เพราะเห็นปัญหาคนไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย – ชมัยภร แสงกระจ่าง ผู้เขียน “คุณย่าติดไลน์
คุณยายติดเฟซ
”

นงลักษณ์ : อยากให้ อ.ช่วยเล่าถึงงานเขียนเล่มนี้ การทำงานเป็นมาอย่างไร
อะไรเป็นแรงบันดาลใจ

ชมัยภร :                เล่มนี้เขียนขึ้นเมื่อปีที่แล้วตลอดปี
เขียนตอนนั้นสกุลไทยยังไม่ปิด เขียนลงเป็นตอนๆ สาเหตุที่เขียนเรื่องนี้เพราะว่า
เห็นปัญหาว่าคนไทยสมัยนี้ เริ่มอยู่ในยุคที่เรียกว่าคนแก่ทั้งนั้นเลย อย่าเรียกว่าคนแก่เลย
เดี๋ยวสะเทือนใจ เรียกว่า “สว” (สูงวัย) สว ทั้งหลายเป็นโลกที่เหมือนว่า
สมมติว่าเราเกษียณ เราเปลี่ยนโลกทันที จากที่เรานั่งทำงานกลายเป็นว่าจะต้องมานั่งอยู่บ้านเฉยๆ

ดูต้นไม้ต้นหญ้าไปตามเรื่อง ที่นี้กรุงเทพฯมันก็ไม่ค่อยมีต้นไม้ให้ดู
ลูกหลานก็เลยเอาเครื่องมือเทคโนโลยีสมัยใหม่มาให้ 
ให้ไอแผ็ด ก็สังเกตเอา คือเราเองก็อยากได้เหมือนกัน
เราเองก็เริ่มใช้เครื่องมือพวกนี้ จำได้ว่าครั้งแรกที่ลูกไปซื้อมาให้
เขาใส่เกมมาให้เสร็จเลย เราก็ถามว่า ลงเกมอะไรให้แม่ เขาตอบว่า
ลงเกมที่ผู้หญิงกับคนแก่ชอบเล่นกันให้ มีตั้งแต่ลูกกวาด เลี้ยงสัตว์
ไปจนกระทั่งเกมที่มีผี ซอมบี้ มีหลายเกม
แต่ว่าในที่สุดเราก็ค้นพบว่าเกมที่เล่นยากๆ เกมที่มันกระโดดโลดเต้นเยอะๆแล้วมัน
ดึ๋งๆมากๆ เราทำไม่เป็น เราทำไม่สนุก มันเป็นการเริ่มต้นว่า อ้อ ขนาดเขามองเห็นคนในออฟฟิศของเขาเอง
เขายังพูดว่า เกมที่ผู้หญิงกับคนแก่ชอบเล่น เขาใช้คำนี้เลย
เราก็มองเห็นแล้วว่าคนสูงอายุทั้งหลายก็คงต้องมีอะไรสักอย่างในชีวิตแล้วล่ะ
นั่งมองข้างฝาอย่างเดียวไม่ได้แล้วถ้าหากว่าไม่มีลูกหลานมาคุย

                ทีนี้พอเราเริ่มเล่นได้
คือเราก็ใช้คอมพิวเตอร์อยู่แล้วเพียงแต่ว่าเอาไอแผ็ดเข้ามาเสริมเข้าไปในชีวิตอีก
วันหนึ่งก็ไปบรรยาย ก็ไปเจออาจารย์คนหนึ่งซึ่งเป็นวิทยากรด้วย
แต่เขาเป็นวัยหนุ่มสาว เขามีลูกเล็กอยู่ชั้น ป.
1 เขาก็กระซิบกระซาบบอกว่า คุณแม่ของเขา ไม่ค่อยเหมือนเดิมเลยตั้งแต่มีไอแผ็ด
มีเกมเล่น พูดกับหลานที่เป็นลูกสาวของเขาน้อยลง เขาก็พูดปัญหานี้ขึ้นมา เราก็เลยมานั่งนึกว่า นี่มันก็เป็นประเด็นใหม่นะ
เป็นประเด็นที่เราจะสามารถเขียนถึงความขัดแย้งนี้ได้ ว่าทำไมคุณย่าคุณยายถึงสนใจลูกหลานน้อยลง
หรือในขณะเดียวกันถ้าลูกหลานได้เล่นก็อาจจะสนใจคุณย่าคุณยายน้อยลง
ก็เลยคิดผูกโครงเรื่องขึ้นมา ก็แน่นอนที่สุดเราก็ต้องให้คนแก่
คุณย่าหรือคุณยายก็ได้เป็นหัวใจสำคัญ แต่เนื่องจากเป็นเรื่องเด็ก
ถ้าเราเล่าผ่านคนแก่เด็กก็จะเบื่อตั้งแต่เริ่มเลย ก็เลยต้องเล่าผ่านหลาน

เราตั้งจะเขียนเรื่องคนแก่แต่เราต้องเล่าผ่านหลาน
เพราะฉะนั้นก็ต้องเป็นเรื่องของคนแก่กับเด็ก การเล่าผ่านหลานก็ทำให้มันมีชีวิตชีวา
แล้วมันเข้าไปสอดคล้องกับความรู้สึกของผู้อ่านที่เป็นคนอ่อนเยาว์  ให้หลานที่ซึ่งเป็นหลานที่ดี ไม่เล่น เพราะมีคุณแม่คุมไม่ให้คุณหลานเล่น
คุณย่าจำเป็นต้องเล่นเพราะว่าคุณย่าเสียคุณปู่
คุณปู่จากไปก่อนคุณย่าอยู่คนเดียวเหงาไม่มีอะไรทำ
ลูกชายก็เลยซื้อไอแผ็ดมาให้เล่นเกม พอคุณย่าติดสิ่งเหล่านี้
คุณย่ายังทำเองไม่ได้คนที่คุณย่าจะเรียกใช้มากที่สุดก็คือหลาน แต่ว่าเรื่องนี้คุณแม่เขาก็คุมหลานด้วย
เขาไม่ให้เล่น เขาให้ไปช่วยคุณย่า พูดง่ายๆคือ
เด็กสมัยนี้เขาจะมีความรู้เรื่องเทคโนโลยีสูงกว่า เขาจะไวกว่า
แป้บเดียวเขาก็สามารถทำได้ แต่ว่าเขาเล่นเป็นของตัวเองไม่ได้
เปิดเฟซบุ๊กเป็นของตัวเองไม่ได้ เพราะคุณแม่เขาค่อนข้างเข้มงวด

