ขอเชิญนักอ่าน นักเขียน นักกิจกรรม และผู้สนใจ และผู้ใจดี ทุกท่าน
ร่วมสมทบหนังสือเพื่อห้อวงสมุดโรงเรียนบ้านบางเบ้า เกาะช้าง จ.ตราด

สืบเนื่องจากที่ กลุ่มมุนชายน์ฟอรัม ได้ไปจัดกิจกรรมคายศิลปะเด็กที่ รร. บ้านบางเบ้า ไป แล้วเมื่อเดือนกรกฎาคม 2551 ที่ผ่านมา ได้มีโครงการต่อเนื่อง โดยกลุ่ มรักษ์ฝัน ได้เขียนโครงการ ค่ายห้องสมุดพุทธิปัญญา หรือ ค่ายห้องสมุดโรงเรียนบางเบ้าขึ้น และได้รับการสันบสนุนจาก โครงเครือข่ายพุทธิกา และ สสส. เพื่อจัดกิจกรรมค่ายห้องสมุด ที่พื้นที่โรงเรียนบ้านบางเบ้า เช่นเดิม
แต่ครั้งนี้เป็นการจัดทำห้องสมุดของโรงเรียน (เดิมไม่มีห้องสมุด มีแต่เพียงห้องเก็บหนังสือ) โดยเน้นให้เป็นห้องสมุดประชาชน ของชุมชนบ้านบางเบ้าด้ว

ในการนี้ ชมัยภร แสงกระจ่าง นายกสมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย เป็นที่ปรึกษาโครงการ และสำนักพิมพ์คมบาง ร่วมเป็นเรี่ยวแรงในการระดมหนังสือดี สำหรับห้องสมุดโรงเรียนบ้านบางเบ้า

จึงขอเชิญชวน ทุกท่านบริจาคหนังสือ โดยสามารถส่งทางไปรษณีย์ได้ที่

คมบาง ตู้ ปณ. 9 ปท. อ่อนนุช กทม. 10250

หรือ ฝากหนังสือไว้ที่จุดรับฝาก คือ
ร้าน Spice Jeans ชั้น G ห้างสรรพสินค้า ยูเนี่ยนมอลล์ ตรงข้ามเซ้นทรัลลาดพร้ว

หรือ ร้านกาแฟ KIOSK ชั้น 6 ห้างสรรพสินค้าดิเอ็มโพเรียม โซน TCDC

อ่านรายละเอียดโครงการได้ค่ะ

โครงการค่ายห้องสมุดพุทธิปัญญา

หลักการและเหตุผล

องค์การอนามัยโลก ได้นิยามไว้ว่า “สุขภาพ หมายถึงสุขภาวะที่สมบูรณ์ทั้งทางกาย จิตใจ สังคม และปัญญา มิใช่เพียงการปราศจากโรคหรือความพิการเท่านั้น” อันนำมาสู่วิสัยทัศน์ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) คือ “คนไทยมีสุขภาวะยั่งยืน หมายถึงคนไทยมีสุขภาวะดีครบทั้งสี่ด้าน ได้แก่ กาย จิต สังคม และปัญญา”

“หนังสือ” เป็นสื่อกลางชนิดหนึ่งที่สามารถส่งต่อถ่ายทอดความคิดอันดีงาม เป็นแหล่งก่อเกิดปัญญา และเสริมสร้างต่อยอดความคิดให้กับเยาวชนและชุมชนได้ในทุกชนชั้นได้อย่างดีเยี่ยมและยั่งยืน การปลูกฝังให้เยาวชนมีนิสัยรักการอ่านและใฝ่หาความรู้อยู่เสมอ ช่วยเพิ่มทักษะในการเรียนรู้ กระบวนการทางความคิด สามารถวิเคราะห์สาเหตุและเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับตนเองและครอบครัวได้อย่างมีเหตุผล ด้วยทักษะกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ คุณธรรม ศีลธรรม และมีความสำนึกรับผิดชอบที่ดีต่อชุมชน

ดังนั้นชุมชนอันมีความเจริญทางปัญญา จำเป็นต้องมีศูนย์รวมหนังสือ หรือ “ห้องสมุด” เพื่อเป็นศูนย์กลางทางปัญญา และเป็นศูนย์รวมกิจกรรมทางปัญญาของชุมชน

