คนวงการสิ่งพิมพ์เราจะพูดกันอยู่เสมอว่า
หนังสือตายแล้ว
E-Book กำลังมา
บางคนก็บอกว่า
E-Book ไม่เกิดหรอก
เพราะเรายังอ่านสิ่งพิมพ์อยู่ เรายังอ่านอะไรที่เป็นเล่ม ๆ อยู่
จริงหรือไม่จริงอย่างไร คุณไช้ รวิวร  มะหะสิทธิ์
ผู้บริหาร แอพพลิเคชั่น 
Meb  แอพพลิเคชั่น E-Book  อันดับหนึ่งของเมืองไทย
จะเป็นผู้บอกเล่า เรื่องราวเกี่ยวกับ 
E-Book
 ในครั้งนี้

กว่าชื่น : ด้วยเหตุใดคุณไช้ถึงมองว่าตลาด E-Book ในประเทศไทยจะไปได้ และก่อตั้ง  Meb
ขึ้นมา

รวิวร : เราไม่ได้คิดว่าเราจะมาได้ไกลหรือยิ่งใหญ่อะไร
มันเริ่มต้นมาจากสมัยที่เราทำ
ASK 
Media เราก็เป็นสำนักพิมพ์เล็กๆแห่งหนึ่ง
โดยพื้นฐานเราเป็นวิศวกร แต่เราก็รักในงานสิ่งพิมพ์
แล้วเราก็ทำสำนักพิมพ์เล็กๆประมาณ
20-30 คน
ตอนที่ทำเราก็เป็นบรรณาธิการเล่มด้วยตัวเอง เราก็จะเห็นขั้นตอนการทำงานหลาย ๆ
อย่าง ซึ่งมันก็ท้าวความไปถึงว่า พอเราเป็นวิศวกร แล้วพอเราทำสิ่งพิมพ์ เราก็เห็นข้อจำกัดหลาย
ๆ อย่าง ข้อจำกัดที่เราไม่สามารถแก้ได้ด้วยเทคโนโลยี หรือไอที
เราเห็นข้อจำกัดอย่างหนึ่งที่ชัดเจนมากของคนทำหนังสือ
คือหนังสือที่เอาไปวางตามร้านหนังสือ ซึ่งร้านหนังสือก็จะมีที่จำกัด
หนังสือที่ขายดีก็จะมีแนวโน้มที่จะอยู่ในร้านได้นานกว่า
หนังสือที่ความเคลื่อนไหวต่ำหรือว่าไม่ใช่กระแสก็จะถูกเคลียร์ออกไปค่อนข้างรวดเร็ว
และถึงแม้จะเป็นหนังสือขายดี ก็ยังต้องหมุนเวียนออกไปเหมือนกัน
มันเรื่องข้อจำกัดของกายภาพ พอเราทำหนังสือแล้วเราเจอปัญหานี้แล้วว่าทำไมหนังสือของเรามันไม่อยู่ในทุกสาขา
ทำไมถึงอยู่บนแผงเห็นหน้าปกอยู่ไม่กี่วัน ไม่กี่สัปดาห์  และสุดท้ายก็โดนเอาออกจากแผงไป
ดังนั้นในช่วงท้าย ๆ ที่เราทำ  
ASK  Media เราก็คิดว่า
ถ้าเราทำต่อไปแบบนี้สงสัยเราจะตัน ในฐานะที่เรารู้เรื่องทางไอที ทางอิเล็คทรอนิค
แล้วก็รู้ว่าจริงๆแล้ว หนังสือมีข้อจำกัดที่บีบให้เราไปไม่ได้คืออะไร
สิ่งนั้นมันตกผลึกออกมาก็คือคำว่า 
E-Book