นงลักษณ์ : ชอบที่อาจารย์สร้างพล็อตตรงที่ไม่ให้เด็กคนนี้ได้เล่น มันมีความน่าสนใจ
แล้วมันทำให้เกิดจุดร่วมของตัวละครระหว่างคนที่ได้เครื่องมือมาแล้วอยากเล่น
กับตัวเด็กที่ไม่มีเครื่องมือแล้วก็อยากเล่น

ชมัยภร : มันก็เลยกลายเป็นคุณหลานไม่ได้เล่น
แต่คุณหลานต้องไปเล่นกับคุณย่าหรือว่าไปเล่นให้คุณย่า ไม่ใช่เล่นให้ตัวเองด้วยนะ
คือไม่สามารถจะมีเพื่อนเป็นของตัวเองได้ แต่ต้องเป็นเพื่อนของคุณย่า
เพราะฉะนั้นการเล่าเรื่องมันจึงต้องผ่านหลานทั้งหมด
เมื่อมันผ่านหลานทั้งหมดมุมบางมุมมันจะหายไปมุมอะไรที่มันซีเรียสจริงจังจะหายไป
เพราะว่าหลานเป็นคนเล่า เพราะฉะนั้นเพื่อนของคุณย่ามีปัญหาอะไรลึกซึ้งก็ต้องแอบไว้
คือเล่า แต่ว่ามันต้องให้รู้บ้างไม่รู้บ้าง เพราะถ้ารู้ทั้งหมดมันเป็นไปไม่ได้

นงลักษณ์ : มันมีตัวกลางที่ถูกกั๊กไว้

ชมัยภร : ใช่
มันจะถูกกั๊กไว้เพราะว่าเขาเป็นเด็ก และตัวละครอีกตัวที่เป็นตัวเชื่อมก็คือตัวที่เป็นคนดูแลคุณย่า
คือตัวคนที่ดูแลคุณย่าปกติแล้ว ถ้าเป็นตัวที่นิ่งๆ แบบคนใช้ทั่วไปก็จะไม่มีสีสัน ก็เลยสร้างขึ้นมาให้มีสีสัน
โดยให้ตัวละครที่เป็นผู้ดูแลคุณย่าเป็นผู้หญิงแต่ชื่อเป็นผู้ชาย

นงลักษณ์ : ทำไมถึงเป็นแบบนั้น

ชมัยภร : มันเป็นการสร้างบุคลิกลักษณะให้คนจำได้
ล้อเลียนอำเภอไปในตัวว่า เวลาแจ้งเกิดชอบเขียนผิด
เพราะฉะนั้นคนที่เป็นผู้ชายชื่อเป็นผู้หญิง แต่คนที่เป็นผู้หญิงชื่อเป็นผู้ชาย มันสลับกัน
เรื่องนี้ก็เลยสร้างให้ตัวละครตัวนี้เป็นที่จดจำ เลยสร้างให้ชื่อพี่สมศักดิ์
หรือยายสมศักดิ์ของคุณย่า ตัวละครเอกสามตัวก็จะมีพฤติกรรมสะท้อนให้เห็นว่า
ในสังคมเทคโนโลยี หรือสังคมสมัยใหม่ที่มีคนแก่กับเด็กอยู่ด้วยกัน
เขาจะอยู่กันได้อย่างไร แล้วคนที่จะเชื่อมก็จะเป็นคนอีกระดับหนึ่งเขาก็มีความสามารถเท่าๆกับเรา
ก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร เอาไว้ให้มีรสชาติมีสีสันตลกสนุกสนานอะไรทำนองนี้
คนนี้ก็จะทำให้ทุกอย่างมันขำได้
ให้เด็กไม่ซีเรียส อ่านไปก็พี่สมศักดิ์ตลกดีอะไรแบบนี้

นงลักษณ์ : ที่เขียนทั้งหมดวางไว้กี่บทอย่างไรบ้าง

ชมัยภร : ถ้าหากว่าเป็นนวนิยายยาว
เรื่องนี้จะยาวประมาณยี่สิบกว่าบท แต่เนื่องจากเป็นเรื่องเด็ก ก็เลยตัดบทเหมือนว่าบทยาวของนวนิยาย
ตัดเป็นสองบท คือเรื่องเด็กเขียนแค่สามหน้าก็จบหนึ่งบท
เพราะว่าเด็กเขาไม่ทนที่จะอ่านยาว มันก็เลยเหมือนว่ามีตั้งสี่สิบบท
ห้าสิบบทเลยเหรอ แต่จริงๆ แล้วมันมีแค่เท่ากับยี่สิบห้าบทเท่านั้น
มันดูเหมือนยาวแต่ว่าแต่ละบทสั้นนิดเดียว พอเด็กอ่านเต็มอิ่มก็พอดีจบบท
แล้วมันก็ขึ้นใหม่เรื่องมันก็ดำเนินต่อไปเรื่อยๆ

                เรื่องนี้มันไม่ได้แสดงให้เห็นถึงค่าของเครื่องมือสมัยใหม่อย่างเดียว
มันแสดงให้เห็นถึงโทษด้วย แสดงทั้งสองด้าน