กลุ่มกิจกรรม “รักษ์ฝัน” ของเรา ได้เคยจัดกิจกรรมค่ายศิลปะเด็กที่ รร. บ้านบางเบ้า ต.เกาะช้างใต้
อ.เกาะช้าง จ.ตราด ซึ่งทำให้ทราบข้อมูลพื้นฐานของชุมชนว่ายังเป็นชุมชนแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ซึ่งกันและกัน และมีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดระหว่าง วัด ชุมชน และโรงเรียน
ชุมชนบ้านบางเบ้า เป็นชุมชนท่องเที่ยว จึงมีความหลากหลายของคนในชุมชน ทั้งคนท้องที่เอง และคนที่ย้ายมาจากต่างถิ่น เพื่อทำมาหากิน เช่น ขายของ หรือเปิดธุรกิจการดำน้ำ ซึ่งการโยกย้ายมานั้นมักมาทั้งครอบครัว และเด็กในครอบครัวก็จะมาศึกษาต่อที่โรงเรียนบ้านบางเบ้า

ในความเป็นจริงคือ เยาวชนเหล่านี้ต้องมีการปรับตัว ซึ่งบางครั้งเด็กก็มีความเครียด จากการเปลี่ยนถิ่นฐาน ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งที่ควรจะมีทางออกทางปัญญา ซึ่งนอกจากกิจกรรมของโรงเรียน และวัด ซึ่งช่วยสานสัมพันธ์ในชุมชนได้ในระดับหนึ่ง ทางคณะผู้จัดกิจกรรมเห็นว่า ห้องสมุดก็เป็นปัจจัยที่สำคัญ ในการเป็นศูนย์กลางทางปัญญา เพราะจะเป็นแหล่งความรู้ และ เป็นทางออกสำคัญของเยาวชน และผู้คนในชุมชน ทั้ง “ให้ความรู้” “ฝึกความคิด” และ “สร้างจินตนาการ” ยิ่งกว่านั้น ห้องสมุด เหมาะจะเป็นสถานที่รองรับกิจกรรมทางปัญญา เช่น กิจกรรมเพื่อศิลปะเด็ก กิจกรรมเพื่อส่งเสริมการเขียน กิจกรรมส่งเสริมการอ่าน รวมทั้งกิจกรรมมุมสนทนาธรรมะ โดยเน้นการประสานความร่วมมือกับองค์กรอื่น กับคนในชุมชน อีกทั้งอาจมีมุมพิเศษสำหรับนักท่องเที่ยว และมีหนังสือสำหรับชาวต่างประเทศด้วย

เยาวชนที่อาศัยอยู่ในท้องที่จึงจำเป็นต้องมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตนเอง ธรรมชาติแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงของสังคม สามารถปฏิบัติตนตามบทบาทและหน้าที่ในฐานะสมาชิกที่ดีของบ้านและชุมชน ตลอดจนอนุรักษ์และพัฒนาสิ่งแวดล้อม ศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรมในชุมชนรอบๆบ้านและมีความเข็มแข็งทางปัญญา สามารถอยู่ในชุมชนได้อย่างมีความสุข
โรงเรียนบ้านบางเบ้าเป็นโรงเรียนประถมขนาดเล็ก มีนักเรียนจำนวน 90 คน บุคลากร ครู อาจารย์ 7 คน มีอาคารเรียน 2 หลัง ยังไม่มีห้องสมุดของโรงเรียนแต่มีห้องที่เหมาะสมจะจัดทำเป็นห้องสมุดของโรงเรียนซึ่งมีความสำคัญต่อนักเรียนในโรงเรียนบ้านบางเบ้า และสามารถขยายผลให้เป็นห้องสมุดประจำชุมชนบ้านบางเบ้าได้ ด้วยโรงเรียนอยู่ในบริเวณวัด คนในชุมชนจึงใช้ประโยชน์ร่วมกันได้เป็นอย่างดี ทั้งยังสามารถให้บริการครอบคลุมไปถึงชุมชนอื่นๆในเกาะช้างได้ ด้วยทั้งเกาะช้างนั้นยังไม่มีห้องสมุดประชาชน หรือห้องสมุดชุมชนใดๆเลย

กลุ่มผู้ดำเนินงานจึงเห็นเหมาะสมที่จะสร้างให้เป็นห้องสมุดชุมชนพุทธิปัญญาขึ้น ด้วยการนำกลุ่มเยาวชนอาสาสมัครจากสถาบันต่างๆในกรุงเทพมหานครซึ่งเป็นเด็กในสังคมเมือง มีความสัมพันธ์แบบตัวใครตัวมันและยึดติดกับวัตถุ มาทำงานร่วมกันในการซ่อมแซม ปรับปรุง สภาพแวดล้อมภายนอกและภายในห้องสมุด เพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่น พร้อมทั้งได้เรียนรู้ วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของคนในสังคมต่างจังหวัดและผู้ด้อยโอกาส เรียนรู้การอยู่ร่วมกัน และรับรู้ถึงความสุขจากภายในด้วยการให้อย่างไม่หวังสิ่งตอบแทน

