คมบางชวนรำลึกถึงกวี นักเขียนผู้ต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมมาอย่างไม่ยอมใคร เช่นเดียวกับ  ไท สร้างสูงเนิน ใน นวนิยายเรื่อง เหมือนฟ้ามีพระอาทิตย์สองดวง นวนิยายเรื่องที่ต้องจดจำ ผลงานของชมัยภร แสงกระจ่าง  ซึ่ง ชมัยภร เขียนไว้ในคำนำหนังสือว่า       


“ดิฉันถามตัวเอง  เราอยากเขียนเรื่องอะไร  พลันนั้น  ภาพของลูกสาวเพื่อนกวีคนหนึ่งในวงการก็ปรากฏขึ้น  เธอมาหาดิฉันโดยที่เราไม่รู้จักกันมาก่อน  เธอบอกว่า ดิฉันเขียนบทวิจารณ์งานของพ่อเธอ  แต่เธอกับพ่อไม่เคยเจอกันมาก่อนจนพ่อตายจาก  ดิฉันรู้สึกสะเทือนใจ…”


เมื่อวันที่  ๒ เมษายน  ๒๕๕๓  ไปร่วมฟังการพูดคุยถึงนวนิยายเล่มใหม่ของ  ชมัยภร แสงกระจ่าง  “เหมือนฟ้ามีพระอาทิตย์สองดวง” เพื่อรำลึกการจากไปของ  ประเสริฐ  จันดำ  ครบรอบ  ๑๕  ปี  ในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ  ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ 


ผู้ร่วมพูดคุยประกอบด้วย   ชมัยภร แสงกระจ่าง  ผู้เขียน  สุวรรณา เกรียงไกรเพ็ชร์ ผู้วิจารณ์  และโกศล  อนุสิม  ดำเนิน
รายการ  พร้อม “ทิพย์อนงค์  จันดำ “ ลูกสาวคนเดียวของประเสริฐ จันดำ 


จึงถอดเทปการพูดคุยมาให้อ่านกัน  น่าจะให้อรรถรสเหมือนรายงานสดกันจริงๆ  เชิญอ่านกันได้เลยค่ะ



โกศล  อนุสิม
สวัสดีครับ  ทุกท่านที่นั่งอยู่ที่คงจะเคยเห็นตัวจริงของประเสริฐ  จันดำ หรือหลายๆ ท่านอาจจะเคยได้ยินชื่อหรือว่าได้อ่านหนังสือ  ประเสริฐ  จันดำ  เป็นนักเขียน  นักต่อสู้รุ่น  ๑๔  ตุลา  ซึ่งมีโอกาสเดินทางเข้าไปเรียนหนังสือในป่า  วันนี้ก็จะมาพูดถึงเรื่องเหมือนฟ้ามีพระอาทิตย์สองดวง  ซึ่งเป็นหนังสือเขียนโดยอาจารย์ชมัยภร  แสงกระจ่าง  แล้วก็จะมีอาจารย์สุวรรณา  เกรียงไกรเพชร  ซึ่งเป็นนักอ่าน อ่านหนังสือและจะมาพูดถึงหนังสือเล่มนี้  และน้องทิพย์อนงค์  ซึ่งเป็นลูกสาวคนเดียวของคุณประเสริฐ  จันดำ  จะมาร่วมพูดคุยเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้ด้วย และผมในฐานะที่เคยรู้จักกับพี่ประเสริฐ  จันดำ ก็เลยได้รับคำชักชวนให้มาพูดคุยด้วยในวันนี้ 


อันดับแรกก็อยากจะเรียนถามนักเขียนเลย  ถึงที่มาที่ไปของหนังสือ  “เหมือนฟ้ามีพระอาทิตย์สองดวง”  มีความเป็นมาอย่างไรถึงเกี่ยวข้องกับประเสริฐ จันดำ 


ชมัยภร แสงกระจ่าง 
สวัสดีท่านผู้ฟังทุกท่าน  เรื่องเหมือนฟ้ามีพระอาทิตย์สองดวง  ดั้งเดิมดิฉันไม่ได้ตั้งใจจะเขียนเรื่องอะไรที่เกี่ยวกับพี่ประเสริฐ  จันดำ  เลย  เขาเป็นรุ่นพี่ดิฉันประมาณ  ๗-๘  ปี  แล้วก็ตอนที่ยังมีชีวิตอยู่  สนิทกันพอสมควร  คำว่า  “สนิทกันพอสมควร”  ก็คือว่าในสมัยนั้นดิฉันเป็นคนเขียนบทวิจารณ์  แล้วคุมคอลัมน์ในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์  ทั้งคอลัมน์วิจารณ์และคอลัมน์ลมหายใจกวี  ซึ่งนำลงบทกวีที่มีผู้ส่งเข้ามาเป็นประจำ  และคุณประเสริฐ  จันดำ  เป็นผู้ส่งบทกวีมาลงในคอลัมน์ของดิฉัน  ซึ่งตอนนั้นดิฉันใช้ชื่อว่า  ไพลิน  รุ้งรัตน์  ทุกครั้งที่คุณประเสริฐ  ส่งมา  บทกวีที่คุณประเสริฐส่งมาทำให้เห็นว่าคุณประเสริฐเขียนได้ทุกแบบ เขียนได้ทั้งกลอนเปล่า  ได้ทั้งบทกวี  ฉันทลักษณ์  และจะมีสถานที่มาต่างๆ กันไปแล้วแต่ว่าจะอยู่ที่ไหน  บางครั้งคุณประเสริฐก็จะเดินเข้ามาที่สยามรัฐ  หรือบางครั้งเราก็จะไปเจอพี่ประเสริฐในงานต่างๆ  แล้วก็จะเห็นความเปลี่ยนแปลงของพี่ประเสริฐตั้งแต่  พี่ประเสริฐไปพูดคุยเสวนาจนกระทั่งมีอยู่ช่วงหนึ่งพี่ประเสริฐเปลี่ยนชีวิต  จากที่ปกติแล้วก็จะเป็นคนกินเหล้าเก่ง  แล้วเราก็จะเห็นพี่ประเสริฐดูเมาๆ อยู่เสมอ แต่วันดีคืนดีพี่ประเสริฐก็ไปเปลี่ยนศาสนา  แล้วก็กลายเป็นคนที่มีวินัย  มีวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปเป็นคนละคน  แต่งตัวเรียบร้อย ถือกระเป๋าเจมส์บอนด์ขึ้นมาที่สยามรัฐ  คุยเรื่องที่มีชีวิตที่ดีมากๆ เราก็ตื่นเต้นว่าศาสนาสามารถเปลี่ยนแปลงพี่ประเสริฐได้  พระเจ้าเปลี่ยนแปลงพี่ประเสริฐได้  พี่ประเสริฐก็จะพูดถึงพระเจ้าเสมอ แต่ว่าตอนหลังๆ  ดิฉันไม่รู้ว่าระหว่างพี่ประเสริฐกับพระเจ้าใครเบื่อใครนะคะ  เราก็ไม่แน่ใจว่าทำไมกลับไปคล้ายๆ เดิมอีก  ตอนหลังพี่ประเสริฐก็เลยย้ายจากเมืองหลวงไปอยู่ต่างจังหวัด ไปอยู่บุรีรัมย์  และส่งบทกวีมาลงที่คอลัมน์ลมหายใจกวีเสมอ  ทุกครั้งที่มีเรื่องราวอะไรที่เป็นสถานการณ์  เป็นอะไรที่มีความเข้มข้น พี่ประเสริฐก็จะเขียนบทกวี 


ก่อนหน้านั้นสมัยที่ดิฉันเป็น  นศินี  วิทูธีรศานต์  ซึ่งเขียนวิจารณ์งานไปในทางเพื่อชีวิต  ก็เคยวิจารณ์งานของคุณประเสริฐ  จันดำ  ในฐานะหนึ่งคนที่เป็นนักเขียนเพื่อชีวิต  หนังสือเล่มนั้นชื่อว่า  “วรรณกรรมแนวประชาชน”  วิเคราะห์วรรณกรรมแนวประชาชนนะคะ  มีผลงานของประเสริฐ  จันดำ  ที่นศินีวิเคราะห์ด้วย  เพราะฉะนั้นก็ถือว่าเป็นคนทำงานพอสมควร  แต่จริงๆ แล้วประเสริฐ  จันดำ เขียนได้หมดทุกอย่าง เขียนเรื่องสั้นได้ เขียนบทกวีได้ เขียนกลอนเปล่าได้  และเขียนได้ดีด้วย  เพียงแต่จะเขียนหรือไม่เขียนเท่านั้นเอง 


พอประเสริฐ  จันดำ  เสียชีวิตไปแล้ว เราก็ได้รับทราบข่าวตลอดว่า  คุณวิวัฒน์  โรจนาวรรณ  ท่านเป็นคนที่ดูแลพี่ประเสริฐสมัยที่อยู่ที่บุรีรัมย์  และก็เป็นคนส่งข่าว  พอเสียชีวิตไปแล้วเราก็สังเกตได้ว่าในวงการจะตื่นเต้นกันพอสมควร  เรื่องที่ว่าทำไมเราปล่อยให้พี่ประเสริฐ  เสียชีวิตไป คือเรื่องนี้ผู้ดำเนินรายการจะเป็นผู้เล่าให้ฟัง แต่ว่าเขายังไม่เล่า