เพราะว่าคุณย่าซึ่งมีลูกคนหนึ่งซื้อไอแผ็ดให้
แต่มีลูกอีกคนหนึ่งซึ่งแต่งงานกับฝรั่งแต่คนนั้นไม่ชอบเครื่องมือพวกนี้มาก
แต่งงานกับฝรั่งยังไม่ชอบเลย แล้วยังแพ้ด้วย
คนที่เล่นคอมพิวเตอร์แล้วเป็นผื่นนี่คือเรื่องจริง
เพราะฉะนั้นคนนั้นเขาก็จะไม่เล่นเลย ลูกสาวคนที่แต่งงานกับฝรั่งไปอยู่แม่ฮ่องสอน
เวลากลับมาเมืองไทยจะไปอยู่แม่ฮ่องสอน ไปอยู่ในป่าเลย เพราะฉะนั้นคุณย่าเมื่อติดมากๆเข้า
ลูกชายก็ส่งไปอยู่กับลูกสาว คือทำให้มีการเปลี่ยนแปลง
และทำให้คุณย่าไปมองเห็นว่าโลกที่มันเป็นธรรมชาติมันก็น่าสนใจ  ต้องใช้เครื่องมือเทคโนโลยีพวกนี้แต่พอดี
คุณย่าเรียนรู้เองโดยอัตโนมัติว่าไปอยู่ที่โน่นใช้ไม่ได้ เขาก็ได้เรียนรู้ว่าเดือนหนึ่งที่อยู่ที่นี่มันมีความหมายมาก
กลับมาแล้วจะใช้ก็ได้หรือไม่ใช้ก็ได้ แต่ถ้าอยู่ตลอดมันต้องใช้อย่างเดียว
มันต้องเล่นอย่างเดียว เพราะฉะนั้นก็จะสร้างกระบวนไว้แบบนี้ แต่ในขณะเดียวกัน
เนื่องจากมันเป็นเรื่องของคนสูงวัย คนสูงวัยเขามีปัญหาของตัวเอง คือตามหาเพื่อนบางคนในไลน์ในเฟซวุ่นวายโกลาหลอลม่าน
และคุณเพื่อนทั้งหลายก็มีปัญหาของตัวเอง มีคนไม่สบาย มีคนมีปัญหาชีวิตอะไรแบบนี้
แต่ว่าของคนสูงวัยเราจะเล่าซ่อนๆ
ให้เด็กเห็นว่ามันมีปัญหาอยู่แต่เด็กไม่รู้ในรายละเอียดแต่เด็กมีความสะเทือนใจอยู่

นงลักษณ์ : อย่างที่บอกว่าเป็นเรื่องของสังคมสูงวัย ของสังคมไทยด้วย แล้วได้วางไว้ไหมว่าเรื่องต่อๆ
ไปจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับผู้สูงวัยเยอะขึ้น

ชมัยภร : มันเป็นไปตามธรรมชาติ
คือเวลาที่เขียนหนังสือก็จะเขียนไปตามประสบการณ์ที่เราอย่างนำเสนอ
ถ้าสมมติว่าอีกสักเดือนหนึ่งข้างหน้าเกิดไปเจอแต่หนุ่มสาวล้วนๆ และเจอเด็กล้วนๆ
ก็อาจจะไม่มีคนแก่ก็ได้ มันแล้วแต่ประสบการณ์ที่เข้ามาแล้วเราเห็นประเด็น
ถ้าเราเห็นประเด็นคนสูงวัยมาก อย่างที่เขียนคุณย่าติดไลน์ คุณยายติดเฟซ ตามหลังสายาห์สาละวน
ก็ถือว่าเรื่องที่เป็นผู้สูงวัยก็ติดกันสองเล่มแล้ว คราวหน้าจริงๆ แล้วเป็นเรื่องที่กำลังเขียนอยู่ในนิตยสารขวัญเรือนก็เป็นเรื่องการเล่าถึงสภาพชีวิตของคนคนหนึ่ง
ซึ่งมีทั้งความตื่นเต้น มีทั้งโลกที่หมุนไป ละโลกที่หยุดหมุน เรื่องนี้ตั้งชื่อว่า
โลกหยุดหมุน
กำลังเขียนอยู่ได้ย้อนระลึกเยอะอยู่ มีตั้งแต่เด็กจนถึงสูงวัยเลย เป็นวิถีชีวิตที่ครบถ้วน
ส่วนอีกเรื่องหนึ่งซึ่งตั้งใจว่าเมื่อเขียน เมื่อโลกหยุดหมุนเสร็จ
จะต้องเขียนต่อให้เสร็จก็คือ ลานเพชรพร่าง
เขียนถึงคนหนุ่มสาวซึ่งไม่มีคนแก่ ตั้งใจเขียนถึงคนหนุ่มสาวเลย
เขียนค้างอยู่แล้วมีคนมาถามตลอดว่าตัวละครตัวนั้นเป็นใคร ทำลึกลับนิดหน่อยไม่รู้ว่าเป็นใคร
นักอ่านทั้งหลายก็ตื่นเต้นกันใหญ่

 



นงลักษณ์ : โดยส่วนใหญ่ผู้อ่านจะได้อ่านงานของอาจารย์ผ่านทางนิตยสารรายปักษ์
รายสัปดาห์ก่อน
อย่างที่ทราบกันว่าบางเล่มที่เขียนให้ประจำก็ปิดตัวไป
มีผลกระทบกับความสดใหม่ในการเขียนหรือไม่

ชมัยภร : การที่เราเขียนลงนิตยสารมันเป็นการทำงานที่ถูกกรอบเวลาบังคับมีแรงบันดาลใจที่ถูกกระตุ้นโดยเสียงของบรรณาธิการ
มันทำให้เราสามารถทำงานได้ มันเหมือนกับเวลาที่เรากำลังคิดอยู่
พอเสียงบรรณาธิการมามันเหมือนมีการรวมตัวของสมาธิเลย แล้วก็ออกมาเป็นตอนได้
มันเป็นกลวิธีในการทำงาน แต่เมื่อถึงที่สุดแล้วเมื่อจะรวมเล่มมันก็ต้องกลับมาอ่านใหม่ทั้งหมด
เรื่องคุณย่าติดไลน์ คุณยายติดเฟซ
บรรณาธิการทำงานหนักมาก บรรณาธิการติงเยอะมาก ตรงไหนที่เราเห็นว่ามันตัดได้เราจะจัดการเลย
เพราะเมื่อรวมเล่มแล้วคนอ่านจะไม่เหมือนคนอ่านรายสัปดาห์
คนอ่านรายสัปดาห์จะอ่านไปเรื่อยๆ อ่านด้วยความสนุก แต่พอเวลารวมเล่มมันจะต่อกันเลย
เพราะฉะนั้นบรรณาธิการก็จะทำงานหนัก เขาจะเห็นทะลุเลยว่าตรงไหนมันหายไป จริงๆ บางทีเวลารวมเล่มตัดทิ้งไปทั้งบท

