำลึกและซับซ้อน โดยล้วงลึกเข้าสู่ปมของตัวละครอันเกิดขึ้นหลังความตายของคู่ชีวิต พัฒนาไปสู่กันปรับตัวปรับใจ และเรียนรู้ถึงสัจธรรมอันแน่นอน

ในเวิ้งฟ้าอันไพศาล  จะเป็นนวนิยายที่ทำให้คุณหันกลับมามองชีวิตอย่างมีสติ เข้าใจ และปล่อยวางได้บ้าง อย่างน้อยคุณคงต้องตั้งคำถามถึงสิ่งที่เป็นอยู่ และมองมันอย่างเข้าใจมากขึ้น  ที่สำคัญคือ นี่ไม่ใช่นวนิยายของคนอ่านสูงวัย หากเป็นเรื่องที่อ่านได้ทุกวัย
วรรณกรรมเป็นหนทางแห่งความเข้าใจชีวิต การอ่านเปิดทางให้ชีวิตคุณ
สำนักพิมพ์คมบาง

………………………
คำนำ
ในเวิ้งฟ้าอันไพศาล

ชีวิตฉันมีความทุกข์เงียบ ๆ ซับซ้อนอยู่ภายใน  แต่ฉันมีกัลยาณมิตรที่ดีชักนำไปสู่การหาทางออกของชีวิต  มีทั้งที่ชักชวนไปทำกิจกรรมทางวรรณกรรม  เสนอให้เขียนหนังสือ(ให้มากขึ้น) และพาไปปฏิบัติธรรม  การไปปฏิบัติธรรมทำให้มองเห็นตัวเองเล็กกระจ้อยลง ยอมรับบางสิ่งบางอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิตได้ง่ายและเร็วขึ้น  รวมทั้งมีเครือข่ายชีวิตทุกข์ชัดเจนขึ้น

คุณศิริจันทร์  ภิรมย์ภักดี  เป็นเครือข่ายชีวิตที่บังคับให้ฉันต้องปฏิบัติธรรมเป็นประจำทุกปีกับพระราชสุเมธาจารย์ ในขณะที่คุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ เป็นเครือข่ายชีวิตทุกข์คนสำคัญคนหนึ่งที่โฉบเข้ามาในจังหวะที่เหมาะสมงดงาม  วันหนึ่งคุณหญิงจำนงศรีจัดการจับจองให้ฉันไปอบรมเชิงปฏิบัติการเรื่อง  วิถีสู่ความตายอย่างสงบ  โดยพระไพศาล วิสาโลและคณะ  ในเดือนมกราคม ปี ๒๕๕๕  กำหนดจัดขึ้นที่บ้านน้ำสาน  ต.แม่แรม อ.แม่ริม  จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นบ้านพักของคุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์    ฉันเป็นผู้โชคดีได้มีโอกาสเข้ารับการอบรมพร้อมกับกัลยาณมิตรอีก ๒๙ คน ซึ่งแล้วล้วนมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน และมาจากต่างถิ่น ต่างที่และต่างอาชีพกันอย่างน่าอัศจรรย์ใจ

ก่อนที่จะมาเข้ารับการอบรมครั้งนี้ ฉันเคยได้ยินได้ฟังเรื่องราวเหล่านี้มาพอสมควร  ได้อ่านเพื่อรอยยิ้มเมื่อสิ้นลม(ที่คุณสง่า ลือชาพัฒนพร เขียนจากประสบการณ์ของคุณพยาบาลกานดาวสี) มาแล้วทั้ง ๒ เล่ม (อ่านไปร้องไห้ไปทีละเรื่อง  เขียนหนังสือเบื่อ ๆหยิบมาอ่านทีไรร้องไห้น้ำตาเผาเต่าทุกครั้ง) รวมทั้งมีประสบการณ์ส่วนหนึ่งมาจากการเฝ้าดูแลคุณแม่เมื่อระยะสุดท้ายของชีวิตมาถึง  การเข้ารับการอบรมทำให้ฉันตระหนกและตระหนักในความตายและการจากพรากอย่างมากมายมหาศาลและชัดเจนขึ้น  ในวันสิ้นสุดการอบรม  พระอาจารย์ไพศาลได้ให้ผู้เข้ารับการอบรมเขียนคำสัญญาด้วยว่าจะทำอะไรต่อจากการอบรมครั้งนี้แล้ว  ฉันจำได้ว่าเขียนลงในกระดาษแผ่นเล็ก ๆว่า จะเขียนหนังสือเกี่ยวกับความตาย ตีพิมพ์เผยแพร่ในนิตยสารเพื่อให้คนทั่วไปได้เรียนรู้เรื่องความตายอย่างสงบ  และส่งคืนคำสัญญาไว้กับพระอาจารย์