แล้วต่อมาดิฉันก็อยู่ที่บูธอย่างนี้ เหตุมันเกิดที่บูธคมบาง  ดิฉันมาที่บูธ  จู่ๆ มีเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง  เรียนมัธยม  มายืนอยู่ที่หน้าบูธ  แล้วก็มาถามดิฉันว่า  คุณน้าชื่อไพลิน รุ้งรัตน์  ใช่ไหม  แล้วเขาก็เอาหนังสืองานศพที่เขียนถึงพ่อเขา  มาให้ดูและถามว่า  น้าเป็นคนเขียนอันนี้ใช่ไหม  คนนี้พ่อหนู ดิฉันก็มองหน้า  ดิฉันก็นึกๆ ไป  คือครั้งหนึ่งพี่ประเสริฐเคยไปที่บ้านดิฉัน แล้วก็พี่ประเสริฐได้พูดว่า  “เธอน่ะชื่อเหมือนลูกสาวเราเลย”   ดิฉันก็นึกว่าลูกสาวเค้าชื่อชมัยภร  แต่ปรากฏว่าเขาหมายความว่า ไพลินชื่อเหมือนลูกสาวเขาเลย  ตอนนั้นลูกสาวของเค้าไม่ได้ชื่อทิพย์อนงค์  เขาตั้งชื่อลูกสาวว่าไพรรินทร์  ดิฉันก็ถามว่า  “แล้วลูกพี่เสริฐอายุเท่าไหร่?”  ตอนนั้นเค้าบอกว่าลูกอายุขวบกว่าๆ  แล้วดิฉันก็ไม่ได้ถามอีก เพราะดิฉันคิดว่าเป็นการล่วงล้ำเรื่องส่วนตัวของเค้า  ดิฉันเลยไม่ถาม  แต่พอน้องมายืนอยู่ตรงหน้าแล้วบอกว่า  หนูเป็นลูกสาวประเสริฐ  จันดำ เราก็นึกถึงวันนั้นที่เค้าเล่าให้ฟังแล้วก็นึกว่าเราชื่อเหมือนกัน แต่ทำไมน้องบอกว่าชื่อทิพย์อนงค์


เสร็จแล้วลูกสาวมาเล่าให้ฟังว่า หนูไม่เคยเจอพ่อเลย  เราเป็นคนมีลูก เราก็ยิ่งรู้สึก  คนที่ไม่เคยเจอพ่อเลยแล้วมาเจอเพื่อนๆ พ่อในวงการ แล้วมาเจอว่าพ่อเป็นข่าว พ่อเสียชีวิตไปแล้ว พ่อเป็นนักเขียน พ่อมีชื่อเสียง  พ่อเป็นกวี  รู้สึกว่าน่าสนใจมาก  แต่ตอนนั้นไม่ได้คิดจะเขียนเรื่อง  แล้วก็มีคุณไพวรินทร์  ขาวงาม มายืนมาเจอกัน  ทุกครั้งที่คุณไพวรินทร์เห็นหน้าทิพย์อนงค์ก็จะโดนเพื่อนๆ นักเขียนขู่ว่า พี่อย่าเอาไปเขียนนะเรื่องนี้ เพราะว่าให้หลานเขียนเอง ก็คือว่าให้หนิงเขียนเอง  พี่อย่าไปเขียนแข่งกับหลานนะ ดิฉันก็บอกไปว่า ไม่เขียนหรอก  ก็รอให้หลานเขียนก็เชียร์ๆ หลาน  หลานก็จะมาเล่าว่า  อยากเขียนเรื่องอะไรก็เขียนมาให้ดูบ้าง  จนกระทั่งผ่านไปเป็นเวลา  ๕  ปี  จนหลานไปเรียนมหาวิทยาลัย  จนใกล้จะจบมหาวิทยาลัยแล้ว ดิฉันก็คิด เฝ้าดูหลานก็คิดว่าคงจะลืมเรื่องนี้ไปแล้ว  ก็เลยตัดสินใจเขียน เพราะฉะนั้นที่มาของการเขียนนวนิยายเล่มนี้  มาจากข้อมูลจริงๆ ที่มีตัวตน  มีคุณประเสริฐ  จันดำ  เป็นแรงบันดาลใจ  มีหนิงหรือทิพย์อนงค์เป็นผู้มาจุดประกายให้เราอยากเขียน  สะเทือนใจในเรื่องนี้เราถึงเอามาเขียนทีหลัง 


โกศล   อนุสิม
คือผมขอย้อนไปนิดหนึ่งนะครับ ผมเข้ามหาวิทยาลัยช่วง  ๒๕๒๐  และช่วงนั้นพี่ประเสริฐกลับมาจากป่าใหม่ๆ  แต่ผมรู้จักกับพี่ประเสริฐน่าจะประมาณ  ๒๗, ๒๘, ๒๙ , ๓๑, ๓๒  จนมาพี่ประเสริฐมาอยู่กรุงเทพฯ  คือตอนที่สนิทกันที่สุดคือปี  ๒๘, ๒๙ เพราะว่าผมอยู่ที่หอพักรัชดาภิเษก  ตรงกันข้ามกับวิทยาลัยครูสวนดุสิต  สถาบันราชภัฏสวนดุสิตในปัจจุบันนี้  เป็นหอพักนักศึกษา แล้วพี่ประเสริฐก็เช่าบ้านอยู่ตรงสวนอ้อย  แล้วเราก็รู้จักกันในฐานะที่พวกผมเป็นนักเรียนที่พอรู้จักตัวจริงเราก็เกิดความสนิทสนม และพี่ประเสริฐเขาจะดูแล  แนะนำ  สั่งสอนน้องๆ ทางด้านสติปัญญาในเรื่องการเขียนหนังสือ เล่าเรื่องประวัติศาสตร์ให้ฟัง ก็สนิทกัน  ถึงขนาดที่ว่าเค้ามาพักค้างอยู่ที่หอพักกับพวกผมด้วย  ก็จะมีกันอยู่ประมาณ  ๑๐ กว่าคน  คืนหนึ่งก็จะมาค้างกับอีกคนหนึ่ง  อีกคืนไปค้างกับคนอื่น ก็วนเวียนไปเรื่อย แล้วพวกเราก็จะสนิทสนมพูดคุยกัน  แล้วพี่ประเสริฐจะเขียนหนังสือไวมาก เขียนกลอนเร็วมาก พอได้อารมณ์ขึ้นมาจะเขียนเลย  ตรงโต๊ะกินเหล้า เขียนเสร็จก็ยื่นให้  แล้วก็จะพูดภาษาว่า “เอ่ย…บักสนมึงเอาอันนี้ไป”  เขามีบทกวีบทหนึ่งที่ผมท่องได้  พี่เสริฐเขียนให้ 



“สุดแท้แต่ชีวิตมันจะเป็น  ยากเข็ญจึงเขียนอยู่มาได้  เพราะชีวิตลมหายใจ…ถูกเหยียดถูกหยามไม่ครั่นคร้าม  ยามตายแล้วแต่จะเผาผี  อวดดีนัก  อวดดี  จะอวดดี  เป็นกวีอดตายก็ช่างมัน”  (หมายเหตุ  บทกวีช่วงนี้ตรง …คือฟังไม่ชัด  ต้องขออภัยด้วย)


สมัยก่อนผมจะพกสมุด  ถึงกินเหล้าเมาขนาดไหนก็ไม่ลืม ประทับใจอะไรก็จะจดไว้ พี่ประเสริฐแกก็จะเขียนใส่ทิชชู่หรืออะไรก็ไม่รู้แหละ  พอให้ผมก็จะมาคัดลอก  ผมไปค้นมาสมุดเล่มนี้เกือบ  ๓๐ ปีแล้วก็จะมีเบอร์โทรประเสริฐ  จันดำ  ๔๑๑๐๙๕๘ ห้อง  ๒๑  นี่คือหอพักของสวนอ้อย  และบทกวีบทนี้ผมคิดว่าเป็นการอธิบาย  ตัวตนของพี่ประเสริฐ  จันดำ  แล้วก็ชีวิตของพี่ประเสริฐ  จันดำ  สมุดเล่มนี้ผมเลิกใช้เมื่อเดือนตุลาคม  ๒๕๓๑  ยังไม่ได้ย้ายไปบุรีรัมย์  ยังไม่ได้เจอพระเจ้า  พอเจอพระเจ้าพี่ประเสริฐจะเรียบร้อยมาก แล้วเขาจะเลิกกินเหล้า เลิกสูบบุหรี่  แต่งตัวเรียบร้อย  มีอยู่ครั้งผมเจอผมถามว่า พี่พี่เลิกกินเหล้าแล้วเป็นยังไง  พี่ประเสริฐบอกว่าได้กลิ่นดอกไม้  หอมดอกไม้  สมัยกินเหล้าสมัยสูบบุหรี่ไม่ได้กิน  และในบทกลอนเล่มนี้ก็จะมีบทกลอนของ  ไท  สร้างสูงเนิน  ซึ่งผู้เขียนบอกว่าเป็นตัวตนของประเสริฐ  จันดำ  ที่นำเอามาเขียนไว้ในหนังสือเล่มนี้ แล้วก็มีบทกวีที่ไท  สร้างสูงเนินเขียน  ในเล่มนี้


ผมอยากจะเรียนถามท่านอาจารย์สุวรรณาว่า  ไท  สร้างสูงเนินในเล่มนี้ กับไท  สร้างสูงเนินที่ชื่อประเสริฐ  จันดำ  มีความเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไรบ้างครับ


 


อาจารย์สุวรรณา  เกรียงไกรเพ็ชร์
เวลาอ่านเรื่องของคุณชมัยภรจะอ่านแบบคนอ่านจริงๆ  ถ้าอ่านไปแล้วเจออะไรติดใจขึ้นมาก็จะโทรไปคุยกัน  แต่สำหรับเรื่องนี้เวลาที่อ่าน  อ่านเป็นตอนๆ ในนิตยสาร  อ่านแบบคนอ่านจริงๆ แล้วก็ไม่พยายามจะทำความรู้สึกว่า  เหตุการณ์นี้ใช่ไหม  ตอนนี้เป็นอย่างไร  อันที่สองก็คือเมื่อเวลาที่อ่านบทกวีก็นึกชมคนเขียน  อันนี้ชมจริงๆ นะคะ ไม่ใช่ว่ากันเองแล้วก็มาชม ปกติไม่ค่อยชมเท่าไหร่หรอก  ที่ชมเพราะเราก็รู้ว่าคุณชมัยภร นอกจากจะเป็นนักเขียนเป็นนักวิจารณ์  แล้วก็ยังเป็นกวี เขาเขียนกวีนิพนธ์มาก่อนด้วยซ้ำไป  ดิฉันไม่มีความรู้สึกเลยว่าเป็นงานของชมัยภรหรือเป็นงานของชมจันทร์  หรือเป็นงานอะไรที่เป็นตัวตนของเค้า  ยังพูดกับเค้าในตอนนั้นเลยว่า  ชอบนะบทที่เขียนลงในตอนนี้  มันเหมือนผู้ชายเขียนจริงๆ  เขาทำหน้าแบบไม่รู้ว่าพอใจหรือไม่พอใจ  เขาบอกว่า อ้าวก็นี่มันไท  สร้างสูงเนินเขียนนี่  พออ่านไปอีกถึงรู้ว่ามีตัวตนบางอย่างอยู่ในนั้น  แต่สำหรับบทกวีที่เขาเขียนนี้  มันออกมาเป็นคุณประเสริฐ  เพราะก่อนที่เราจะไปสนใจว่าเป็นงานของคุณประเสริฐ หรือเขียนเกี่ยวกับเรื่องคุณประเสริฐ  เรารู้สึกว่าถ้าตัวตนเขาจะเขียนอย่างนี้จริงๆ แต่จริงๆ แล้วบทกวีที่อยู่ในนี้เป็นคุณชมัยภรเขียน  มีอยู่บทเดียวเท่านั้นที่ยกเอามาจากบทกวีของคุณประเสริฐ  จันดำ 