นงลักษณ์ : เล่มนี้มีแก้เยอะไหม

ชมัยภร : เรื่องนี้แก้เยอะ
เพราะมีการผูกปมเอาไว้แล้วปมมันซับซ้อนเกินเรื่องเด็ก ก็ต้องแกะปมออก

นงลักษณ์ : ก่อนหน้านี้ได้พูดว่าตัวละครในเรื่องต้องไปอยู่ในป่า
และถ้าใครได้ติดตามเฟซบุ๊กของอาจารย์ก็จะเห็นเรื่องเกี่ยวกับเมืองต้นไม้ อยากให้เล่าว่า เมืองต้นไม้คืออะไร

ชมัยภร : คือสามีเป็นคนทะเล ปลูกต้นไม้ไม่เป็น ปลูกต้นไม้ไม่เป็นหมายความว่า
ปลูกผลไม้ ทำสวน หรือปลูกอะไรที่ค้าขายได้ ทำไม่เป็น ถ้าจะให้ปลูกสวนเงาะ
สวนมังคุด สวนทุเรียน เราก็คงจะลงทุนฟรีไปเลย แต่ว่าสามีเป็นคนชอบป่า
เพราะฉะนั้นให้ปลูกป่าดีที่สุด ซึ่งเขาก็รู้สึกสนุกกับการทำแบบนี้
ก็คือมีที่ดินแปลงหนึ่ง ที่แปลงนี้เป็นแปลงที่เป็นไร่ข้าวโพด แต่ว่าสามีเอาต้นไม้อะไรก็ได้ไปจิ้มไว้
10 ปีผ่านไปมันโต
มันโตเป็นป่า  โดยที่เราไม่ได้ใส่ยา
ไม่ได้ใส่ปุ๋ย เพราะฉะนั้นในป่านั้นมันก็เป็นป่าที่บริสุทธิ์ไม่มีสารเคมี
ในขณะที่รอบๆ เราเป็นสวนลำไย ซึ่งแน่นอนเขาก็ต้องมีใส่ปุ๋ย ใส่ยาฆ่าแมลง แต่สวนเราไม่มี
แต่มันไม่มีสัตว์ป่านะ คือมันเป็นป่าที่มันถูกล้อมด้วยสวน เป็นป่าจริงๆ
แล้วก็เป็นแรงบันดาลใจสำหรับคนที่ไม่รู้จักป่า พาเด็กนักศึกษาบ้าง
เพื่อนนักเขียนบ้างไปดู เพื่อให้รู้ว่าถ้าเราปลูกเองมันเป็นแบบนี้นะ
เราปลูกตามมีตามเกิด
ใครที่สนใจก็ไปคุยกันในเพจเมืองต้นไม้ได้


“หน้าที่ของเราคืออุดรอยรั่วหรือช่องโหว่ของงานเขียน” – กว่าชื่น บางคมบาง
บรรณาธิการสำนักพิมพ์คมบาง

นงลักษณ์ : อาจารย์บอกไว้ว่าเป็นความกล้าหาญในการก้าวข้ามความเป็นแม่ลูก
ที่มาดูแลงานตรงนี้ให้

กว่าชื่น : แรกเลยกับการดูงานเขียนของคุณชมัยภร
แรกสุดเราจะไม่กล้า แต่เราจะบอก คือจะบอกทุกบรรทัดเลย เช่น
ตอนนั้นจำได้ว่าเป็นเรื่องคุณปู่แว่นตาโต
แล้วก็จะมีเรื่อง ป้าจ๋า โก้ ติ๊ดตี่ น่ะจ้ะ
เป็นยุคแรกของการเป็นบรรณาธิการงาน เวลาข้อบกพร่องอะไร เราจะเขียนไว้
แล้วก็เอาไปถาม ทีนี้มันเยอะ หมายความว่าอย่างเช่น เรื่อง
ป้าจ๋า โก้ ติ๊ดตี่ น่ะจ้ะ
มันมีเรื่องที่ตัวละครดูนก
แต่ว่าคุณชมัยภรไม่ใช่นักดูนก
เวลาการอธิบายนกก็เลยอธิบายบางจุดที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในการอธิบายนก เช่น
ถ้าจะบอกว่านกชนิดนี้จุดเด่นของมันคือหัวแดง แต่คุณชมัยภรอาจจะไปอธิบายว่า
ปีกสีน้ำตาล ซึ่งนักดูนกเขาไม่อธิบายแบบนั้นกัน สำหรับนกชนิดนี้ จุดเด่นคือหัวแดง
เราต้องพูดถึงหัวแดงเป็นอันดับแรก มันก็จะเป็นสิ่งที่เราจะคอยพยายามบอกว่า
มันต้องแบบนี้นะ คุณชมัยภรก็เกิดความงุนงงว่า จู้จี้จังเลยกับเรื่องนก
เธอก็แก้ไปสิ มันก็เหมือนเป็นใบอนุญาตว่าต่อไปเธอแก้ได้แล้วนะ
จากการที่เราไม่กล้าแก้ก็เรียนรู้ว่าเขาให้เราแก้ได้