                E-Book
ก็เป็นเหมือนหนังสือที่เราอ่าน เพียงแต่ว่ามันไม่ได้ตั้งอยู่ตามร้าน
มันไม่จำเป็นต้องพิมพ์ออกมาเป็นกระดาษ แต่ว่ามันสามารถอ่านได้สาสน์เดียวกันกับหนังสือที่เป็นกระดาษ
ดังนั้น
E-Book มันบอกอะไรกับเรา มันบอกเราว่า
การพิมพ์เล่มหนังสือที่ทุกวันนี้ค่าครองชีพก็สูงขึ้นเรื่อย ๆ  มีแนวโน้มว่าหนังสือจะแพงขึ้น ก็เป็นเรื่องปกติ
ค่ากระดาษขึ้น ค่าขนส่งขึ้น ค่าแรงบุคลากรที่ทำหนังสือก็ขึ้น แนวโน้มหนังสือมันถูกบังคับว่าจะแพงขึ้นเรื่อย
ๆ โดยธรรมชาติ แต่ว่าในมิติของไอที มิติของคอมพิวเตอร์
พื้นที่การเก็บข้อมูลมันถูกลงเรื่อย ๆ
ดังนั้นหมายความว่าถ้าเราสามารถเอาหนังสือมาใส่ในระบบคอมพิวเตอร์ได้
แปลว่ามันมีที่เก็บไม่อั้น มูลค่าราคาที่เก็บมันจะถูกลงเรื่อย ๆ
หมายความว่าข้อจำกัดเดิม ๆ ว่าหนังสือไม่มีที่วาง หนังสือก็จะแพงขึ้น
มันก็จะกลับด้านกัน คือ
E-Book
มีที่วางไม่อั้น หนังสือก็มีแนวโน้มจะลดลงได้
อย่างน้อยมันก็ไม่เพิ่มขึ้นเร็วโดยปัจจัยภายนอก เช่น ค่ากิน ค่าขนส่ง นั่นคือ 
E-Book
นั่นคือสิ่งที่มันเป็น

กว่าชื่น : จากที่เริ่มทำมาจนถึงตอนนี้ ผลตอบรับเป็นอย่างไร

รวิวร : ผลตอบรับ E-Book
ถ้านับตั้งแต่จุดเริ่มต้น ตั้งแต่ประมาณปี 
2011 พอเราเริ่มปีนั้นก็น้ำท่วมทันที
เราไปหาเพื่อนที่ทำหนังสือทุกคนเศร้าหมองกันหมด ตอนนั้นเราก็รู้สึกว่า หรืออะไร ๆ
มันจะไม่ดี แต่พอเวลาผ่านไป จุดเริ่มต้นนี้มันเป็นปัจจัยบวกของ
E-Book อย่างรุนแรง มันทำให้เราระลึกว่า เราไม่มีที่เก็บหนังสือ
หนังสือที่เราถนอมไว้ในบ้านมันลอยไปตามน้ำซะเยอะ บางคนก็หนีไปอยู่ที่สูง ๆ
แต่ว่าหนังสือไปไม่ได้ ดังนั้น
มันเป็นจุดกระตุ้นว่า  E-Book เป็นทางเลือกทางหนึ่งคือไม่ต้องเก็บหนังสือในบ้าน
และจากตอนนั้นถึงตอนนี้อัตราการเติบโตของผู้อ่าน
E-Book
โตอย่างต่อเนื่อง แต่กระนั้นทิศทางของ
E-Book มันโตขึ้น
แต่ในการคาดการณ์มันก็เข้าสู่
5-10% ของยอดขายหนังสือเล่ม
ก็คิดว่ามันเป็นส่วนผสมที่กำลังลงตัว คือคนก็ไม่ได้เทมาหา
E-Book กันทั้งหมด เพราะยอดขายหนังสือก็ยังอยู่ในที่สูง ไม่ได้เป็นศัตรูกัน
และก็ต้องบอกว่าคนก็ยังให้การตอบรับสิ่งใหม่ ๆ อยู่ดี
เรามองว่ามันจะไม่เป็นศัตรูเพราะ มันช่วยให้สำนักพิมพ์มีวิธีการขายแบบใหม่ ๆ
คิดว่ามันเป็นทางออก

ทางแก้ปัญหาของสำนักพิมพ์มากกว่า เราอย่าไปมองว่าสิ่งใหม่ ๆ
สิ่งที่แปลกปลอมที่เราไม่เคยเจอคือศัตรูเรา บางทีมันจะนำมาซึ่งโอกาสใหม่ ๆ
ทำให้เกิดวิธีการขายแบบใหม่ที่เราไม่เคยเจอ คือโอกาสมันมารอแล้ว
แค่รับโอกาสนั้นไปมันก็จะเป็นประโยชน์ เป็นผลดี แต่ถ้าคนที่มีโอกาสมาแล้ว สมมติผลักโอกาสมันทิ้ง
อาจจะเริ่มรู้สึกว่า คนที่คว้าโอกาสไว้
กับคนที่ไม่คว้าโอกาสก็จะเริ่มมีความแตกต่าง
ดังนั้นสิ่งที่ควรจะทำก็คือเปิดรับโอกาสตรงนี้ สิ่งใหม่ๆตัวนี้