ในขณะเดียวกันเยาวชนท้องถิ่นที่เข้าร่วมโครงการ จะมีส่วนร่วมในการสร้างห้องสมุด และเรียนรู้ระบบการจัดการห้องสมุด แบบบรรณารักษ์ เพื่อที่จะสามารถดำเนินการดูแลห้องสมุดนั้นให้เป็นห้องสมุดที่มีชีวิตได้ต่อไป และเป็นศูนย์รวมกิจกรรมทางปัญญาก่อเกิดความคิดสร้างสรรค์ ต่อยอดจินตนาการ และเกิดความสัมพันธ์อันดีระหว่างชุมชน

สุขภาวะทางปัญญาเป็นรากฐานและเงื่อนไขสำคัญที่จะส่งผลต่อเนื่องถึงสุขภาวะทางกาย จิตและสังคมโดยรวม โครงการ “ห้องสมุดชุมชนพุทธิปัญญา” เป็นอีกแนวคิดหนึ่งที่จะสามารถส่งเสริม “ สุขภาวะทางปัญญา ” ให้กับเยาวชนและชุมชนชาวเกาะช้างได้อย่างยั่งยืน เป็นจุดเชื่อมองค์ความรู้ต่างๆทั้งจากโรงเรียนชุมชนและวัด ให้เป็นชุมชนที่มีความเข็มแข็งทางปัญญา เพื่อรองรับความหลากหลายทางวัฒนธรรมและเชื้อชาติที่เข้ามาในชุมชนอย่างยั่งยืน

วัตถุประสงค์ของโครงการ :

1. เพื่อสร้างห้องสมุด ให้เป็นศูนย์รวมกิจกรรมทางปัญญาก่อเกิดความคิดสร้างสรรค์ ต่อยอดจินตนาการ และเกิดความสัมพันธ์อันดีระหว่างชุมชนอย่างยั่งยืนโดยมีวัด โรงเรียน และห้องสมุด ซึ่งอยู่ในบริเวณเดียวกัน เป็นศูนย์รวมองค์ความรู้ต่างๆของชุมชน

2. เพื่อให้กลุ่มเยาวชนในพื้นที่ที่ร่วมกิจกรรม มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตนเอง ธรรมชาติแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงของสังคม สามารถปฏิบัติตนตามบทบาทและหน้าที่ในฐานะสมาชิกที่ดีของบ้านและชุมชน ตลอดจนอนุรักษ์และพัฒนาสิ่งแวดล้อม ศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรมในชุมชนรอบๆบ้าน ซึ่งในพื้นที่เกาะช้างเป็นชุมชนที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ทั้งจากคนในพื้นที่เองผู้คนจากที่อื่นที่โยกย้ายเข้ามาเพื่อประกอบอาชีพ และนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติ ที่แวะเวียนเข้ามา เยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรมจึงต้องสามารถรู้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของชุมชน และสามารถอยู่ในชุมชนได้อย่างมีความสุข

3. เพื่อให้เยาวชนที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมมีใจรักการอ่าน รู้สึกภาคภูมิใจในตนเองที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการดูแลห้องสมุดชุมชน มีความรู้ความสามารถทำงานให้กับห้องสมุดได้อย่างต่อเนื่องด้วยการจัดตั้งเป็นชมรมห้องสมุดชุมชน ชักชวนเพื่อนและคนในชุมชนให้เข้ามาเป็นสมาชิกห้องสมุดและเล็งเห็นความสำคัญของการอ่านเพื่อพัฒนาสุขภาวะทางปัญญาได้อย่างยั่งยืน โดยมีครูเป็นศูนย์กลางสำคัญในการกระตุ้นให้เกิดกิจกรรมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง

4. เพื่อให้กลุ่มเยาวชนอาสาสมัครที่เข้าร่วมโครงการจากชุมชนเมือง (กรุงเทพมหานคร) ได้รับความสุข ความอิ่มเอมใจ มีความภาคภูมิใจในตนเอง มีนิสัยไม่เห็นแก่ตัว มีนิสัยรักการทำงาน และสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ รับรู้ รับทราบและเข้าใจการเป็นอยู่วิถีชีวิตของกลุ่มคนในท้องที่ต่างจังหวัด จากความสัมพันธ์ที่ดีงามกับผู้อื่น การทำงานร่วมกันกับผู้คนในท้องที่โดยไม่หวังผลตอบแทน