                หรือว่านิยายบางเรื่องเราอ่านแล้วเราก็รู้สึกกว่า
ตรงนี้มันไม่ใช่ ขับรถกันยังไงมันถึงตกเขาได้ ทำไมมันถึงตกเขา คือจริงจังมากนะ
จะวาดรูปเลยขับรถชิดซ้าย แล้วมันวนทางนี้ ทำไมมันตกเขา
ถ้ามันชนแบบนี้มันต้องไม่ตกเขา เราก็ตั้งคำถาม แล้วในที่สุดคุณชมัยภรก็เฉลยว่า
เราให้มันขับรถชิดขวา คือเขาไม่ใช่คนขับรถ
เวลาที่เขียนเขาก็เขียนไปตามความเคยชินว่ารถอยู่ข้างขวา มันก็เป็นจุดเล็กๆ
ที่นักอ่านจะไม่สังเกต เพราะว่าความสำคัญตรงนี้คือตัวละครมันขับรถแล้วตกเขา
แต่ในฐานะบรรณาธิการคือ ขับรถไปทางนี้ เลี้ยวไปทางนี้ โดนชนแบบนี้
แล้วจะตกเขาได้ยังไง นักอ่านจะไม่ได้สังเกตเพราะจิตเขาไม่ได้อยู่ตรงนั้น
แต่เราจะสงสัยทุกเรื่อง ทำไมไปอย่างนี้ แล้วทำไมตัวละครนี้ถึงไปแบบนี้
คือมันยิบย่อย

 นงลักษณ์ : ก็ต้องหาข้อมูลประกอบใช่ไหม

กว่าชื่น : ใช่ เราเอาหนังสือคู่มือดูนกมาเปิดนะ สมมติว่าในเรื่องนั้นตัวละครพูดถึงอะไร
เรื่องอะไร กิจกรรมอะไรในนั้น เราจะต้องลงไปดูในรายละเอียดว่าเขาทำกันแบบนี้ใช่ไหม
อย่างคุณย่าติดไลน์ คุณยายติดเฟซ
มันจะมีบางจุดที่ไม่ใช่
อย่างปกติเราเรียก ติดเฟซ เล่นเฟซ แต่ว่าในการตีพิมพ์เป็นเล่ม เราปรับนะ
เราไม่ได้ใช้คำว่า “เล่นเฟซ” ไปทุกคำ เราต้องพูดเต็มว่า เฟซบุ๊ก
เพราะมันอยู่ในงานพิมพ์ อันนี้ก็เป็นเรื่องหนึ่ง อีกเรื่องก็คือ
เรื่องรายละเอียดในงาน เช่น จะมีตัวละครในตอนที่คุณย่าเริ่มผูกสัมพันในเฟซบุ๊ก
ในไลน์ มันจะเริ่มจากคุณย่าเล่นเกมก่อน คุณชมัยภรก็จะผูกเรื่องให้คุณย่าเล่นเกม
เพื่อจะไปพบเพื่อนเก่า ซึ่งในความเป็นจริงเราเปิดเกมตามเลยนะ
ในเรื่องเขียนถึงเกมอะไรเราเปิดเลย ไหน โหลดเพื่อนตรงไหน
คือในงานเขียนของคุณชมัยภรค้นหาชื่อเพื่อนจากเกมในทีแรกที่เขียน  เราก็หาไม่เจอ เปิดอีกเกม ก็ไม่ใช่
มันเพิ่มเพื่อนจากเกมไม่ได้ ในที่สุดเราก็ได้ข้อสรุปว่า
มันเพิ่มเพื่อนจากเกมไม่ได้ มันต้องเพิ่มจากเฟซบุ๊กก่อน
มันเป็นไปไม่ได้ที่เราจะเพิ่มเพื่อนจากเกม
เพราะมันเป็นนโยบายของเกมว่าต้องรักษาความเป็นส่วนตัวของคนเล่นเกม
สุดท้ายเราก็ต้องหา วิธีให้เป็นไปตามพล็อตที่คุณชมัยภรเขียนว่า
ตัวละครต้องหาเพื่อนจากการเล่นเกม คือหมายความว่าคุณชมัยภรคงตั้งโจทย์ว่า
จากเกมพัฒนาเป็นไลน์และเฟซบุ๊ก แต่มันพัฒนาไปไม่ได้เพราะมันย้อน เราต้องหาทางให้ตัวละครมันไปให้ได้ตามพล็อตที่คุณชมัยภรตั้งไว้
เพราะไม่ฉะนั้นเรื่องมันจะดำเนินไปไม่ได้

                หรือว่าเรื่องภาษา
ตัวละครบางตัวบางครั้งใช้ภาษาที่ไม่ใช่ตัวละครนั้น อย่างที่อาจารย์สุวรรณาบอกว่า
ตัวละครเป็นเด็ก แต่คือคุณชมัยภร อย่างที่บอกบางครั้งตัวละครใช้ภาษาที่ไม่ใช่
น้ำอุ่น (ชื่อตัวละครเด็กในคุณย่าติดไลน์ คุณยายติดเฟซ) น้ำอุ่นไม่มีวันพูดแบบนี้
แต่คุณชมัยภรเขียนให้น้ำอุ่นพูด เนื่องจากว่าตัวละครเล่าเรื่องผ่านน้ำอุ่น
แม้กระทั่งความคิดในความเป็นจริงคือมันคือความคิดผู้เขียน
เราต้องพยายามปรับให้เป็นน้ำอุ่นให้ได้
ซึ่งขนาดปรับแล้วก็ยังถูกผู้อ่านที่รู้ทันบอกว่านี่คือน้ำเสียงของคุณชมัยภร
เวลาที่เราเป็นบรรณาธิการเราต้องคอยปรับให้มันเสมอให้ได้ บางจุดต้องปรับสำนวน
บางจุดตัดสำนวนพูดออกเลย เพราะว่ามันไม่ใช่น้ำอุ่นแน่ๆ แต่เป็นคุณชมัยภร
แต่ว่าจุดแบบนี้บางทีก็ไม่ได้แจ้งผู้เขียน ต้องบอกไว้ก่อน
เพราะมันละเอียดมันยิบย่อย แต่ถ้าเป็นจุดใหญ่ๆ จะบอกก่อน อย่างจุดเรื่องเล่นเกม
มาเล่นเฟซบุ๊ก เพิ่มเพื่อน อะไรพวกนี้ เราจะบอกก่อนว่ามันทำไมได้นะแบบนี้มันต้องทำอีกแบบหนึ่ง
สมมติถามไปสามวันแล้วลงไม่จบก็จะบอกว่าถ้าอย่างนั้นจะแก้ให้แล้วลองไปอ่าน
คือบางจุดผู้เขียนก็จะรู้สึกว่าต้องใช้เวลาในการแก้ เราก็จะแก้ให้
แล้วส่งให้ดูว่าเราแก้แบบนี้เอาไหม หรือว่าบางจุดเปิดเรื่องไว้ว่าตัวละครตัวนี้จะต้องเป็นอัมพาต
แต่มีอีกฉากหนึ่งที่เดินได้ ซึ่งบางทีมันหลุด
คือเขาอาจจะผูกไว้ว่าให้ป่วยแต่ลืมไปว่าเขียนไว้ว่าเป็นอัมพาต เราก็ต้องไปหา
ถ้าไม่มีแปลว่าเราแก้นะตรงนี้ แต่ถ้าบางจุดเขามีจริงๆ
เขียนไว้แต่ลืมว่าเขียนไว้ก็มี ผ่านไปสามตอนกลับไปเป็นแบบแรกอีกก็มี คือรายละเอียดแบบนี้มันยิบย่อย
การทำงานเป็นบรรณาธิการคือการที่จะต้องไล่ตามตัวละครทุกตัวว่ามันมีพัฒนาการไปทางไหน
แล้วก็จะต้องตามพล็อตให้ได้ บางทีต้องยอมรับว่าบางตัวละครเปิดมาแล้วถูกทิ้ง
เพราะว่าการเขียนงานเป็นตอนมันเป็นแบบนั้น บางทีเปิดมาแล้วก็ไม่รู้ว่าจะให้มันสำคัญตรงไหน
อย่างเช่นตัวละครที่เป็นเพื่อนของน้ำอุ่นจะมีหลายช่วงที่มีชื่อนั้นชื่อนี้
ทำไมน้ำอุ่นมีเพื่อนเยอะแต่ว่าถูกทิ้ง น้ำอุ่นตอนเริ่มต้นเพื่อนจะชื่อหนึ่ง
เราก็เอาเพื่อนตอนท้าย กับเพื่อนตอนต้นมารวมเป็นเพื่อนเดียวกัน
ไม่อย่างนั้นน้ำอุ่นจะมีเพื่อนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งโผล่มาแล้วก็หายไป