กว่าชื่น : ปัญหาในเรื่องลิขสิทธิ์วรรณกรรม
เวลามันมาอยู่ในเครื่องแล้วจะมีปัญหาไหม

รวิวร : คำถามเรื่องลิขสิทธิ์นี่เป็นคำถามคลาสสิคของคนทำหนังสือมาก
ในยุคก่อนที่ระบบดิจิตอลหรือระบบคอมพิวเตอร์มันจะดีขนาดนี้ เราก็จะพูดกันน้อยลง
หนังสือกระดาษเราก็จะบอกว่าใครจะมาบ้าตัดหนังสือมาถ่ายเอกสาร
เพราะเรารู้ว่าค่าถ่ายเอกสารมันแพงกว่าค่าพิมพ์เยอะ แต่ยุคหลัง ๆ ที่สแกนเนอร์มันดีมาก
ตัดหนังสือ วางแล้วแป้บเดียวออกมาเป็นไฟล์เลย
แต่ด้วยเทคโนโลยี E-Book มันก็ปกป้องงานพวกนี้ได้ดีพอสมควร ในระบบของ Meb เราก็มีการป้องกันไม่ให้มีการละเมิดลิขสิทธิ์
แต่ไม่ว่าในยุคสมัยไหน มันก็ยังต้องมีคนไม่ดีปะปนอยู่บ้าง
แต่เราคิดว่าเราจะกลัวสิ่งนั้นจนเราไม่ไปต่อมันไม่ได้ เพราะอัตราการละเมิดลิขสิทธิ์
เราเชื่อว่าต่อให้เป็น
E-Book ต่อให้ไม่ป้องกันอะไรเลย ซึ่ง Meb
ป้องกัน อัตราการละเมิดลิขสิทธิ์มันก็ไม่ได้สูงนัก เราไม่เคยเห็นใครถูกละเมิดลิขสิทธิ์จนเจ๊งไปเลยจากจุดนั้น
  มันทำให้เสียความรู้สึก
มันทำให้คนทำหนังสือหวาดกลัว ใช่
แต่คนที่มักจะละเมิดลิขสิทธิ์
คนที่ไปอ่านของเลียนแบบ หมายความว่าเขาไม่เคารพนักเขียน เขาไม่รักในงานเขียนนั้น
คนที่ไม่เคารพนักเขียน เขาก็จะไม่ซื้อเล่มนั้น นั่นคือสิ่งที่เราเจอมา ดังนั้นมองว่าในปัจจุบัน
หนังสือเป็นเล่ม หรือหนังสือที่เป็น 
E-Book ถ้าจะละเมิดก็คงยากพอ ๆ กัน หรือว่าถ้าง่ายก็ง่ายพอ
ๆ กัน การที่จะต่อต้านการละเมิดลิขสิทธิ์ที่ดีที่สุด
คือการทำให้หนังสือเข้าถึงง่ายที่สุด
ตัดข้ออ้างของการที่แบบว่า ผมก็อยากจะซื้องานของคุณหรอกนะ
แต่ซื้อไม่ได้ หนังสือขาดตลาด สำนักพิมพ์ก็ไม่พิมพ์เพิ่ม เราควรมาแก้กันในทางบวก
อย่าไปแก้ด้วยการลบแล้วไม่กล้าเดินไป

กว่าชื่น : อย่างของสำนักพิมพ์คมบางก็จะมีเป็นหนังสือเรียนนอกเวลา
ก็จะมีบางโรงเรียนที่คุณครูก็ทำไฟล์
PDF ให้นักเรียนเรียบร้อย
ซึ่งเราก็ไม่ไปจับครูหรอก และเราก็ไม่ไปฟ้องครูหรอก ก็หลายร้อยคนนะที่เป็นแบบนี้
กรณีนี้เราก็เข้าใจว่า
1. เขาหาซื้อไม่ได้ 2. เด็กนักเรียนเขาไม่สะดวก เขาไม่มีเงินอะไรแบบนี้
ก็มีปัญหาแบบนี้เกิดขึ้นอยู่เหมือนกัน

