ตุ๊กตาหุ่นมือ ของโครงการละครหุ่นมือเพื่อน้อง อีกโครงการที่ริเริ่มจากครูองุ่น มาลิก

ฉันได้ไปร่วมงาน ขอเชิญร่วมงานรำลึกถึงครูองุ่น มาลิก
ครบรอบ ๑๗ ปี แห่งการถึงแก่กรรม ณ สถาบันปรีดี พนมยงค์

ครูองุ่น มาลิก แม้จะไม่เป็นที่รู้จักมากนักในทางสาธารณะ แต่แท้จริง ครูองุ่นเป็นบุคคลสำคัญในพื้นที่เล็กๆ ที่เรียกว่า “หัวใจ” ของลูกศิษย์ลูกหามากมายหลายต่อหลายรุ่น

ครูองุ่น มาลิก เกิดเมื่อวันที่ 5 เมษายน 2460 เป็นบุตรของพระรุกขชาติบริรักษ์ กับนางสบู่ สุวรรณมาลิก

ครูองุ่น จบการศึกษาจาก คณะอักษรศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รุ่นที่ 3 เป็นนิสิตรุ่นเดียวกับ คุณนิลวรรณ ปิ่นทอง บรรณาธิกานิตยสารสตรีสาร เจ้าของรางวัล แมกไซไซ คุณนิลวรรณอธิบายถึงครูองุ่นสมัยสาวๆ ไว้ว่า ” คุณองุ่นมีรูปลักษณ์งดงาม ร่างสูงเพรียว ตาคม ผมสวย และเป็นผู้ฉลาด เรียนหนังสือเก่ง เป็นผู้มีบุคลิกเฉพาะตัว มีความเชื่อในเหตุผลของตนเองมากกว่าจะอ่อนตามผู้อื่น” นับว่า เป็นหญิงทันสมัยมากๆ ในยุคนั้น
เคยทำงานด้านหนังสือพิมพ์ เป็นผู้สื่อข่าวและนักเขียนในคณะหนังสือพิมพ์สยามนิกรรายวัน เมื่อ พ.ศ. 2497 เป็ฯรองบรรณาธิการนิตยสาร ดรุณสาร รายสัปดาห์ เมื่อ พ.ศ. 2499-2500

เมื่อ พ.ศ. 2503 ครูองุ่นเป็นอาจารย์ที่คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ จากนั้นไปเรียนต่อปริญญาโทด้านจิตวิทยา ที่มหาวิทยาลัยอิลินอยส์ สหรัฐอเมริกา เมื่อ พ.ศ. 2508 กลับมาเป็นอาจารย์สอนภาษาอังกฤษในโรงเรียนมัธยมหลายแห่ง และที่มหาวิทยาลัยศิลปากร จนต่อมาระหว่างปี พ.ศ. 2511-2522 เป็นอาจารย์ประจำภาควิชาจิตวิทยา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ผลงานด้านสังคมที่สำคัญ เช่น ก่อตั้งสวนอัญญา สวนไผ่หิน ที่เชียงใหม่ ก่อตั้ง “เวชประชา” และกองทุน “หมอเมืองพร้าว” สนับสนุนการอบรมสาธารณสุขเพื่อประชาชน ก่อตั้ง “มูลนิธิไชยวนา” เพื่อช่วยเหลือเด็กและเยาวชนผุ้ด้อยโอกาส ก่อตั้ง “กองทุนพุทธทาสภิกขุ” สนับสนุนงานพุทธศาสนา ก่อตั้ง “คณะละครยายหุ่น” ผลิตหุ่นมือให้เยาวชนทั่วโลก และเป็นผู้มอบที่ดินให้ มูลนิธิปรีดี พนมยงค์ เพื่อสร้างอาคาร มูลนิธิ ที่ซอยทองหล่อ 55

ครูองุ่น มาลิก ถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน พ.ศ. 2533

ในปีนี้นับเป็นครบรอบปีที่ 17 ของการจากไปของครูองุ่น มาลิก

กิจกรรมที่สำคัญในปีนี้ คือ การเปิดลาน เปิดลานและป้ายชีวประวัติครูองุ่น มาลิก

นอกจากนี้ สินธุ์สวสดิ์ ยอดบางเตย ศิษย์คนสำคัญผู้อุทิศตนเพื่องานสังคม ได้ เปิดตัวซีดีเพลง หยิบรุ้งมาถักทอเป็นสายใยจากขั้วหัวใจ เป็นเพลงที่คุณสินธุ์สวัสดิ์ ทำร่วมกับ คานธี อนันตกาญจน์ นักทำเพลงรุ่นใหม่ รายได้ของซีดี สมทบทุน โครงการศิลปะ มูลนิธิปรีดี พนมยงค์ และมูลนิธิไชยวนา

แต่สิ่งสำคัญ ที่ทำให้เรารำลึกถึงครูองุ่นที่สุด เห็นจะเป็นตุ๊กตาหุ่นมือมากมายนับร้อยๆ ตัว ที่จัดแสดงอยู่ในหอประชุมปรีดี พนมยงค์ มิใช่แค่เป็นตุ๊กตาที่ไว้เพื่อแสดงละครหุ่นมือ แต่ตุ๊กตาแต่ละตัว ทำด้วยมือ จึงไม่มีตัวไหนเหมือนกันเลย ตัวเล็กบ้าง ใหญ่บ้าง หน้าตาแต่ละตัวก็เป็นไปตามความรู้สึก และฝีมือของผู้สร้าง น่ารักมากๆ

สิ่งเล็กๆ น้อยๆ อย่างตุ๊กตาหุ่นมือนี้ แม้มองว่า เล็กน้อย ก็ได้ แต่เป็นสิ่งเล็กน้อย ที่ยิ่งใหญ่ในจินตนาการของเด็กๆ เมื่อละครหุ่นเปิดม่าน เด็กน้อยๆ ที่กำลังบิดซ้ายบิดขวาเพราะนั่งในห้องประชุมมานาน ก็นั่งตัวตรง ตาจ้องไปที่โรงละครเล็กๆ บนเวที

ของเล่นเล็กๆ น้อยๆ อย่างตุ๊กตาหุ่นทำมือ เหล่านี้ แม้มูลค่าเทียบไม่ได้กับเกมสมัยใหม่ ไร้เทคโนโลยีก้าวหน้า แต่ในความเรียบง่าย ดั้งเดิม กลับเติมเต็มหัวใจของผู้เล่น สร้างคนให้เต็มคน สร้างใจให้เต็มหัวใจ