จะยกตัวอย่างให้ดูว่า  เขาเขียนโดยลบตัวตนของตัวเองให้เป็นคุณประเสริฐ ได้ยังไง  ความรู้สึก น้ำเสียงอะไรในนี้  คืออันนี้พูดถึงเฉพาะบทกวีก่อนนะคะ ดิฉันที่จริงก็หลายบทในนี้ก็บอกเขาไปเหมือนกัน  บางบทเป็นความประทับใจของตัวคนเขียนหรือเปล่า 


โกศล  อนุสิม 
คือผมก็เห็นด้วยกับอาจารย์นะครับว่า ครั้งแรกที่ผมไปบ้านนักเขียน  แล้วก็นักเขียนก็ยื่นหนังสือเล่มนี้มาให้ผมอ่านบทกวี  ให้ผมทายว่าเรื่องนี้น่าจะเป็นเรื่องของใคร  ผมบอกว่าเป็นเรื่องของพี่ประเสริฐ  จันดำ  ผมทายถูกแต่บทในนี้ผมไม่รู้ว่าบทไหน 


อาจารย์สุวรรณา  เกรียงไกรเพ็ชร์
มีบทหนึ่งที่ติดใจและพูดกับเค้ามาตลอดว่าชอบบทนี้ แต่ท่านลองดูละกันว่าใช่หรือเปล่านะคะ  บทที่จะปรากฏอยู่ตลอดเวลา แล้วมันสามารถบ่งบอกถึงทั้งความเป็นหนังสือเล่มนี้ และทั้งความเป็นคุณประเสริฐ และสิ่งต่างๆ  ที่เกิดขึ้นในช่วงยุคสมัยที่หนังสือเล่มนี้เล่าเหตุการณ์ตอนนั้นนะคะ 


เปิดหน้าต่างยามเช้า แสงอรุณบางเบาสว่างหวาน  คิดถึงรักฉับพลันของวันวาน  ซึ่งได้ผ่านไปแล้ว ณ วันนี้  อุทิศตนให้แล้วประชาราษฎร์  ถึงรักเธอไม่อาจรักเต็มที่  ปิดหน้าต่างแห่งอรุณอุ่นชีวี  เปิดประตูอีกทีตะวันแดง 


ถ้าท่านอ่านหนังสือเล่มนี้  ท่านจะพบบทกวีบทนี้แทรกอยู่ในบทต่างๆ  แล้วลองถามความรู้สึกของท่านเองเวลาที่อ่านนะคะว่า  บทกลอนสองบทแปดวรรค  บอกอะไรของความเป็นประเสริฐ  จันดำ  บอกอะไรของความจริงยุคสมัยนั้น  ยุคสมัยที่ก็ไม่ได้ห่างเราเลยนะคะ  บอกอะไรถึงความเป็นบรรยากาศของสิ่งที่นักเขียน  เรียกว่าเหมือนฟ้ามีพระอาทิตย์สองดวง  ท่านลองอ่านดูจากหนังสือเล่มนี้ดู 


ชมัยภร  แสงกระจ่าง
น้องคนหนึ่งที่ฟังอยู่ส่ายหน้าว่าบทนี้ไม่ใช่ของประเสริฐ  จันดำ เพราะน้องเค้าเคยอ่านงานของประเสริฐ


สุวรรณา  เกรียงไกรเพ็ชร์
บทนี้ไม่ใช่ของคุณประเสริฐทั้งหมดแน่ๆ เพราะมีเสียงบางเสียงของคุณชมัยภรอยู่ เสียงของคุณชมัยภรคือเสียงของอรุณ  เสียงของหน้าต่าง  แต่ที่จริงที่บอกเล่าในตอนสุดท้าย  มันเป็นส่วนของยุคสมัย


โกศล  อนุสิม
ตะวันแดงเป็นสัญลักษณ์บางอย่าง อาจจะเป็นสัญลักษณ์แทนยุคสมัยนั้นหรือเปล่า


ชมัยภร  แสงกระจ่าง
สมัยนั้นเป็นยุคของมัน  สมัยนี้มันกลายเป็นพวกร้านอาหาร  ฟังเพลงเพื่อชีวิตไปแล้ว 


สุวรรณา  เกรียงไกรเพ็ชร์
บทนี้เป็นบทที่ชอบมากแล้วหลังจากนั้นเราสองคนได้คุยกัน คือเราชอบคุยกันเวลาตอนดึกๆ  สักสองยามไปแล้วนะคะ  ก็จะคุยกัน  บทนี้เป็นบทที่พูดถึงหลายครั้ง และจะบอกเค้าไปว่า  บทนี้ชอบมากที่สุด แต่อยากรู้จังเลยว่าเวลาคนอื่นเค้าอ่าน  คือดิฉันก็อ่านแบบเป็นคนอ่านที่ไม่ได้รู้นู่นรู้นี่ แต่พูดกับคุณชมัยภรบอกว่า  อยากรู้ว่าเวลาที่คนอื่นได้อ่านบทนี้แล้วจะเข้าใจมันไหมว่า  มันซับซ้อนอะไรไหมในความหมายของหนังสือ  บทนี้คือบทที่บอกว่า


ฉันขี่ม้าควงดาบฟ้าฟื้นมาจากวันวาน  ออกมายืนตระหง่านอยู่ริมกำแพง  มองดูปัจจุบันประหัตประหารกันด้วยความเศร้าใจ  หันมามองฉันหน่อยสิ  ฉันอยากจะบอกอะไรบางอย่าง  หากอยากอยู่ในประวัติศาสตร์    อย่าควงดาบฟ้าฟื้น 


อันนี้ไม่ใช่บทกลอนใช่ไหมคะ แต่มันมีอะไรมากกว่านี้ มันบอกถึงความรู้สึกของ  มันบอกถึงความเป็นคนไทยบางอย่าง บอกถึงความเป็นนักสู้  อะไรหลายๆ อย่าง  แต่ดิฉันก็ไม่แน่ใจว่า  ท่านอ่านบทนี้แล้วท่านจะคิดว่ายังไง ทำไมถึงบอกว่า ถ้าอยากอยู่ในประวัติศาสตร์ อย่าควงดาบฟ้าฟื้น


โกศล  อนุสิม
ก็ฝากท่านผู้อ่านไปซื้อหนังสือเล่มนี้มาอ่าน  แล้วก็อ่านดูว่า ทำไมถึงอยากให้อยู่ในประวัติศาสตร์  อย่าควงดาบฟ้าฟื้น ต้องท่องคำว่า สันติ อหิงสาหรือเปล่า 


ชมัยภร  แสงกระจ่าง
บอกก่อนนะคะว่าตอนเขียน  ยังไม่มีเรื่องในสังคมมากขนาดนี้นะคะ  เรื่องนี้จบไปหลัง  ๑๙  กันยาแป๊บเดียว  ยังไม่มีถึงขนาดนี้เลย  ซึ่งสังเกตสถานการณ์แล้วว่าถ้าเขียนต่อ  ดิฉันต้องตายแน่ๆ เลย


โกศล  อนุสิม
แต่ดูเหมือนว่าหนังสือเล่มนี้จะทำนายอนาคตในวันนี้ 


ชมัยภร  แสงกระจ่าง
แม้แต่ที่อ่านนี้ยังทำนายเลย  ฉันขี่ม้าควงดาบฟ้าฟื้น  ยังตรงกับปัจจุบัน แสดงว่าสังคมเรายังย่ำอยู่กับที่มากเลย 


โกศล  อนุสิม
ถ้าอย่างนั้นต้องฝากท่านผู้อ่านไปอ่านและทำการบ้านว่า ทำไมอยากอยู่ในประวัติศาสตร์ แล้วต้องไม่ควงดาบฟ้าฟื้น  ทีนี้อยากจะฟังลูกสาว  หลังจากได้ฟังคุณอาคุณป้า แล้วลูกสาวมีเรื่องราวคุณพ่อรับรู้ผ่านจากคนอื่นๆ แล้วมีความรู้สึกอย่างไร  เกี่ยวกับชีวิตของคุณพ่อ  เห็นบอกว่ามีอะไรที่เขียนถึงคุณพ่อด้วย อยากจะอ่านให้ฟัง 


ทิพย์อนงค์  จันดำ
จะต้องเล่าเท้าความถึงเมื่อกี้ที่อาอี๊ดพูดก่อน เพราะว่าวันนั้นที่หนิงเอาหนังสือแล้วก็มาถามว่าคุณไพลิน รุ้งรัตน์  ใช่ไหม  ที่เขียนหนังสือ  ลมหายใจสุดท้ายของประเสริฐ  จันดำ  ที่อาอี๊ดบอกเมื่อกี้คือคอลัมน์ลมหายใจกวี


ชมัยภร  แสงกระจ่าง
อันนี้คือหนังสือที่ทำเมื่อคุณประเสริฐเสียชีวิตแล้ว และตัวผู้ที่ทำหนังสือนี้  มาขอให้ดิฉันรวบรวมผลงานของคุณประเสริฐ  จันดำ  ซึ่งเป็นผลงานที่ไม่เคยตีพิมพ์ที่ไหนเลย  ดิฉันก็รวบรวมเป็นหมวดหมู่แล้วก็เขียนบทวิเคราะห์ให้เสร็จเรียบร้อย  ก็ถือเป็นหนังสือที่ระลึกถึงพี่ประเสริฐนะคะ  ลมหายใจสุดท้ายของประเสริฐ  จันดำ  แล้วก็สำนักพิมพ์ดอกหญ้าจัดพิมพ์ 