รวิวร : อย่างที่คุณกว่าชื่นบอก
ถ้ารู้ว่าเขาไปสแกน  เราบอกครูว่าเดี๋ยวเราทำ
E-Book นะ แล้วเราส่งให้เขาอ่านกันเลย อาจจะดีกว่า เราทำเป็น
E-Book  ถือว่าเพื่อสนับสนุนการศึกษา
ทางสำนักพิมพ์ก็ไม่ต้องส่งหนังสือไปให้เขา เพราะเราอาจจะไม่มีสต็อค
เรามาใช้โอกาสนี้ในการสอนนักอ่านว่าหนังสือของคมบางหลาย ๆ เล่มที่หาไม่ได้แล้ว
คุณยังสามารถหาอ่านได้นะ
คือเราสามารถทำบางอย่างให้เขาไม่ต้องถูกบังคับให้ไปละเมิดลิขสิทธิ์เราได้
สร้างทางเลือกให้เขา ให้ราคาที่เด็ก ๆ ก็เข้าถึงได้
ให้เขาเคยชินกับการซื้อของถูกลิขสิทธิ์ เราต้องหาทางใดทางหนึ่งให้
คือว่าถ้าคุณครูบอกหาไม่ได้ เราก็ช่วยหาวิธีให้เขาดีกว่า
หนังสือถ้าเขาอ่านแล้วเขาชอบเล่มนั้นมันจะมีความรักเกิดขึ้น ความรักในตัวนักเขียน
รู้สึกขอบคุณที่สำนักพิมพ์ออกงานดี ๆ มาสร้างแรงบันดาลใจให้เขา
สิ่งแรกการละเมิดลิขสิทธิ์เป็นการเข้าถึงงานเราได้ง่าย
เข้าถึงเจตนารมณ์ที่นักเขียนจะสื่อได้ง่าย แล้วพอเขารัก เขาชอบผลงาน เขาจะไปซื้อ
เขาจะไปอุดหนุนเอง


กว่าชื่น : คุณไช้บอกถึงเรื่องโอกาส สิ่งนี้จะหมายถึงโอกาสของนักเขียนหน้าใหม่
ที่อยากจะเผยแพร่งานเขียนโดยไม่ต้องพิมพ์ เราจะสามารถใช้โอกาสนี้ได้ไหม
ต้องทำอย่างไร

รวิวร : ยุคนี้สำหรับนักเขียนมองว่าช่วงนี้เป็นยุคทองของนักเขียน
คือเราย้อนหลังไปสัก
15 ปี
คนที่เขียนหนังสือได้แล้วจะได้เผยแพร่งานมาสู้สาธารณะชน  มันต้องผ่านขั้นตอนหลาย ๆ อย่าง
คือต้องส่งไปพิจารณาเพื่อไปคัดเลือกลงนิตยาสารบ้าง
ต้องส่งไปพิจารณาเพื่อจัดพิมพ์บ้างอะไรบ้าง ซึ่งงานที่เข้ากับแนวทางของสำนักพิมพ์
ของนิตยสารนั้น ๆ ก็จะได้รับการจัดพิมพ์ไป 
แต่ในหลาย ๆ ครั้ง งานเขียนหลาย ๆ งานเป็นงานที่ดี
แต่มันเป็นงานที่มีกลุ่มนักอ่านชัดเจน แต่ก็ไม่ถึงขนาดเป็นมวลชนใหญ่ ๆ งานส่วนมากจะได้ออกมาเป็นเล่มยาก
แต่ในยุคนี้มันมีช่องทางมากมาย ไม่ว่าจะเป็นทางโซเชี่ยล ทางอินเตอร์เน็ต
ที่ให้เรานำเสนองานเขียนของเราออกมาได้ แต่ช่องทางโซเชี่ยลคุณเอาไปลง
คุณไม่ได้เงินนะ เขียนให้คนอ่านฟรีมันใช่ แต่มันไม่ทำรายได้ ดังนั้น
E-Book มันเลยมาเติมเต็มว่าคนที่มีงานเขียนแนวตลาด ก็เอามาลงได้
ส่วนงานเขียนแนวทางเลือก แนวที่มีกลุ่มนักอ่านชัดเจนแต่ไม่ใช่กลุ่มใหญ่นัก
ก็สามารถลงขายกับ
E-Book ได้
โดยเขาสามารถเอางานมาลงได้โดยที่เขาไม่ต้องพิมพ์เป็นเล่ม
ก็ตัดข้อจำกัดเรื่องเงินทุนออกไป แล้วถ้าเขาเอามาลงแล้วได้รับผลตอบรับที่ดีพอสมควร
เขากับได้รับฟีดแบคที่ดี จาก
E-Book เพื่อเอามาปรับปรุงแล้วทำเป็นเล่มออกมาเพื่อคนที่ต้องการสะสมแบบเป็นเล่มก็ได้