 


 นงลักษณ์ : แต่ก่อนจะพิมพ์จริงก็จะให้คุณชมัยภรอ่านอีกรอบหนึ่ง

กว่าชื่น : ก็จะบอกก่อน ตรงไหนที่แก้ก็จะต้องบอก

นงลักษณ์ : มีแก้กลับคืนมาไหมว่าแก้ทำไม แบบนี้ก็ดีแล้ว

กว่าชื่น : ไม่มี เขาก็จะบอกว่า แก้ไปเถอะ ถ้าเราบ่นเยอะๆ
เขาก็จะบอกว่า เป็นหน้าที่บรรณาธิการก็แก้ไปสิ นี่คือหมายความว่าในตอนหลังแล้วนะ
ในตอนที่ไว้ใจฝีมือกันแล้ว แต่ก่อนหน้านั้นก็เคยมีช่วงที่งอนกันเล็กน้อยว่า
เขียนอะไรก็ไม่ดี มาแก้เยอะแยะไปหมดอะไรแบบนี้ก็มี

นงลักษณ์ : ซึ่งคุณชมัยภรก็เรียนรู้กระบวนการเป็นบรรณาธิการของคุณแล้ว

กว่าชื่น : ถูกต้อง คือต่างฝ่ายต่างเรียนรู้กัน
เพราะว่าเมื่อก่อนเวลาเราแก้เราก็นิสัยไม่ดี
เราก็เขียนตัวแดงไปทั้งหน้าไว้ในต้นฉบับ ก็ดูไม่ดี
ดูเหมือนแบบเขียนอะไรก็ไม่ดีเหรอ

นงลักษณ์ : เหมือนไปทำให้เขารู้สึกไม่ดี

กว่าชื่น : อารมณ์มันเหมือนแบบอย่างให้เห็นอะไรชัดๆ
มันเลยแดงไปหมด เราก็เข้าใจนะ แต่ตอนที่เขียนทีแรกมันคิดอีกแบบหนึ่ง
เราคิดว่าเดี๋ยวไม่เห็น แต่พอผ่านไปแล้วมีเหตุการณ์งอนเกิดขึ้นแล้ว ก็เลยคิดได้ว่า
มันก็แดงไปจริงๆนะ ตอนหลังก็จะปรับด้วยการแก้ที่
Word เลย (แก้ในไฟล์ต้นฉบับที่เป็น Microsoft Word) แต่ว่าการแก้ word เลยต้องคุยกันแล้วนะ
จุดใหญ่จะแก้ที่
Word จุดใหญ่อย่างเช่นเรื่องดาวน์โหลดโปรแกรม
หรือว่าเรื่องตัวละครจะแก้ใน
word แต่จะบอก บางงานจะแก้ส่งให้เขาแล้ว เขาก็จะแก้อีกก็มี
เพราะว่าเราอาจจะไปผูกตัวละครให้เขาใหม่ เขาก็ไม่เอา เขาก็จะผูกตัวละครเดิม
แต่บางทีปรับแล้ว แต่บังเอิญมีบทอื่นที่มันไปสัมพันธ์กัน คือไปปรับตรงนี้
แต่ไปกระทบกับอีกบทหนึ่ง บรรณาธิการก็จะมาไล่ดูว่าที่ปรับไป
ไปกระทบกับตรงไหนหรือเปล่า 
ไดอะล็อกบางอันมันไปผูกพันกับอีกบทหนึ่ง เราก็ต้องตามไปปรับ
คือเราก็ต้องยึดสิ่งที่เขาแก้ คอนเซ็ปต์นักเขียน ว่าเขาจะแก้ตรงนี้
เราก็ต้องยึดว่าเดี๋ยวเขาจะแก้แบบนี้นะ เดี๋ยวเราตามไปแก้อีกสามบท
อีกสี่บทที่เขาลืมไปแล้วว่ามันต่อเนื่องกัน หน้าที่บรรณาธิการก็เป็นแบบนี้