ทิพย์อนงค์  จันดำ



ต้องบอกว่าขอบคุณหนังสือเล่มนี้ ถ้าไม่มีหนังสือเล่มนี้  ก็จะไม่รู้จักกับคุณชมัยภร  ตัวหนิงเองอ่านหนังสือเล่มนี้แล้วก็มีการกล่าวถึงไพลิน  รุ้งรัตน์ ก็อยากจะเจอในความหมายที่จะเจอคืออยากที่จะสื่อถึงพ่อ เมื่อกี้ก็ได้เล่าไปแล้วว่าทำไมหนิงถึงไม่ได้เจอกับพ่อ  ก็ต้องการเจอคนนี้ไม่ใช่เพราะอะไร ไม่ได้มีความหมาย  ตัวหนังสือนี้ก็เลยทำให้หนิงรู้สึกว่าอยากรู้จัก  คนที่เขาได้สัมผัสถึงตัวงานของพ่อ แล้วเอามาวิจารณ์ เอามานำเสนอ ก็เลยมาตามหา  โดยที่ไม่ได้คิดว่าจะเจอหรือว่าจะมีอะไรต่อเนื่องมา


ตอนที่พ่อเสียชีวิตครบ  ๗ ปีก็เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับที่หนิงได้มาเจออาอี๊ด  ช่วงนั้นมีงานรำลึก  พอดีมีการจัดงานและมีคนอยากให้เขียนบทกวีถึงพ่อ  อาจจะเป็นบทกลอนหรือบทกล่าวอะไรถึงพ่อบ้าง  ช่วงนั้นหนิงก็ได้มีโอกาสอ่านบทกวีบทนี้  ตอนนั้นมันเป็นงานจัดรำลึก  ๗  ปีที่สถาบันปรีดี  แล้วหนิงก็แต่งบทกวีบทนี้ขึ้นมา  บทกวีชื่อว่า  จากใจลูกสาวกวี


ตั้งแต่เล็กเด็กน้อยไม่เคยรู้
ว่าพ่อตนนั้นอยู่ ณ หนไหน
แม้บางทีอาจคิดสะกิดใจ
ว่าทำไมสองเราต้องห่างกัน 
อาจเป็นเพราะชะตาฟ้ากำหนด 
ให้รู้รสของชีวิตลิขิตฝัน 
พ่อกับแม่นั้นเลือกทางเดินต่างกัน
 ทำให้ฉันมิอาจครบสมบูรณ์ 
เพียงแต่รู้ว่าพ่อเป็นนักเขียน 
ได้แต่เพียงจำไว้ไม่ให้สูญ 
นามประเสริฐ  จันดำ  นั้นเทิดทูน 
ใจอาดูรถึงพ่อผู้บิดา 
วันเวลาผ่านมา  ๑๘  ปี 
ใจดวงนี้อยากรู้อยากค้นหา
 แม้ว่าพ่อไม่ติดต่อไม่ถามมา 
ตัวลูกยาจะค้นหาตัวพ่อเอง 
ไม่ใช่เรื่องง่ายดายจะตามสืบ 
แม้ในหลืบหัวใจยังว่างเหวง 
ได้เพียงหาผลงานไปตามเพลง
 แล้วบรรเลงประติดประต่อด้วย…. 
เพียงหนึ่งเรื่องสองเรื่องที่เคยรู้ 
ว่าพ่ออยู่พ่อเป็นจริงมิใช่ฝัน 
พ่อต่อสู้ด้วยมือของพ่อนั้น 
ด้วยความฝันลูกชาวนาที่ยากจน
 แม้จะเป็นเพียงฝอยฝนบนม่านฝุ่น 
พ่อก็ลุ้นให้เป็นจริงในหลายหน 
พ่อเพียงอยากสืบสานตำนานคน 
พ่อดิ้นรนร่างจดหมายจากชาวนา 
แม้มีเพียงห้าสิบฝนที่พ่อผ่าน
 เกินประมาณกับชีวิตแล้วนั้นหนา 
ห้าสิบปีมันเป็นเพียงแค่เวลา
 ที่ผ่านมามันอยู่ที่การกระทำ 
พิษสุรานั้นพาพ่อลาจาก 
มันได้พรากหัวใจลูกให้ตระหนัก 
เหลือผลงานทิ้งไว้เป็นความทรงจำ 
ช่วยตอกย้ำในนามความเป็นคน 
แม้ชีวิตของลูกในวันนี้
จะอยู่ดีกินดีในทุกหน 
ลูกก็จะสำนึกในตัวตน 
ว่าเป็นลูกของคนเคียวเกี่ยวดาว
(หมายเหตุ บทกวีชิ้นนี้หากมีผิดตรงไหน ต้องขออภัย ตรงจุดประ คือฟังไม่ชัดเช่นกัน)


อันนี้เป็นบทกวีที่รำลึกครบรอบ  ๗  ปีการจากไปของพ่อ ตอนนั้นหนิงอายุ  ๑๘  และตอนนี้  ๒๖  แล้ว 


โกศล  อนุสิม
แล้วภาพของคุณพ่อที่ได้รับรู้ตอนนี้คิดว่ามีความสมบูรณ์ขึ้นไหมในความคิดของเรา 


ทิพย์อนงค์  จันดำ
ต้องบอกว่าตอนก่อนหน้านั้นหนูไม่เคยอ่านงานของพ่อเลย  คือสำหรับเด็กๆ อาจจะรู้สึกว่าบทกวีมันอ่านยาก เข้าถึงยาก  ทำไมไม่อ่านง่ายๆ แบบนิยาย  อ่านแล้วไม่เข้าใจ  ทำไมพ่อถึงต้องต่อสู้เพื่อคนจน  ทำไมชาวนายากจนหรือข้นแค้น  หรือว่าต้องต่อสู้เพื่ออะไรแบบนี้  คือไม่เข้าใจ  พอโตๆ ขึ้นมาแล้วก็เริ่มอ่าน  พอเริ่มอ่านก็เข้าใจและมีภาพของพ่อ  จากที่มีความรู้สึกว่าพ่อเลือกทางเดินชีวิตแบบอุดมคติ


โกศล  อนุสิม
แล้วคิดว่าไท  สร้างสูงเนิน  จำลองชีวิตภาพของคุณพ่อได้ดีขนาดไหน


ทิพย์อนงค์  จันดำ
คิดว่าเป็นพ่อได้เลยค่ะ  อย่างเมื่อกี้ที่อ่านบทกวี  จำวรรคได้ว่า  อุทิศตนแล้วเพื่อประชาราษฎร์  ซึ่งความจริงแล้วมันแทนภาพนั้น  อย่างเมื่อไม่นานนี้หนิงได้อ่านเนชั่นสุดสัปดาห์  เป็นลูกชายของจ่าเพียร  เขาเขียนถึงประเสริฐ  จันดำ  ซึ่งเวลาที่เราเห็นที่ไหนพูดถึงพ่อหนิงจะสนใจ เพราะอยากรู้ว่าคนอื่นเขาจะพูดถึงในแง่ไหน ไม่ใช่ในแง่ที่ว่ากินเหล้า  ซึ่งหนิงรู้สึกว่าเป็นเรื่องปกติของชีวิตและสิ่งที่เขาเลือก  แต่ว่าแง่มุมของตัวลูกชายของจ่าเพียรเขียนถึง เขาเขียนถึงว่า  เขาได้ใช้ชีวิตช่วงหนึ่งร่วมกับประเสริฐ  จันดำ  แล้วเขาก็ถามว่า  นายผีพูดกับพี่ยังไง  ตอนที่พี่เสริฐออกจากป่า  พ่อก็ตอบว่า  เสริฐจะทำอะไรก็ได้  จะเขียนกวี  จะเขียนกลอนเปล่า หรือว่าอะไรก็ได้ แต่ขออย่างหนึ่งคืออย่าทิ้งประชาชน  หนิงเลยเข้าใจว่าพ่อเลือกแบบนี้ค่ะ  เลือกทางเดินแบบนี้  ซึ่งตัวหนิงเองก็ไม่มีปัญหาอะไร  ก็เคารพในสิ่งที่พ่อเลือก


โกศล  อนุสิม
แสดงว่าไท  สร้างสูงเนิน ในนิยายเล่มนี้  ก็เป็นตัวแทนของประเสริฐ  จันดำ ได้ 


ชมัยภร  แสงกระจ่าง
คือเวลาเขียนนวนิยายนะคะ  ดิฉันคิดว่าใครที่รู้จักพี่ประเสริฐ  จันดำ  ชัดๆ  มาอ่านก็คงบอกว่าไม่ใช่  เขาคงบอกว่าก็นี่คือ ไท  สร้างสูงเนิน  มันไม่ทางเป็นคนเดียวกันเต็มร้อยได้ แต่ว่าไท  สร้างสูงเนิน  ได้รับบางส่วน ได้รับอิทธิพลบางส่วนมาจากประเสริฐ  จันดำ ผู้เขียนได้แรงบันดาลใจจากประเสริฐ  จันดำ  มาสร้างเป็น  ไท  สร้างสูงเนิน  คือมันไม่ใช่ตัวของประเสริฐ  จันดำ  ไท  สร้างสูงเนิน  อาจจะดู  ยังไงหล่ะ เอาอย่างง่ายๆ  หนิงเขาไม่ชอบให้ใครพูดถึงพ่อในแง่คนขี้เมา  ถ้าเราจะเขียนประเสริฐ  จันดำ  จริงๆ  เราจะไปเขียนฉากขี้เมาของเค้าสุดชีวิตเหรอ  มันไม่ใช่  เพราะเราไม่อยากจะเขียนประเสริฐ  จันดำ  แบบนั้น เราต้องการจะสร้างไท  สร้างสูงเนิน  ขึ้นมาให้เป็นผู้ชายคนที่รู้เหมือนกันว่า  จริงๆ แล้วมนุษย์ต้องมีชีวิตครอบครัว แต่เมื่อจิตส่วนหนึ่งมันอยากทำเพื่อคนอื่น  อยากทำเพื่อคนส่วนรวม  คนส่วนใหญ่  ก็เลยต้องเกิดการเลือกระหว่างครอบครัว  กับระหว่างชีวิตส่วนรวม  ชีวิตของคนอื่น  มันก็เลยเกิดความขัดแย้ง เราจะสังเกตได้ว่า  ในเรื่องนี้ดิฉันพยายามสร้างความขัดแย้งเกือบทุกมุม  แม้แต่ครอบครัวธรรมดา  ครอบครัวที่คุณตาคุณยายซึ่งเป็นพ่อแม่ของนางเอก  ก็เป็นครอบครัวที่มีความขัดแย้ง เหมือนมีพระอาทิตย์อยู่ตลอดเวลาในบ้านสองดวงนะคะ  ตัวพ่อคือตัวไท  สร้างสูงเนิน กับลูกสาวก็มีความขัดแย้งเหมือนพระอาทิตย์สองดวงเจอกัน  อะไรทำนองนี้  คือคนที่เป็นพระอาทิตย์ เจอกันแล้วมันจะร้อนทั้งคู่   เพราะฉะนั้นจะทะเลาะกันเยอะมากในเล่มนี้  เดี๋ยวๆ ก็ปะทะ  เดี๋ยวๆ ก็ปะทะ  ตอนที่เขียนตั้งชื่อเรื่องเรื่องนี้  จำได้ว่าคุณสุริยัน แม้วคนรักแมว  เขาก็ได้ยินชื่อเรื่องว่าดิฉันจะเขียนเรื่อง เหมือนฟ้ามีพระอาทิตย์สองดวง  เขาบอก พี่ ดวงเดียวมันก็แย่แล้วนะพี่นะ  ตามหลักวิทยาศาสตร์สองดวงไม่มีอะไรเหลือแล้วนะ  ก็เลยเออนั่นมันหลักวิทยาศาสตร์  ก็เลยเอาชื่อนี้แหละ  ก็เลยใช้ชื่อนี้ 