กว่าชื่น : แล้วถ้ามีคนสนใจที่จะทำ E-Book
จะต้องทำอย่างไรบ้าง

รวิวร : ง่ายมาก
เพียงแค่เข้าไปที่  
www.mebmarket.com
แล้วก็สมัครสมาชิกได้เลยไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ ตอนสมัคร
ตอนวางขายก็เอาหนังสือเข้าระบบได้ฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายเหมือนกัน
และเมื่อขายได้รูปแบบของ
E-Book คือ เมื่อขายได้ค่อยแบ่งกัน
ซึ่งตรงนี้นักเขียนจะมีความเสี่ยงน้อย โจทย์มันกลับกลายเป็นว่า
เราเขียนได้หรือเปล่า แทนที่เรามีการพิมพ์หรือเปล่า แต่ก่อนมันก็จะมีว่า
เขียนงานได้ไหม ใครจะมารับพิมพ์ให้เราได้ไหม จะขายออกไหม
เดี๋ยวนี้เปลี่ยนมาเป็นเขียนงานได้ไหมอย่างเดียว

กว่าชื่น : ก็เป็นโอกาสว่าผู้อ่านต่อไปจะเป็นอย่างไรก็เป็นโอกาสต่อไป
ผู้อ่านจะมาติดตามหรือไม่นักเขียนก็ต้องบอกผู้อ่านของตัวเองด้วย

รวิวร : เมื่อสักครู่ก็เป็นมิติของนักเขียนอิสระ
ส่วนมิติของนักเขียนมืออาชีพ รูปแบบ
E-Book
ก็ปฏิเสธมันไม่ได้ คือนักเขียนหลาย ๆ ท่านที่เป็นมืออาชีพจะมีงานเขียนเป็นร้อยเรื่อง
เคยถามนักเขียนท่านหนึ่งว่า ปัจจุบันยังมีงานเขียนนับร้อยอยู่กับตัวไหม
ท่านก็บอกว่างานเขียนสมัยสาวๆไม่มีแล้ว เพราะฉะนั้น
E-Book มันเป็นในส่วนที่ถ้าในปัจจุบัน
เรายังขายหนังสือที่เป็นกระดาษได้ เราไม่เอามันไปเก็บในที่ที่เหมาะสม ซึ่ง
E-Book
ก็เป็นรูปแบบที่เหมาะสม พอผ่านเวลาไปสัก 5 ปี 10
ปี วรรณกรรมเหล่านั้นอาจจะสาบสูญไป วรรณกรรมที่ถูกเก็บไว้
ก็เป็นวรรณกรรมที่ต้องได้รับความนิยม แต่เรื่องที่ได้รับความนิยมน้อยก็ไม่ใช้เรื่องไม่ดี
แต่มันอาจจะหาไม่ได้แล้ว ดังนั้นสิ่งนี้ก็เป็นสิ่งสำคัญ
คือตอนแรกๆก็ไม่ได้คิดถึงประเด็นนี้ แต่พอเราได้คุยกับนักเขียนมากขึ้น
เราระลึกได้อย่างหนึ่งว่า
นี่ก็เป็นอีกหน้าที่หนึ่งที่เราอยากทำให้สำเร็จ
คือการปกป้องไม่ให้วรรณกรรมมันหายไป ไม่อยากให้หนังสือมันหายไปด้วยกาลเวลา
เชื่อว่าหนังสือทุกเล่มนักเขียนเขียนด้วยความรักและมีความสุขที่ได้เขียนมัน
มันต้องไม่หาย ทีมงานของ
Meb ก็ตั้งใจทำตรงนี้มาก

กว่าชื่น : กลุ่มผู้อ่าน E-Book จริง ๆ
แล้วเรามองว่าน่าจะเป็นวัยรุ่น มันจริงไหม ที่
E-Book จะมีแต่วัยรุ่นที่อ่าน