นงลักษณ์ : คุณกว่าชื่นให้ภาพได้น่าสนใจว่ามันมีรายละเอียดเยอะมาก
ใครที่อยากเป็นบรรณาธิการ ก็เอาหลังตรงนี้ไปปรับใช้ได้

กว่าชื่น : ตอนนี้กำลังมีประเด็นกันอยู่ว่าอาชีพบรรณาธิการกำลังจะหายไป  บรรณาธิการคือผู้อยู่เบื้องหลัง
ถ้างานเล่มนั้นดี นักเขียนได้คำชม
แต่ถ้างานเล่มนั้นเกิดมีข้อผิดพลาดความผิดจะอยู่ที่บรรณาธิการทันที เช่น
บรรณาธิการปล่อยออกมาได้ยังไง เราจะเคยได้ยินแบบนี้ แต่ถ้าเล่มนั้นดีมากๆ จริงๆ แล้วเบื้องหลังจะเป็นอย่างไรก็ไม่รู้แต่จะได้ยินว่า
นักเขียนเล่มนี้ดีมากเลย คนแปลเล่มนี้ดีมากเลย
แต่ว่าขั้นตอนระหว่างนั้นอย่างเช่นนักแปลบางคน
การทำงานกับบรรณาธิการตบตีงานกันน่าดูก็ต้องยอมรับ ใช่ไหมคะ

นงลักษณ์ : เคยไปฟัง นักแปลเขียนกำกับไว้เลยว่าห้ามแก้แม้แต่คำเดียว

กว่าชื่น : ความเป็นจริงบรรณาธิการอาจจะเห็นอะไรที่นักแปลไม่เห็น
หรือที่นักเขียนก็ไม่เห็น บรรณาธิการเขาจะเห็นช่องโหว่ บางครั้งก็อาจจะเป็นภาษา
บางครั้งก็อาจจะเป็นความละเมียดละไม ซึ่งคนเขียนบางทีอ่านของตัวเองก็อาจจะไม่เห็น
หรือคนแปลอ่านของตัวเองก็อาจจะไม่เห็น  อาชีพบรรณาธิการ เป็นอาชีพผู้อยู่เบื้องหลัง
ผู้สร้างสรรค์ แต่ไม่ค่อยได้รับคำชมเท่าไร
ถ้าได้รับคำชมก็แปลว่าคุณเป็นบรรณาธิการที่ใหญ่พอสมควร
ระดับบรรณาธิการนิตยสารใหญ่ๆ อะไรแบบนี้

นงลักษณ์ : เกิดอยู่ในบ้านที่มีแม่เป็นนักเขียน
พ่อเป็นนักแปลแบบนี้ หนังสือที่บ้านคืออ่านโดยอัตโนมัติเลยใช่ไหม

กว่าชื่น : ไม่ เป็นเด็กดื้อ เป็นเด็กไม่ชอบอ่าน

นงลักษณ์ : คุณมาเริ่มอ่านตอนไหน

กว่าชื่น : เด็กๆ ก็อ่าน เช่น เจ้าชายแคสเปี้ยน ประมาณ
ทอม ซอว์เยอร์ ผจญภัย เราจะถูกพ่อบอกให้อ่าน เราก็อ่านนั่นแหละ
จำได้ว่าตอนเด็กๆ พ่อพูดว่า ไม่ต้องเรียนมันหรอกหนังสือน่ะ
อ่านหนังสือบนชั้นนี้ให้หมดก็พอ ในใจเราเถียงชะมัดเลย
จะไม่ให้เรียนหนังสือแล้วให้มาอ่านหนังสือ แต่เราก็เป็นคนที่คุ้นเคยกับหนังสือ
คุ้นเคยกับการใช้ภาษา เพราะว่ามันเป็นเรื่องที่คนในบ้านคุยกัน เช่น
นั่งดูข่าวอยู่ในบ้านกันสามคน ภาษาข่าวขึ้นมาแบบฮาๆ เราจะรีบถกกันเลย
ว่าทำไมใช้ภาษาแบบนี้ คือมันเป็นธรรมชาติของครอบครัว
แต่ถ้าถามว่าเราเป็นนักอ่านตัวยงไหม ไม่ ต้องยอมรับว่าไม่ แต่เราอ่านหนังสือไหม
เราอ่าน แต่ด้วยการที่อยู่ในครอบครัวแบบนี้เราจะรู้จักวิจารณ์
คือเราจะรู้ว่าอันนี้มันไม่ดียังไง มันเป็นการเรียนรู้ลักษณะคุณค่างานวรรณกรรม
เราก็เลยเป็นคนเลือกอ่าน
โดยนิสัยไม่ดีคือไม่ได้อ่านทุกเล่ม

นงลักษณ์ : ในฐานะที่คุณกว่าชื่นเป็นบรรณาธิการ
และเป็นลูกของนักเขียนด้วย ดูงานคุณชมัยภรมาเกือบทุกเล่ม ได้เห็นพัฒนาการอะไรในงานของคุณชมัยภรบ้าง