โกศล   อนุสิม
อาจารย์ครับในแง่ที่เอาชีวิตของคนมาเขียนนวนิยาย ในการสร้างนวนิยายซึ่งจัดฉากชีวิตของคนจะมีสัดส่วนหรือว่ามีกลวิธียังไง มีวิธีการยังไงถึงจะให้ชีวิตของคนมาโลดแล่นในนวนิยาย


สุวรรณา  เกรียงไกรเพ็ชร์
คือคำถามนี้ต้องไปเรียนวิชาวรรณกรรมสร้างสรรค์  โดยสอนอยู่  ๓๖  ชั่วโมงต่อเทอม  ก็ตอนนี้ก็ไม่ได้เปิดแล้วนะคะ  คืออย่างนี้นะคะ  ต้องขอพูดตามประสาที่ดิฉันเป็นคนอ่าน  ส่วนหนึ่งคือดิฉันเป็นอาจารย์สอนวรรณกรรมสอนภาษามาโดยตลอดก็จริง แต่ว่าเวลาอ่านหนังสืออ่านด้วยตัวตนธรรมดาของตนเอง  คือดิฉันอยากจะพูดถึงสองอย่างเกี่ยวกับการสร้างตัวละคร  ชีวิตคือตัวละครทุกตัวต้องมีชีวิต  ชีวิตตัวละครมันจะมีขึ้นได้สมบูรณ์  มันต้องเห็นบุคลิกของตัวละคร  ทีนี้จะมีตัวแทนชีวิตดิฉันตอบไม่ได้  เพราะดิฉันไม่ได้เป็นนักเขียน  อาจจะเคยเขียนเรื่องสั้นแต่ว่าก็นานมากแล้ว  เพราะฉะนั้นไม่ตอบในแง่นั้น  แต่ถ้าอะไรที่ลงตัวเป๊ะ  อย่างเปิดตำราทำอาหารว่าต้องใช้อะไรกี่ช้อนชากี่ช้อนโต๊ะ  มันจะรับประกันว่าออมอร่อย  รับประกันได้ว่าออกมากินได้  มันจะเหมือนคนเขียนหนังสือถ้ามันลงถ้วยตวงขนาดนั้น  มันจะออกมาสมบูรณ์ แต่ว่าไม่มีรสอะไรบางอย่าง


คือคุณชมัยภรเวลาเขาเขียนหนังสือหรือสร้างตัวละคร ดิฉันต้องคุยกับเขา  ต้องคุยกับเขาว่า  เธอรู้จักกับศิลปิน  ช่างปั้นคนหนึ่ง เขามารับงานปั้นรูปเธอ  อันนี้ดิฉันขอย้อนไปนิดหนึ่ง  ว่าจริงๆ  ศิลปะคือศิลปิน  ก็มารับจ้างปั้น  ปู่ย่าตายไปนานแล้วแต่ไม่มีรูป แต่รูปปู่มีสองยุค  รูปหนึ่งเป็นรูปตอนที่ปู่หนุ่มมาก  ส่วนรูปย่าเป็นรูปที่แก่มาก  ต้องปั้นสองคนคู่กัน ทำยังไงเขาถึงจะปั้นได้  เป็นสามีภรรยากัน  เดี๋ยวจะกลายเป็นว่า เอ๊ะปู่หนุ่มฟ้อ ย่าแก่ เพราะปั้นมาทีแรกดิฉันก็ขึ้นไปดูอยู่ต่างจังหวัด  ไปจ้างเขามาแล้วก็มาปั้น  คือตอนแรกก็บอกไปว่า ไม่เหมือนปู่ไม่เหมือนย่าเลย  ก็เลยไปพูดกับคนปั้นว่า ไม่เหมือนเลยค่ะ นี่มันต้องแก้กันขนาดไหน  ก็เลยบอก  อาจารย์คนปั้นรูป  ขั้นที่หนึ่งต้องปั้นให้เหมือนคนก่อน  แล้วขั้นที่สองถึงจะปั้นให้เหมือนคุณ  เหมือนคุณก็คือเหมือนคุณคนนั้น แต่ต้องปั้นให้เหมือนคนก่อน ดิฉันก็มาคิดถึงตรงนี้  ต้องมาตีความเข้ากับตนเองตรงนี้  บอกว่าตัวละครของคุณชมัยภร เวลาเขาสร้างขึ้นมา ตัวละครจะเป็นคนก่อน  คือจะรู้สึกถึงความมีชีวิตจริง จะเป็นใครไม่สำคัญ แล้วหลังจากนั้นจะไม่ค่อยสร้างในส่วนที่เป็นบุคลิก ในส่วนที่เป็นเนื้อหนังที่อยู่เนื้อใน เพราะฉะนั้นตัวละครของเค้ามันพูดยาก ดิฉันจึงพูดอยู่เสมอเวลาที่มาคุยกัน เวลาที่ไปวิจารณ์ที่ไหนหรือเขียนวิจารณ์ให้นะคะ  ที่จริงก็ไม่อยากทำนะ  คนไม่รู้จะมานึกว่านี่กันเองจะมายอกันอยู่ ดิฉันไม่เคยยอเค้าเลยนะคะ คือวิธีการสร้างตัวละครของเค้า  มันจะมีตัวชีวิตอยู่ข้างใน เขาอาจจะบอกว่าตัวนี้สร้างมาจากตัวที่มีแรงบันดาลใจจากคุณประเสริฐ  จันดำ  แต่เมื่อเขาสร้างชีวิตตรงนี้ขึ้นมาแล้ว  ส่วนที่เหลือนอกจากนั้นก็คือบุคลิกหรือลักษณะต่างๆ ที่เป็นไท  สร้างสูงเนิน พอถึงตรงนั้น  จะเป็นประเสริฐหรือไม่เป็นประเสริฐ  ไม่ได้สำคัญที่สัดส่วนของมันแล้ว  แต่สำคัญที่ว่าตัวละครไท  สร้างสูงเนิน  มันสร้างอะไรขึ้นมาในความที่มีชีวิตกับคนหนึ่งขึ้นมา  และดิฉันก็ตอบตรงนี้ได้เลยว่า ตลอดเวลาที่อ่านเป็นตอนๆ ดิฉันไม่เคยสนใจที่จะดูเลยว่าเป็นคุณประเสริฐหรือว่าไม่เป็น  ตรงไหนบ้างที่เหมือน หรือว่าตรงนี้คุณประเสริฐไม่พูดอย่างนี้หรอก  ไม่เคยรู้สึกตรงนั้นเลย เพราะรู้สึกว่าเวลาที่เราอ่านอยู่คือไท  สร้างสูงเนิน   อันนี้พูดได้อย่างจริงใจ และถ้าเกิดคุณไปอ่านเรื่องอื่นของคุณชมัยภร  ก็จะมีบุคลิกอย่างนั้น ถ้าคุณอ่านเรื่องการเกลาผัดไทไม่ใส่เส้น  ซึ่งที่จริงเค้าก็บอกเลยว่าเขาได้เรื่องมาจากแท็กซี่คนหนึ่ง  มีตัวตนอยู่ในชีวิตจริง  แต่ถ้าคุณไปหาแท็กซี่แล้วมาบอกว่านี่ไม่ใช่ตัวเค้าหรอก แต่เขาเป็นแท็กซี่ใช่  เค้าเลยเล่าเรื่องนี้ใช่   แต่ตัวละครตัวนั้นที่สร้างขึ้นมาโดยนักเขียนคนนั้นก็ไม่ใช่แท็กซี่คนนั้นแล้ว แต่จะสะท้อนอะไรบางอย่าง  ของคนๆ นั้นออกมาได้  ซึ่งไท  สร้างสูงเนินในทีนี้  ก็มีความประทับใจกับเราได้อย่างลึกซึ้ง  โดยที่ไม่จำเป็นต้องบอกว่า เนี่ยมาจากคุณประเสริฐเลยนะ 