กลุ่มเป้าหมายโครงการ
1. เยาวชนและครูในพื้นที่ชุมชนเกาะช้าง
2. เยาวชนอาสาสมัครจากชุมชนเมือง
3. ชุมชนในพื้นที่เกาะช้าง

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

1. มีห้องสมุดชุมชนพุทธิปัญญา ของชุมชนบ้านบางเบ้า อันเป็นศูนย์รวมทางปัญญา ทั้งของเยาวชน และคนในชุมชน โดยเน้นความมีส่วนร่วมของชุมชน และให้บริการทั้งเยาวชน และทั้งคนในชุมชน ทั้งนี้ ห้องสมุดชุมชน ยังสามารถเป็นศูนย์รวมในด้านปัญญาอย่างอื่น เช่น รวมทำกิจกรรมศึกษาศาสนา โดยร่วมมือกับวัดบางเบ้า หรือกิจกรรมด้านศิลปะ โดยร่วมมือกับองค์กรที่สัมพันธ์กับโรงเรียน

2. เยาวชนในพื้นที่มีความรู้ ความเข้าใจ อันดี เกี่ยวกับตนเอง ธรรมชาติแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงของสังคม สามารถปฏิบัติตนตามบทบาทและหน้าที่ในฐานะสมาชิกที่ดีของบ้านและชุมชน ตลอดจนอนุรักษ์และพัฒนาสิ่งแวดล้อม ศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรมในชุมชนรอบๆบ้านด้วยการอ่านและกิจกรรมที่จัดขึ้น

3. เยาวชนอาสาสมัครจากชุมชนเมือง มีความรู้ความเข้าใจการเป็นอยู่วิถีชีวิตของกลุ่มคนในท้องที่ต่างจังหวัด และสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ จากการทำงานร่วมกันกับผู้อื่น ความสัมพันธ์ที่ดีงามกับผู้อื่น โดยไม่หวังผลตอบแทน

4. ห้องสมุดชุมชนพุทธิปัญญาเป็นแหล่งร่วมองค์ความรู้ของชุมชนชาวเกาะช้างและสามารถพัฒนาตัวเองไปได้อย่างสืบเนื่อง โดยมีครูและเยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรมเป็นผู้ผลักดันให้เป็นห้องสมุดมีชีวิต
5. เยาวชนท้องถิ่นมีความภาคภูมิใจในตนเองที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในการดูแลห้องสมุดชุมชน มีความรู้ความเข้าใจในการจัดระบบห้องสมุด และมีความสามารถทำงานให้กับห้องสมุดได้อย่างต่อเนื่อง

กลวิธี / รูปแบบการจัดกิจกรรม

1. จัดทำห้องสมุดพุทธิปัญญา โดยการปรับปรุงพื้นที่ภายในโรงเรียนให้เป็นห้องสมุดพุทธิปัญญา ด้วยการซ่อมแซม ตกแต่ง ปรับปรุงสภาพแวดล้อม ทั้งภายในละภายนอกให้เหมาะสมแก่การเรียนรู้ จัดหาหนังสือดีที่ส่งเสริมทักษะการเรียนรู้และเปิดโลกทัศน์ ส่งเสริมจริยธรรมอันดีในการอยู่ร่วมกัน และสื่อการเรียนการสอนอื่นๆเช่น วิดีทัศน์ เกมส์ ที่เหมาะสมกับเด็ก เยาวชนและชุมชนไปมอบให้แก่ห้องสมุด

2. ให้กลุ่มเยาวชนอาสาสมัครจากกรุงเทพมหานครและเยาวชนท้องถิ่นได้ร่วมกันมีส่วนในการพัฒนาปรับปรุงห้องสมุดให้เป็นห้องสมุดที่มีชีวิต

3. จัดกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ให้แก่เยาวชนในพื้นที่ โดยเชื่อมโยงความสำคัญของครูกับกิจกรรมที่เกี่ยวกับห้องสมุด เน้นให้เยาวชนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตนเอง ธรรมชาติแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงของสังคม สามารถปฏิบัติตนตามบทบาทและหน้าที่ในฐานะสมาชิกที่ดีของบ้านและชุมชน ตลอดจนอนุรักษ์และพัฒนาสิ่งแวดล้อม ศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรมในชุมชนรอบๆบ้าน จากการรักการอ่านหนังสือ และกิจกรรมแลกเปลี่ยนความคิดและทัศนคติที่ดีต่อกันระหว่างเด็กจากสังคมเมืองและเด็กท้องถิ่น