รวิวร : จากข้อมูลของการขายใน
 Meb
นักอ่าน 67% อยู่ที่อายุ
20-40 ปี ก็ไม่วัยรุ่นนะ อยู่ในวัยทำงานและวัยกลางคน คำตอบจากชุดเลขตัวนี้
เข้าใจว่ามันเกิดจากที่เราเปิดร้านใหม่ ๆ การซื้อของออนไลน์ต้องใช้บัตรเครดิต
และคนก็ไม่ค่อยมีบัตร เด็กไม่มีบัตรเครดิต ดังนั้นคนที่อายุ
20-40 ก็จะเป็นคนที่มี ส่วนในช่วงอายุ 40 ปี
เรานึกภาพว่าเขาเป็นคนที่เกิดมากับเทคโนโลยี เทคโนโลยีที่มันเกิดมาประมาณ
10
ปีให้หลัง การอ่าน E-Book  บนสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต
ซึ่งเป็นกลุ่มคนที่มีกำลังจ่าย มีบัตรเครดิต และมีกำลังจะจัดหาอุปกรณ์
ซึ่งกลุ่มนักอ่านระดับนี้ กลับกลายเป็นไม่ใช่วัยรุ่นแล้ว
มองว่าด้วยทิศทางปัจจุบัน กลุ่มนักอ่านตอนแรกจะเป็นยอดแหลม ๆ
จากอายุ
20-40 ปี ต่อไปมันจะขยายฐานป้านออกเป็น 50 ได้ไม่ยาก เพราะในปัจจุบันการซื้อ E-Book สามารถจ่ายด้วยเงินสดได้แล้ว
โอนเข้าบัญชีธนาคาร หรือไปจ่ายที่เค้าเตอร์ร้านสะดวกซื้อ
และในอนาคตคนที่อายุมากขึ้น ก็จะอ่านได้ง่าย เชื่อว่านักอ่านก็เป็นนักอ่าน
เขาไม่เลิกอ่านหรอก มันก็แสดงให้เห็นว่าตัว
E-Book
มันจะกว้างมากขึ้นเรื่อย ๆ

กว่าชื่น : ข้อดีของการอ่าน E-Book คืออะไร

รวิวร : ข้อดีในมิติของคนทำหนังสือ
คือ
E-Book มันสามารถทำให้คุณขายหนังสือที่คุณไม่มีสต็อคอยู่กับตัวได้
ขอเพียงคุณมีลิขสิทธิ์อยู่กับตัว คุณสามารถทำรายได้จากของที่ไม่มีสต็อคได้
ขายกันได้เรื่อย ๆ นั่นคือข้อดีที่หนึ่ง ส่วนข้อดีที่สองคือ
E-Book มันสามารถทำให้หารายได้กับลูกค้าที่ไม่เคยหาได้ เช่น
ลูกค้าที่อย่างประเทศ ลูกค้าที่อยู่ในจุดที่เขาไม่สามารถมาซื้อหนังสือที่คุณได้ เรียกว่าเข้าถึงลูกค้าได้มากขึ้น
ข้อดีอย่างที่สามก็คือ
E-Book
สามารถทำให้คุณปล่อยผลงานได้หลากหลายมากกว่าแต่ก่อนได้
คือสมัยก่อนเราจะทำหนังสือเล่มหนึ่งเราต้องมองเรื่องของการลงทุน
การตลาด ถ้าเป็นหนังสือแนวทดลองของบางท่าน อยากจะลองเขียนแปลก ๆ แต่มองว่ามันขายไม่ได้
ก็ไม่เขียนดีกว่า ไปเขียนแนวตลาด ๆ ดีกว่าจะได้ขายง่าย ๆ พอเป็น
E-Book มันสามารถทำให้เรากล้าที่จะเขียนสิ่งนั้นได้
ให้มันพิสูจน์ด้วยตัวมันเองว่ามันไปได้ไหม
ถ้ามันไปได้เราอาจจะไปพิมพ์เป็นเล่มก็ทำกันไป

กว่าชื่น : ในฐานะที่เป็นเจ้าของร้าน E-Book มองว่างานของ อ.ชมัยภร หรืองานของนักเขียนนิยายต่าง ๆ ตลาดมันเป็นอย่างไร
มันเติบโตขึ้น หรือมันมีความน่าสนใจอย่างไร