แล้วก็ดิฉันก็ขอบอกว่า  ตอนที่คุณชมัยภรกำลังรุ่งโรจน์อยู่ท่ามกลางกวีหรือนักเขียน หรือนักวิจารณ์  ดิฉันไม่ได้อยู่ในประเทศไทยช่วงนั้น แต่ก็จะรู้ข่าวเป็นระยะๆ  ของวงวรรณกรรม  เค้าจะเขียนส่งข่าวคราวไปบ้าง  หรือกลับมาก็ได้อ่านอะไรบ้าง เพราะฉะนั้นในช่วงนั้น  ดิฉันไม่ได้คลุกคลีอยู่ในวงการพวกนี้เลย แล้วก็กลับมาก็มีสถานะเป็นอาจารย์สอนวรรณกรรม  สอนภาษาไทย  ยอมรับเลยว่าตอนนั้นวางตัวเองเป็นคนสอนวรรณกรรม เป็นผู้มองผ่านศึกษาวรรณกรรม แล้วก็วิจารณ์วรรณกรรมบ้าง  แต่ไม่ได้ไปคลุกคลีอยู่ในวงการมาก  ไม่ใช่ว่าเหยียดนะคะ  แต่ว่าไม่อยากจะรู้หรอกว่า พวกขี้เมาจะเขียนเรื่องขี้เมาด้วยเหมือนสุนทรภู่เหรอ  หรือว่าเขาเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ หรือว่าเขาเป็นแบบนี้ต้องเขียนแบบนี้แหละ  เขาธรรมะธัมโมจะตาย  มีอย่างเดียวที่พูดถึงคุณชมัยภรก็คือเมื่อไหร่จะเลิกพูดถึงหลวงตาและยายซะที  แต่เราก็รู้ว่านี่มันเป็นส่วนตัวของเค้า


เพราะฉะนั้นตรงนี้จะตอบยาวไปหน่อยแต่อยากให้ท่านได้มองเห็นตรงนี้นะคะว่า  ถึงเราจะเขียนเรื่องจากชีวิตจริงของใคร หรือเอาส่วนนั้นมาเป็นองค์ประกอบหลักหรือเป็นแรงบันดาลใจ  แต่ก็ใช่ว่าเราจะกำลังเขียนเล่าชีวิตของคนๆ นั้นหรือเขียนหนังสืองานศพ ไม่ใช่นะคะ ถ้านักเขียนที่มีฝีมือจริงแล้ว  คนของตัวละครของเค้า  มันจะมีชีวิตและเป็นชีวิตที่เราเชื่อได้ว่ามีอยู่จริง แล้วก็เป็นตัวตนของเค้า  ซึ่งจะสร้างความประทับใจหรือสร้างบทบาท ดีหรือชั่วหรืออะไรยังไงนั้นจะเป็นส่วนหนึ่ง 


โกศล อนุสิม
อาจารย์ใช้คำว่าแรงบันดาลใจ  น่าจะเหมาะกว่า  คือผมอ่านหนังสือเล่มนี้ ปกติแล้วในช่วงสี่ห้าปีมาผมจะอ่านหนังสือธรรมะ  ผมไม่ได้อ่านหนังสือนี้ แต่พออ่านหนังสือเล่มนี้  ผมบอกผู้เขียนว่า  ที่ผมไม่อยากอ่านหนังสือย่าอี๊ด  (ผมเรียกย่าอี๊ดตามลูกสาวนะครับ) เพราะว่าอ่านแล้วมันจะต้องอ่านรวดเดียวให้จบ เล่มนี้ผมก็จะอ่านวันเดียวเลย  ไม่ทำอะไรทั้งวันก็จะนั่งอ่าน  นอนอ่านจนจบ แล้วผมคิดว่าหนังสือเล่มนี้ได้อธิบายตัวตน  ในบางแง่มุมของพี่ประเสริฐ  จันดำ ได้ชัดเจน  ถ้าคนที่คลุกคลีอยู่กับพี่ประเสริฐ  จันดำ  ตัดประเด็นเรื่องกินเหล้า  สูบบุหรี่ของแกออกไป  ในแง่ความคิดของพี่ประเสริฐ  จันดำ  ผมว่าจะเป็นแบบในหนังสือเล่มนี้  คือไท  สร้างสูงเนิน พี่ประเสริฐ จันดำ  จะไม่พูดถึงตนเองเลย หรือว่าพูดถึงตนเองน้อยมาก  จะพูดถึงแต่คนอื่นหรือว่าประชาชน  หรือว่าคนอื่นๆ ที่เขาได้สัมผัสเรียนรู้ด้วย  พูดถึงในแง่ที่ดี ผมว่าพี่ประเสริฐจะไม่เคยว่าใคร  ไม่ค่อยว่าใคร  คนที่ถูกแกอาฆาตอาจจะเรียกได้ว่าเป็นคนที่แย่จริงๆ  ในมุมมองของผมนะครับ  ที่ผมอยู่กับพี่ประเสริฐ  และบทกวีในนี้ ใครที่ยังไม่ได้อ่านบทกวีของพี่ประเสริฐ  อ่านบทกวีในหนังสือเล่มนี้จะมีท่วงทำนองของพี่ประเสริฐ  อยู่ประมาณ  ๘๐%   พี่ประเสริฐ จะไม่ได้เน้นพวกกลวิธี  พวกเสียงสัมผัสอะไรเขาจะไม่เน้น  เขาจะเน้นความ  จังหวะคำ แล้วก็เน้นความหมาย  คล้ายๆ กับขุนช้างขุนแผน  ในบทกวีเล่มนี้จะเป็นบทกวีของพี่ประเสริฐ  จันดำ  ถ้าไม่ได้บอกว่าชมัยภร แสงกระจ่างเขียน ผมอ่านแล้วผมก็ยังคิดว่าพี่ประเสริฐเขียน  ถ้าให้ผมทายผมก็ทายว่าพี่ประเสริฐ  จันดำ  ซึ่งหนังสือเล่มนี้ถ้าคนอยากจะรู้ตัวตนของพี่ประเสริฐ  จันดำในแง่ที่ไม่ใช่เป็นคนกินเหล้า น่าอ่านหนังสือเล่มนี้  อธิบายได้พอสมควร  พอที่จะให้นำไปสู่การอ่านหนังสือ  ของพี่ประเสริฐจริงๆ เล่มอื่นๆ ได้  หลายคนอาจจะไม่รู้นะครับว่า พี่ประเสริฐ  จันดำ  เขียนเรื่องสั้นเป็นกลอนนะครับ  หนังสือชื่อนางไห้  ปกสีดำ ๆ นั่นแหละเป็นเรื่องสั้นที่เป็นกลอน 


ชมัยภร  แสงกระจ่าง
นั่นแหละเป็นแรงบันดาลใจ


ทิพย์อนงค์  จันดำ
มีอีกเล่มหนึ่งชื่อฝุ่นดิน 


ชมัยภร  แสงกระจ่าง
มี  ฝุ่นดิน  กับ  นางไห้  เพราะว่ามีบทกวีที่พี่ประเสริฐเขียนเป็นเรื่องสั้น  ตอนหลังที่ดิฉันทำขวัญสงฆ์ก็จะพูดไว้ในคำนำเหมือนกันว่าได้แรงบันดาลใจส่วนหนึ่งมาจากการเขียนเรื่องสั้นเป็นกลอนของพี่ประเสริฐ  เลยได้เขียนนิยายเป็นกลอน 


โกศล  อนุสิม 
แล้วกลอนในนี้ตั้งใจส่งวิญญาณของประเสริฐ  จันดำ  เขียนหรือเปล่า


ชมัยภร  แสงกระจ่าง
คือมันเป็นวิญญาณของกวีเพื่อชีวิต  คือจะบอกว่าเป็นประเสริฐ  จันดำในตอนเขียน จะรู้เลยว่าวรรคนี้มันมาแบบวิสา  คัญทัพ บ้างหล่ะ เสียงมันมาแบบประเสริฐ  จันดำ บ้างหล่ะ เรารู้ว่าเรากำลังเขียนให้ลงล็อคของนักเขียน ของกวีเพื่อชีวิตในสมัยนั้น เพราะเรารู้  เพราะดิฉันเคยเป็นคนคุมคอลัมน์มาก่อน แล้วก็เป็นคนที่ชอบกลอน  เป็นคนที่อ่านงานพวกนี้มาเยอะ แต่ว่าในทั้งหมดนี้ได้เอาบทจริงๆ มาใส่ไว้หนึ่งบท  ที่ใส่ก็เพราะว่าขณะตอนที่เขียนกั๊กอายุลง  เป็นไปรษณียบัตรในปี  ๒๕๓๑  นะคะ  ปีที่ดิฉันเองกำลังมีปัญหาชีวิตอย่างรุนแรง  ชีวิตหกล้มหน้ากระแทก พี่ประเสริฐเขียนการ์ดใบนี้มา ไม่ทราบว่าเขียนมาจากไหนนะคะ  ดิฉันเดาเอาว่าอยู่นนทบุรี  เขียนมาบอกว่า เขียนให้ชมัยภรนะ เพราะรู้ว่าทุกครั้งที่เขียนกลอนมาดิฉันจะลงให้ แต่อันนี้รู้ว่าถ้าเขียนมาจะเผลอเอาไปลง  ก็เลยเขียนมาทั้งหมดว่า กำลังใจวงเล็บส่วนตัวไม่ลงพิมพ์จ้ะ 


กลอนคำกำลังใจ
เจตนานิยมชม
จงคำของเธอคม
มิได้ด้อยแต่เด่นดี
ชมจันทร์ก็จันทร์จริง
ให้เป็นมิ่งเพชรรูจี
สื่อกลางเป็นศักดิ์ศรี
แด่ผองผู้สร้างคำกรอง


อันนี้ไม่ได้ใส่ไว้ในเล่มนี้นะคะ เพราะว่าเขียนระบุชื่อ  แต่ว่าวรรคต่อไป


ร้ายดีย่อมประจักษ์
อุปสรรคที่ทดลอง
เทียมเท็จหรือว่าทอง
จะผ่านเห็นจะเล็งเห็น
เถิดมืออันง่วนงาน
คือบรรสารที่เกิดเป็น
ใจเจ้าก็จงเย็น
เยี่ยงมหาชลาศรี
กรองคำกำลังใจ
ช่อดอกไม้หอมริมๆ
ชมจันทร์ให้จันทร์อิ่ม
กาลเวลาพิสูจน์คน



เป็นกำลังใจดิฉันมากว่าตอนนั้นเรากำลังทุกข์และมีคนเขียนบทกวีให้กำลังใจมาแบบนี้  ดิฉันก็คิดว่าเราต้องหาทางทำอะไรสักอย่างหนึ่ง  เอาบทกวีส่วนนี้เข้าไปไว้ในนิยายเรื่องนี้ เพื่อเป็นที่ระลึก ก็เลยให้ไท  สร้างสูงเนินเขียนกลอนให้กำลังใจตัวเอง  ก็เป็น 
ร้ายดีย่อมประจักษ์
อุปสรรคที่ทดลอง
เทียมเท็จหรือว่าทอง
จะผ่านเห็นจะเล็งเห็น
เถิดมืออันง่วนงาน
คือบรรสารที่เกิดเป็น
ใจไทก็จงเย็น
ดุจมหาชลาศรี
กรองคำกำลังใจ
ช่อดอกไม้หอมริมๆ
แสงไทส่องแผ่นดิน
กาลเวลาพิสูจน์คน