กว่าชื่น : ถ้าถามว่างานของคุณชมัยภร
ถ้าเป็นนิยายก็เป็นไปตามวัยของคุณชมัยภร คือมันแก่ลง ตัวละครมันแก่ลงๆ จริงนะ
อย่างเมื่อก่อนอ่านจดหมายถึงดวงดาว
มันก็จะเป็นตัวละครวัยรุ่น รังนกบนปลายไม้ บันทึกจากลูกผู้ชาย หน้าต่างสีชมพู
ประตูสีฟ้า
มันหรรษา มันวัยรุ่น มีความรักแก้มแดงอะไรแบบนั้น
มันยังมีความรักแบบใสๆ แบบเด็กๆ แบบวัยรุ่นให้เราอ่านแล้วเราก็จั๊กจี้ไป
แต่พอเริ่มในช่วงกลาง งานจะหนักขึ้น ไม่ใช่เฉพาะบรรณาธิการ นักอ่านก็พูด
นักอ่านจะบอกว่าเดี๋ยวนี้ชมัยภรเขียนงานหนัก มันถึงมีเรื่องปุยนุ่นกับสำลี ขึ้นมาหนึ่งเรื่อง
เนื่องจากว่าผู้อ่านได้บ่นไปกับบรรณาธิการขวัญเรือน คุณมณฑา ศิริปุณย์
ว่าเขียนแต่เรื่องหนักๆ คุณชมัยภรก็เลยตั้งชื่อเลยว่า ปุยนุ่นกับสำสี เบาพอไหม เหมือนประชดเลย
แล้วก็เป็นเรื่องที่สุด เพราะเขาตั้งใจว่าจะเขียนเรื่องที่เบาๆ แต่ว่าประเด็นก็ยังหนักอยู่นะ   แต่เขียนให้สนุก
ประเด็นหนักอยู่ ประเด็นผู้หญิง แต่เขียนให้ตลก มีตัวละครคนใช้ มีด็อกเตอร์
คุณชมัยภรจริงๆ แล้วเขามองประเด็นที่มันหนัก เขาเป็นคนเขียนเรื่องหนัก แม้ว่าจดหมายถึงดวงดาว จะมีพระเอกสามคน นางเอกสามคน
แต่ประเด็นในเรื่องมันหนักมาก พอวัยคนเขียนเยอะขึ้นเรื่อยๆ
คนเขียนก็พัฒนาตัวละครไปสู่คนที่มีอายุ มองประเด็นความรักไปสู่ประเด็นครอบครัว
จากนั้นเรื่องความตายเข้ามา คุณชมัยภรไม่เคยเขียนเรื่องตายตอนจบ นักอ่านจะรู้
ในฐานะคนขายหนังสือด้วย นักอ่านจะถามว่าตอนจบตายไหม คุณชมัยภรไม่เขียนตายตอนจบ เพิ่งมีเรื่องในเวิ้งฟ้าอันไพศาลที่มีการตายเกิดขึ้น
แม้ว่าจะไม่ใช้ตัวเอกเสียทีเดียวแต่ก็ตาย แล้วก็เศร้า คุณชมัยภรไม่เคยจบเศร้า
ถึงจะจบไม่แฮปปี้ พระเอกไม่ได้คู่นางเอก หรือว่าไม่ได้รักกันขนาดนั้น
แต่ก็ไม่เศร้า จะจบเหมือนชีวิตจริงมากกว่า แต่ก็จะไม่เศร้าไม่ตาย แต่เล่มนี้มีตาย
เป็นความตายในนิยายที่กระตุ้นให้เรารู้สึก
ถ้าถามถึงความประสบความสำเร็จในการเขียนและในการกล่าวถึงประเด็นการคิดถึงความตายอย่างสงบ
ก็ประสบความสำเร็จนะ

นงลักษณ์ : ในส่วนของคุณยายติดไลน์
คุณยายติดเฟซ มีอยู่ในส่วนของอีบุ๊ก คมบางจะวางงานในอีบุ๊กเพิ่มขึ้นไหม

กว่าชื่น : เป้าหมายก็จะวางเพิ่มขึ้น
แต่ถ้าถามว่ามันจะมาทดแทนกับสิ่งพิมพ์ไหม มันก็ไม่ แต่ว่าจะไปคู่กัน
เพราะว่าอย่างที่บอก มันเป็นทางเลือกสำหรับคนที่อยู่ไกล คนที่อยู่ต่างประเทศ
ถามว่าเราส่งหนังสือไปให้เขา ลำบากไหม ก็ลำบาก จะถึงหรือเปล่าก็ไม่รู้อีก  ค่าส่งเท่าไรอีก
และคนที่อยู่ต่างประเทศเขาก็ใช้เครื่องมือสื่อสารได้ดีกว่าเรา
คือวัฒนธรรมของประเทศนั้นๆ ไปถึงทางโน้นแล้ว เขาเฉยๆ กับการไม่ต้องอ่านตัวเล่มแล้ว
ทีนี้มันก็กลายเป็นว่า ถ้าเราเข้าถึงกลุ่มคนตรงนั้นได้มันจะดี ทั้งกับเรา
ทั้งกับคนอ่าน แล้วก็ทั้งกับการสร้างกระแสการอ่านให้มันแพร่หลาย ณ
ปัจจุบันไม่ใช่แค่ว่าคนไทยอ่านหนังสือ มันก็รอบโลก เราเล่นเฟซบุ๊กกับคุยคนที่อยู่ฟินแลนด์ได้เลย
ทำไมเราจะอ่านหนังสือผ่านเครื่องมือนี้ไม่ได้ มันก็น่าจะได้ แต่มันอาจจะยังไม่ชิน
อย่างคนญี่ปุ่นก็มีส่วนหนึ่งที่ไม่ซื้อเล่ม ฝรั่งเขาก็ไม่ซื้อเล่มเพราะหนัก
แบกไปไม่ได้อะไรแบบนั้น ถือว่าเป็นทางเลือก อย่ามองว่ามันเป็นศัตรูกัน
ให้มองว่ามันเป็นสิ่งที่ไปคู่กัน เป็นทางเลือกอีกทางเลือกหนึ่ง เป็นโอกาส
จากการที่เราทำงานสิ่งพิมพ์มาจนถึงตอนนี้
เราก็ไม่ได้คิดว่าอีบุ๊กมันจะทำให้หนังสือขายไม่ได้ หนังสือมันขายไม่ได้
มันขายไม่ได้เพราะอย่างอื่น แต่อีบุ๊ก คนอ่านอ่านอีบุ๊กกับอ่านหนังสือ
จริงๆ แล้วอาจจะเป็นคนกลุ่มใกล้ๆ กันนิดเดียว
คือเป็นกลุ่มคนที่อ่านหนังสืออยู่แล้ว มันก็สมมติเหมือนคนฟังเพลง
เมื่อก่อนเราต้องซื้อแผ่น พอช่วงหนึ่งมีดาวน์โหลดเพลงฟรีเยอะ มีละเมิดลิขสิทธิ์
ปัจจุบันคนทำเพลงปล่อย
I-Tune ออกมาก่อนทั้งนั้น
แล้วถึงมาออกแผ่นตามหลัง