รวิวร : งานของ อ.ชมัยภร
หรืองานของนักเขียนอาวุโสหลาย ๆ ท่าน มองว่าเป็นตลาดที่มีศักยภาพที่รอการปลดปล่อย
ที่รอการปลดปล่อยคือ นักเขียนหลาย ๆ ท่าน หรือว่าสำนักพิมพ์กลุ่มค่อนข้างใหญ่
ยังตั้งคำถามเกี่ยวกับการมีอยู่ของ
E-Book ว่ามันคืออะไร
เราจะเข้าไปหามันดีไหม ซึ่งสิ่งนี้ในหลาย ๆ สำนักพิมพ์ก็ก้าวข้ามมันไปแล้ว
และเขาก็ลุยตรงนั้นกันไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งหลาย ๆ อย่างมองว่า
E-Book มันจะรุ่งหรือไม่รุ่ง มันอยู่ที่ทัศนคติของสำนักพิมพ์
ถ้าทัศนคติเราเป็นบวก เราก็จะกล้าส่งงานมาขาย สมมติว่าส่งมา
1 เล่ม แฟนหนังสือที่เข้ามาซื้อก็อาจจะมองว่า
เข้ามาก็เก็บทั้งคอลเล็คชั่นไม่ได้ หรือได้แค่บางเล่ม ก็ไม่ค่อยอยากซื้อ
ถ้าเราลงมาขายอย่างจริงจังเต็มตัว มันก็เป็นการบอกนักอ่านว่า หนังสือที่เราคิดถึงเรากลับมาหามันได้แล้ว
มันเป็นโอกาสของสำนักพิมพ์ว่าเราจะเปิดโอกาสให้
E-Book แค่ไหน
เชื่อว่านักอ่านร้อยละ
90 ชอบอ่านกระดาษมากกว่า
แต่ถ้าถามว่าในอนาคตสำนักพิมพ์จะสามารถปล่อยในรูปแบบกระดาษในอัตราที่เหมาะสมหรือว่าออกมาได้ทั่วถึงหรือเปล่า  คือไม่อยากจะพูดว่าเราควรจะลดการพิมพ์กระดาษลง ถ้าการพิมพ์กระดาษจะลดลงมันคือการวางแผน
แต่จะบอกว่าแบบกระดาษขายไปตามแผนปกติ และ
E-Book เราก็อย่าปล่อยให้มันบกพร่อง
อย่าปล่อยให้มันพร่องไป คือแบบ
E-Book 
ขายได้ก็ดี ขายไม่ได้ สำนักพิมพ์ก็ไม่ได้เสียอะไร
เรามีต้นฉบับอยู่แล้ว เราเก็บไว้ไม่มีประโยชน์ เรามาปล่อยให้นักอ่านหน้าใหม่ ๆ
น่าจะดีกว่า

กว่าชื่น : E-Book ใช้งานยากไหม

รวิวร : E-Book มันจะต้องอ่านผ่านแอพพลิเคชั่น
เพื่อป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์อะไรพวกนี้ เพียงแค่ดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นเข้ามาเพียงครั้งเดียว
หลังจากนั้นก็เข้าไปหาหนังสือในร้าน
E-Book ได้ หนังสือในร้าน
E-Book มันมีข้อดีคือ หนังสือตัวอย่างก็มีให้อ่าน หลาย ๆ
เล่มก็มีให้อ่านกันฟรี ๆ นักเขียนหลาย ๆ
ท่านก็ต้องการจะตอบแทนนักอ่านด้วยการให้อ่านกันฟรี ๆ
มันทำให้เราสามารถเข้าถึงหนังสือกันได้ง่าย ๆ โดยที่เราไม่ต้องขยับตัว
ไม่ต้องไปที่ร้านหนังสือ


สนใจ E book ของสำนักพิมพ์คมบาง


เข้าไปที่ 
https://www.mebmarket.com/index.php?action=SearchBook&page_no=1&type=all&search=%E0%B8%84%E0%B8%A1%E0%B8%9A%E0%B8%B2%E0%B8%87&is_mag=all&price=all&sort_by=date&from_book_price=&to_book_price=&category_id=&category_name=

และ http://play.google.com/store/apps/details?id=com.askmedia.meb