มันก็เข้าล็อคของมันได้เองโดยอัตโนมัติ  เพราะฉะนั้นจะเป็นบทเดียวที่เป็นฝีมือของพี่ประเสริฐจริงๆ  อยู่ตรงนี้ แต่ถ้าสังเกต  ดิฉันจะไม่เอ่ยชื่อพี่ประเสริฐไว้ที่ไหน  เพราะว่ามีความรู้สึกเหมือนเราไปแอบอ้าง  เวลาเราไปพูดที่ไหน เวลาเราจัดงานระลึกถึงพี่ประเสริฐ เราพูดได้ชัดเจน  แต่อย่างในขวัญสงฆ์ก็จะระบุไว้ชัดเจน  อย่างในเล่มนี้ข้างหน้าจะไม่ระบุเอาไว้ว่าเป็นพี่ประเสริฐ  จันดำ  แต่ระบุชื่อหนิง แต่รู้ตลอดเวลาว่าบทกวีชิ้นนี้เป็นชิ้นที่พี่ประเสริฐเขียนให้ 


โกศล  อนุสิม
จริงๆ แล้วหนังสือเล่มนี้ก็ไม่ได้บอกว่าเป็นเรื่องของพี่ประเสริฐ จันดำ เพราะว่าไม่มีข้อความ


ชมัยภร แสงกระจ่าง
สาเหตุที่ไม่ระบุ ดิฉันไม่อยากให้คนที่มีภาพของพี่ประเสริฐ  มายึดอยู่แล้วก็ในที่สุดก็จะรู้สึกตลอดเวลาว่า นักเขียนเขียนไม่เหมือน  ก็เลยไม่ใส่  แต่อย่างขวัญสงฆ์เราพูดถึงกลวิธี  เราก็ใส่ว่าประเสริฐ  จันดำ  เพราะว่ากลวิธีมันไม่ทำให้ง่วนเตียน  แต่เนื้อหาชีวิตมีสิทธิ์จะไปเปลี่ยนเรื่องเราได้ 


สุวรรณา  เกรียงไกรเพ็ชร์
ตรงนี้อยากจะขอแย่งพูดหรือแทรกพูดนิดหนึ่ง  ดิฉันก็ค่อนข้างจะรู้ๆ แต่ตอนต้น แต่จงใจจะลืมไปเลย ไม่สนใจเรื่องพวกนี้  แต่ผู้เขียนก็จะมาเล่าให้ฟังก่อน คือเราชอบเล่ากันทางโทรศัพท์  วันหลังถ้าใครดักฟังสายก็จะได้รู้พล็อตดีๆ ไป  พอถึงเวลาอ่านดิฉันก็ไม่สนใจเลยว่าเขาเล่าอะไรไว้ ดิฉันก็จะอ่านไป  เป็นตอนๆ ไม่เหมือนคุณโกศลตรงที่ว่า  ดิฉันอดทนอ่านเป็นตอนๆ ได้ ดิฉันเป็นคนอ่านหนังสือแบบโบราณ  ที่มันลงเป็นตอนๆ แล้วก็มันรู้สึกดีที่จะรอตอนต่อไป แล้วบางทีระหว่างนั้นก็อาจจะมีการโทรไปบอกว่า  นี่เธอชักจะแย่แล้วนะ ไอ้ตรงนี้ฉันชักไม่ไหวแล้วนะ  อะไรอย่างนี้ก็มีนะ  แต่ว่าเค้าก็ไม่เคยแก้ตามดิฉัน  เรารู้กันดีเลยว่า บอกนี้อยากจะบอกเหมือนคนอ่านที่เขียนจดหมายถึงบรรณาธิการสมัยก่อน  แต่ว่าเขาก็ไม่ได้แก้ตาม หรือว่าบางทีเขาก็จะถามเลย  อันนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ดิฉันพูดถึง  ดิฉันก็อ่านอย่างคนอ่าน ไม่มีอิทธิพลไปทำอะไรเค้า  ทีนี้มันมีอยู่เมื่อกี้นิดหนึ่งอยากจะพูดถึง  ไม่ได้อธิบายอะไรทั้งสิ้นคือบอกว่า  คุณโกศลบอกว่าเขียนกลอนเป็นเรื่องสั้น  ดิฉันในฐานะคนเคยสอนวรรณกรรม  หนังสือของคุณประเสริฐ หรือของคุณชมัยภรบางทีมันทำให้ครูสอนวรรณกรรมลำบากใจ  เราจะพูดว่าอะไรดี  เราจะพูดว่าเขียนกลอนเป็นเรื่องสั้น  หรือจะพูดว่าเขียนเรื่องสั้นเป็นกลอน  หรือเราจะเรียกว่าเขียนนวนิยายด้วยกลอน  หรือเขียนกลอนเป็นนวนิยาย  มันทำให้เราเห็นอย่างหนึ่งนะคะว่า  จริงๆ  แล้วโลกของวรรณกรรม  คุณจะไปขีดเส้นตายตรงไหน  มันไม่มีกรอบชัดเจน  มันไม่มีเส้นตาย  มันไม่มีเครื่องวัดอะไรที่จะบอกได้  เมื่อก่อนนี้เขาจะกำหนดนะคะ  ถ้าจะส่งนวนิยายเข้าประกวดต้องไม่ต่ำกว่า  ๘๐ หน้า  นวนิยายเอกของโลกมีหลายเล่มที่ไม่ถึง  ๘๐  หน้า  แต่ว่ามันไม่ได้วัดกันตรงนั้น  เมื่อเราอ่านไปแล้ว มันเป็นอย่างนั้นในความรู้สึกของเรายังไง เพราะฉะนั้นดิฉันจะไม่ค่อยชอบการเป็นครูวรรณกรรมและดิฉันก็ไม่เคยสอนวรรณกรรมแบบนั้น ว่าต้องอย่างนั้นอย่างนี้ 


ทีนี้ส่วนหนึ่งที่พูดถึงว่า  คุณโกศลถามว่าเวลาเขียนดิฉันทำตัวเป็นคุณประเสริฐไหม  ดิฉันรู้สึกแทนคุณประเสริฐไหม ถ้าใครอ่านหนังสือเล่มนี้  ที่พูดไว้ตอนต้นนะคะ  ที่บอกคุณชมัยภรเขียนเรื่องสั้น ดิฉันอ่านไปตามบทไม่เป็นชมัยภร  เขียนได้เป็นผู้ชายและเป็นผู้ชายของสมัยนั้น  สมัยที่กวีเพื่อชีวิตเพื่อประชาชนกำลังพลุ่งโพลงในแดนดิน  มันก็มีหลายบท  ซึ่งเราที่อยู่ในยุคนั้น  เราก็อ่านแล้วมันก็จะสะกิดความทรงจำ แล้วก็จะแว้บๆ เลยว่าอันนี้มันของอันนั้นอันนี้  ถ้าอ่านบทนี้หลายคนจะรู้ทันทีว่าอันนี้มาจากไหน 



ประชาชนคงอาจงามสง่า
ประชาชนหาญกล้าทุกสมัย
ประชาชนแข็งกล้ายิ่งกว่าใคร
ประชาชนยิ่งใหญ่มาทุกครา
ใครบ้างจะฟังไม่ออกหรือไม่สะกิดใจว่าของใครคนไหน 
เหมือนเม็ดทรายเม็ดดีทุกถิ่นที่
อยู่ข้างล่างรอปฐพีเป็นแผ่นหล้า
แข็งแกร่งแรงมั่นกาลเวลา
ยิ่งนานยิ่งยืนกล้าประชาชน


จริงๆ ถ้าหยุดคิดสักนิดเราบอกได้เลยว่า  อันนี้เสียงของใคร  แต่เมื่อมันอยู่ในทีนี้เราไม่ได้ไปสนใจว่า สงสัยคนเขียนคิดถึงประเสริฐ  เลยไปเอาของคนนี้มา  มันไม่เกี่ยวเลยนะ  มันเกี่ยวว่าอยู่ในที่ที่เหมาะ เพราะฉะนั้นความงามของบางสิ่งบางอย่างที่ประกอบกันขึ้นมา มันงามด้วยสิ่งรอบข้างด้วย เพราะมันพอเหมาะพอดี  อันนี้ดิฉันไม่ได้ชมนะคะคุณชมัยภร  ให้กำลังใจ อีกอย่างหนึ่ง  ที่เราบอกว่าหนังสือเล่มนี้แรงบันดาลใจมาจากคุณประเสริฐ  จันดำ  แก่นหรือแกนมาจากคุณประเสริฐ  แต่ถ้าคุณอ่านหนังสือเล่มนี้แล้วดูแต่ตัวไท  สร้างสูงเนิน  คุณจะไม่ได้ความรู้สึกอะไรที่มันอิ่มเต็มอยูในใจ  เหมือนคุณอ่าน  เหมือนฟ้ามีพระอาทิตย์สองดวง  คุณต้องอ่านที่มีองค์ประกอบอื่นๆ ทั้งหมดในนี้ด้วย  ไม่ต้องไปรู้สึกแยกมันนะคะ  คุณอาจจะอ่านและรู้สึกว่าเป็นเรื่องหนึ่งที่ลูกสาวอยากรู้ว่าพ่อเป็นใคร  ทำไมพ่อเป็นงี้ ทำไมแม่เป็นนี้  มีอะไรต่อะไรตลอด  แต่ขณะเดียวกันภาพทั้งหมดที่ประกอบเข้ามา  มันเห็นทั้งตัวคนแต่ละคนที่อยู่ในนั้น  แล้วเห็นทั้งบริบทแวดล้อม  และดิฉันก็ไม่อยากจะพูดต่อหรอกว่า  มันทำนายไปถึงอะไรบางอย่าง  ข้างหน้าของอนาคตอันนี้ เพราะตอนนี้มันไม่ได้เป็นอนาคตแล้ว มันมองเห็น  แต่เราจะบอกว่าคุณชมัยภรเป็นโหรเหรอ ถึงเขียนอย่างนี้  หรืออาศัยองค์ประกอบจากส่วนต่างๆ แล้วบอกว่าจากจุดนี้ต้องไปจุดนี้  มันก็ไม่ใช่  ทั้งหมดสร้างขึ้นมาจาก  ในทางวรรณกรรมเขาจะพูดว่า  จินตนาการที่สร้างขึ้นมาจากองค์ประกอบที่เป็นความจริง  ไม่ใช่ว่าเป็นความจริงร้อยเปอร์เซ็นต์  เพราะถ้าจินตนาการร้อยเปอร์เซ็นต์  คุณก็ต้องพูดถึงม้ามังกร  เพราะฉะนั้นมันก็มีลักษณะแบบนี้  ที่สำคัญของการเขียนนวนิยายที่เราจะสะท้อนตัวตนของคน  ไม่จำเป็นต้องเหมือนใครคนหนึ่งด้วยซ้ำ  กับความเป็นบริบทอะไรสักอย่างในตอนนั้น  ที่นักเขียนเขาอยากจะบอก 