หลังจากนั้นฉันเขียนไปเพียงบทรายงานการอบรม  และจด ๆจ้อง ๆว่าจะเขียนนวนิยายสักเรื่องหนึ่ง  เวลาผ่านไปหกเดือนฉันได้รับแผ่นคำสัญญาแผ่นเล็ก ๆของตัวเองที่ให้ไว้กับพระคืนมาในซองไปรษณีย์โดยไม่มีถ้อยคำอื่นใด  ฉันรู้สึกเหมือนถูกตบหน้าเบา ๆ ด้วยถ้อยคำของตนเอง    จึงเริ่มลงมือร่างโครงเรื่องของเวิ้งฟ้าอันไพศาล  โดยรวมเอาประสบการณ์ของตนเอง  ประสบการณ์ของคนรู้จัก และเรื่องราวที่ได้ยินได้ฟังมาไว้ด้วยกัน  เขย่ารวมกันในรูปของนวนิยายและเอา”สาร”ที่ได้จากการอบรมครั้งนั้นมาสื่อเป็นตัวอักษร  รวมทั้งเรื่องสำคัญเรื่องหนึ่งที่ค้างคาใจแม่ของฉันจนวาระสุดท้าย นั่นคือ การแท้งลูกชายคนเดียว(ซึ่งน่าจะเป็นน้องชายของฉัน)  และเรื่องค้างคาใจของฉันคือการไม่ได้อยู่กับแม่ในวาระสุดท้าย  และการไม่ตระหนักในชีวิต  ทำให้หมากับแมวบางตัวตายไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์  ฉันตั้งชื่อนวนิยายเรื่องนี้ว่า ในเวิ้งฟ้าอันไพศาล  โดยหยิบบางถ้อยคำมาจากหนังสือชื่อ เพ่งพินิจเรื่องชีวิตและความตาย ของโซเกียล รินโปเซ  แปลโดย พจนา จันทรสันติ กัลยาณมิตรคนสำคัญอีกคนหนึ่ง  ในหน้าที่กล่าวว่า

ดูจม รินโปเซ ได้เล่าถึงชั่วขณะที่ริกปะได้เผยออกมา “ชั่วขณะนั้นเป็นเหมือนดั่งการเลิกหมวกของเสื้อคลุมออกจากศีรษะ  มันช่างกว้างโล่งและไพศาลเสียนี่กระไร  ….”(วันที่ ๒๖ เมษายน)

ฉันพอใจที่ตรงชื่อเรื่องมีคำว่า “ไพศาล” อยู่ด้วย ระหว่างเขียนเป็นตอน ๆลงในนิตยสารสกุลไทย  ถูกผู้อ่านต่อว่าเรื่องความน่าชังของตัวละครที่ชื่อจันทรบ่อยครั้ง  จนปลายเรื่องคนเริ่มสงสารจันทร  คนที่ถูกต่อว่าก็กลายเป็นฉันแทน   ในขณะเขียน ๔-๕ ตอนสุดท้าย  ฉันรู้สึกเหมือนถูกพลิกเข้าไปในสถานการณ์อบรมอีกครั้งหนึ่ง  ก่อนจะรู้สึกว่าตัวเองสงบขึ้นเท่า ๆกับจันทร

ขอกราบขอบพระคุณ พระราชสุเมธาจารย์ ผู้เมตตาอบรมสมาธิภาวนา พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล  และคณะผู้อบรมเรื่องความตายซึ่งประกอบด้วย พระอาจารย์ภูวดล ปิยสีโล  คุณสุ้ย วรรณา จารุสมบูรณ์ และคุณหนุ่ม นิติศักดิ์ ผู้ก่อให้เกิดแรงบันดาลใจ ขอบคุณคุณศิริจันทร์ ภิรมย์ภักดี และคุณหญิงจำนงศรี หาญเจนลักษณ์ สองผู้กรุณา รวมทั้งผู้มีประสบการณ์ความตายทุกคนที่ผ่านมาในชีวิตของฉัน  ขอบคุณเรื่องราวทั้งที่ได้รับการบอกเล่ามาโดยตรงและโดยอ้อม

เพื่อชำระล้างความรู้สึกผิด ขออุทิศส่วนดีงามอันเป็นกุศลผลบุญใด ๆ ของนวนิยายเรื่องนี้แด่แม่  ครูบัวขาว วิทูธีรศานต์  และแด่หมากับแมวที่ทำให้ฉันค้างคาใจ  ขอบุญกุศลครั้งนี้จงโปรดคลี่คลายความรู้สึกผิดในใจทั้งหลายทั้งมวลในใจของฉันลงด้วยเทอญ

ชมัยภร  แสงกระจ่าง
กันยายน  ๒๕๕๘