ชมัยภร  แสงกระจ่าง
ดิฉันจะเสริมนิดหนึ่งตรงที่อาจารย์สุวรรณาบอกว่า  ดิฉันต้องขอบอกว่า  จริงๆ แล้วตัวแรงบันดาลใจหลัก  มาจากหนิง  คือชีวิตของพี่ประเสริฐเป็นชีวิตของไท  สร้างสูงเนิน  แต่ไม่ใช่ตัวเดินเรื่อง  ตัวเดินเรื่องคือลูกสาว  วันที่เขามายืนอยู่มันแสดงตนว่าเค้าเป็นลูกของใคร และเรานึกได้ว่า  เราเคยได้ยินพ่อเค้าพูดถึงว่าขวบกว่าๆ  มันห่างกันมาก แล้วหลังจากนั้นหนิงเขาก็มาพูดให้ฟัง  เขาไม่เคยเจอพ่อเลย เขาเคยฝัน เคยกลัว  ถึงขนาดจะมีคนมารับตัวเค้าไป เขาหนี  เขาต้องหลบ  พระมาพระก็คือพี่ชายของพี่ประเสริฐ  และเขาจะเล่าความรู้สึกอะไรบางอย่าง 


เราจะรู้สึกว่า ถ้าเราเป็นเด็กที่ไม่เคยเจอพ่อเลย  แล้วเราได้ยินชื่อเสียงของพ่อขจรขจายในสังคม  แล้วเราจะต้องอยากรู้แล้ววันหนึ่งเราก็จะคิดไป แต่เราไม่รู้จักเขาเลย  ทีนี้ในเรื่องเราไม่ให้ไท  สร้างสูงเนิน  เสียชีวิต  ลูกตามหาตั้งแต่ลูกยังไม่ตาย  แล้วได้เจอกันแล้วยังไปปะทะกันอีก  ไม่ตรงกับหนิง แต่หนิงเป็นแรงบันดาลใจที่ทำให้เรารู้สึกว่า เราอยากเขียนจากมุมของลูกสาว  แล้วสิ่งที่หนิงเล่าบางเรื่องก็เป็นเรื่องที่อยูในนี้


และฉากหนึ่งที่ดิฉันรักมากและคิดว่าเป็นสิ่งที่มาจากหนิง  แล้วก็เวลาที่ไปคุยเรื่องนี้ ดิฉันจะคุยให้สามีฟัง เพราะสามีสนิทกับพี่ประเสริฐ  แล้วก็จะคุยกัน  ถึงฉากที่พ่อ  วันที่ลูกเกิด  อันนั้นเป็นฉากจริงนะคะ  คือหนิงเป็นคนเล่าให้ฟัง  ว่าทำไมแม่ถึงโกรธพ่อ  ซึ่งเราไม่ได้เขียนเรื่องแม่จริงๆ ออกมา แต่เราจำฉากนี้ได้ และดิฉันก็ไปคุยกับสามี  บอกว่า เรามาคิดกันสิ  ว่าทำไมเมื่อลูกเกิดแล้ว พี่เสริฐถึงไม่ไปเยี่ยมลูก  ทั้งที่จริงพี่เสริฐก็รักลูก แต่ดิฉันกับสามีก็คุยกันว่า เราเห็นภาพ  พี่ประเสริฐต้องมีความรู้สึกว่า  สิ่งที่เขาทำได้  มีลูกที่เกิดมา เป็นความมหัศจรรย์ของชีวิต  เป็นสิ่งที่เขานึกไม่ถึง  ว่าเขาทำได้และเขาไม่กล้า เพราะเขาเป็นกวี  เขาไม่กล้าแม้แต่จะไปเห็นลูก  จะไปจับตัวลูก  จะไปมองลูก  ความไม่กล้าทำให้เขาต้องกินเหล้า  เพื่อให้ตัวเองเข้มแข้งขึ้นมา เขาจะคุยทั้งวัน  คุยให้เพื่อนในออฟฟิศฟังทั้งวันเลยว่า  กูมีลูกแล้วนะๆๆๆๆๆ  คุยจนสี่โมงเย็น  ไปถึงโรงพยาบาล  โรงพยาบาลเขาก็ปิดแล้ว  เขาไม่ให้เข้าไปเยี่ยมลูกแล้ว  มันเป็นวงจรของกวี  คือพอเราจินตนาการกันแล้ว เราก็รู้สึกว่าคือกวี กวีจริงๆ  เป็นฉากที่ดิฉันเองสะเทือนใจ แล้วก็รักฉากนี้มาก เพราะมันเป็นฉากที่มาจริงๆ 


โกศล  อนุสิม 
คือความรู้สึกผมเข้าใจนะตอนนั้น  คือในฐานะที่เป็นคนเขียนหนังสือ  ในขณะที่เราพยายามจะแสดงออกถึงความเข้มแข็ง  เราก็มีความอ่อนไหวอยู่ข้างใน  มีหลายสิ่งหลายอย่างที่เราไม่สามารถที่จะทำได้  แล้วเราก็ไม่กล้าอธิบายให้คนอื่นฟัง  อย่างพี่ประเสริฐก็พูดถึงลูกให้ผมฟังเหมือนกัน และอีกคนหนึ่งที่รู้เรื่องคืออาจารย์สัญลักษณ์ ดอนสิงห์  ซึ่งเขาสนิทกับผมแล้วก็สนิทกับพี่เสริฐ แล้วก็รู้เรื่องลูกของพี่เสริฐ  เขาก็เคยเล่าให้ผมฟังเหมือนกัน คนที่แต่งเพลง  สาวลาดพร้าว  ถ้าหนิงมีโอกาสก็ลองคุยกัน 


คนที่ให้แรงบันดาลใจแก่นวนิยายเรื่องนี้อยู่ที่นี้แล้ว ก็คือหนิง อยากให้หนิงพูดปิดท้าย


ทิพย์อนงค์  จันดำ
เมื่อพูดถึงหนังสือเล่มนี้ หนิงได้มีโอกาสอ่านแล้ว แล้วก็อย่างที่เมื่อกี้อาจารย์สุวรรณาได้พูดถึงว่า  เวลาอ่านเรื่องของอาอี๊ดจะรู้สึกติดตาม  อ่านแล้ววางไม่ลง เวลาอ่านแล้วจะไม่รู้สึกว่าอันนี้เป็นเรื่องของหนิง อันนี้เป็นเรื่องของพ่อ  ของประเสริฐ  จันดำ  แต่ว่าอ่านแล้วรู้สึกว่าติดตามตัวละครแล้วตัวละครหลักๆ ในเล่มนี้ก็คือตัวนับไท  ถ้าถามว่าตัวนับไทเองเหมือนหนิงหรือเปล่า ก็มีส่วน แต่ว่านับไทโชคดีได้เจอกับพ่อแม้ว่าในช่วงสุดท้ายเค้าก็ไม่ได้บอกตัวเองไปว่า เขาเป็นลูกของกวีคนนี้ แต่ว่าตัวหนิงเองจะชื่นชมตัวละครตัวหนึ่งในเล่มนี้  คนนั้นก็คือตัวแม่ของนับไทเองก็คือเป็นเนตร  คือตัวแม่ของนับไทจะมีความเด็ดเดี่ยว  กล้าหาญ แล้วก็เชื่อมั่นในสิ่งตัวเองตัดสินใจลงไป  ซึ่งส่วนตัวหนิงประทับใจตัวละครตัวนี้เพราะเหมือนแม่ของหนิงเองในชีวิตจริง คือเขาเลือกที่จะดำรงอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง  มากกว่าจะเดินไปตามในโลกแห่งอุดมคติ  ในความฝันของความเป็นกวีของตัวพ่อเค้า  ซึ่งหนิงก็ชอบตัวละครตัวนี้มาก แล้วตัวละครตัวนี้ก็บ่งบอกว่า แม้ว่าในอดีต  จะเป็นยังไง  แต่เราสนใจเรื่องปากท้อง คืออุดมคติมันกินไม่ได้  เหมือนที่หลายคนพูด หนิงก็รู้สึกประทับใจในตัวละครตัวนี้  แล้วถ้าให้พูดถึงเรื่องของพ่อว่า  อ่านแล้วรู้สึกว่าเป็นพ่อไหม  ในบทกวี  อ่านแล้วรู้สึกเป็นอีกตัวละครหนึ่ง  ที่ตัวละครตัวนี้มีส่วนคล้ายพ่อแต่ว่าส่วนที่หนิงได้สัมผัส ได้อ่านงานของพ่อ  มันแค่คล้ายแต่ว่าเป็นตัวไท  สร้างสูงเนินที่สมบูรณ์  ในตัวละครในนิยายเรื่องนี้ 


โกศล  อนุสิม 
ครับก็คงขอยุติไว้เพียงเท่านี้  ก็ขอเชิญอ่านนวนิยายเล่มนี้  จะอ่านในฐานะชีวประวัติ  ในฐานะประเสริฐ  จันดำ หรืออ่านในฐานะวรรณกรรมเล่มหนึ่งที่มีเนื้อหาสาระที่เป็นประโยชน์  ก็ขอเชิญท่านทั้งหลายได้อ่านกันตามสะดวก  วันนี้ขอขอบพระคุณที่มาร่วมฟัง แล้วก็ขอขอบพระคุณทุกท่านที่มาร่วมรายการ  สวัสดีครับ