ในความเป็นแม่ของนักเขียน

พรชัย จันทโสก : รายงาน [email protected]


วันนี้คงไม่มีคำไหนงดงามและเปี่ยมล้นไปด้วยความหมายมากกว่าคำว่า “แม่”

“จุดประกายวรรณกรรม” ฉบับนี้จึงขอเทิดทูนพระคุณแม่ด้วยการนำแง่มุมความคิดดีๆ เกี่ยวกับวิธีการเลี้ยงลูกของนักเขียนผู้มีบทบาทสำคัญอีกอย่างหนึ่งนั่นคือความเป็น “แม่” ว่าแต่ละคนมีวิธีสอนลูกให้รักการอ่านการเขียนอันเป็นวิธีแสวงหาความรู้จากขุมทรัพย์ทางปัญญามหาศาลนั้นได้อย่างไร กระทั่งทายาทตัวน้อยได้เติบโตกลายเป็นผู้ใหญ่ที่เห็นความสำคัญของการอ่าน หรือแม้แต่ก้าวเดินสู่เส้นทางนักเขียนทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ

ต่อไปนี้เป็นประสบการณ์ตรงจากนักเขียนชื่อดังของเมืองไทย เพื่อให้แม่ทั้งหลายที่อยากให้ลูกเป็นนักอ่านนักเขียนได้นำไปปฏิบัติกัน โดยไม่ผิดกฎหมายลิขสิทธิ์แต่ประการใด

เริ่มต้นจาก ภานุมาศ ภูมิถาวร นักเขียนวรรณกรรมเยาวชนและสารคดี เจ้าของงานเขียนเรื่อง “เกียวบาวนาจอก” นวนิยายเข้ารอบสุดท้ายรางวัลซีไรต์ ปี 2549 เล่าถึงบทบาทของแม่ในฐานะนักเขียนที่ทำให้ลูกสาวทั้งสองคนรักการอ่านไปด้วยว่า

“เนื่องจากว่าตัวเองเป็นคนชอบอ่านหนังสือมาก สมัยเด็กพ่อเป็นครู เวลาสิ้นเดือนพ่อไปประชุม กลับมาทีจะซื้อนิตยสารและหนังสือมาให้อ่าน ตอนนั้นลูกๆ ก็แย่งกันอ่าน พอถึงตอนมีลูก ความเป็นนักอ่านก็ยังมีอยู่ พอเขาเริ่มฟังนิทานได้ ก็จะซื้อนิทานมาเล่าให้เขาฟัง พาไปร้านหนังสือบ่อยๆ คือไม่ค่อยได้พาไปซื้อของตามห้างเท่าไร ถ้าเขาอยากได้หนังสือจะซื้อให้เลย แต่ถ้าเป็นของใช้อย่างอื่นต้องดูก่อน ปลูกฝังด้วยการเล่านิทาน ซื้อหนังสือให้เขาอ่าน ตรงนี้มีส่วนสำคัญเป็นอย่างมาก

พอโตเขาก็จะชอบอ่านหนังสือที่แม่อ่าน คือเขาจะไม่ชอบอ่านนิยายรักหวานแหววเท่าไร สมัยเรียนมัธยมก็ไม่ค่อยได้อ่านการ์ตูนญี่ปุ่น เพราะแม่จะซื้อแต่หนังสือเกี่ยวกับเด็กให้อ่าน ทุกวันนี้เขายังบ่นๆ ว่าไม่ได้อ่านการ์ตูนญี่ปุ่นอยู่ แต่ปัจจุบันเขาโตเลยวัยที่จะไปอ่านนิยายรักเกาหลีแล้ว ทุกวันนี้เขาจะเป็นคนซื้อหนังสือมาฝากแม่มากกว่า โดยเฉพาะลูกสาวคนเล็กกำลังเรียนวารสารศาสตร์ปี 3 เขาจะชอบเขียนบันทึกเก็บไว้ อย่างเวลาเขาไปอ่านเจอที่ไหนมา บางทีเขาบอกว่าเขาเขียนได้ดีกว่านี้อีก เนื่องจากว่าเขาเรียนวารสารศาสตร์ทำให้อยากเป็นนักข่าว ชอบเขียนข่าว ทุกวันนี้เขาก็จะมีบล็อกของเขาเอง”

ความสนใจอยากเป็นนักเขียนเหมือนคุณแม่ “ถ้าเขาอยากเขียนยินดีแนะนำนะ อย่างคนเล็กสนใจวิธีเขียนแนวสารคดี ถ้าเป็นนิยายเหมือนแม่คงยังไม่สนใจ เพราะเขาชอบการเขียนข่าว ค่อนข้างสนใจเกี่ยวกับการเขียนสกู๊ป” พร้อมกับบอกต่อว่า “วิธีจะทำให้ลูกรักการอ่านและการเขียน ก่อนอื่นตัวเองต้องเป็นคนชอบอ่านก่อน สมมติว่าตัวเองไม่ชอบอ่านเลย อย่างน้อยหาหนังสือมาให้ลูกอ่าน จะเห็นบ่อยมากเวลาลูกหยิบหนังสือขึ้นมา พ่อแม่จะบอกว่ามันราคาแพง ทำให้เด็กฝังใจว่าหนังสือแพงก็ไม่หยิบมาอ่าน ต้องทุ่มเทหน่อยว่าเขาสนใจอะไร อาจจะพาเข้าไปห้องสมุดประชาชน ห้องสมุดโรงเรียน ซื้อหนังสือมาให้เขาอ่าน อย่างน้อยพ่อแม่ต้องอ่านหนังสือให้เขาเห็นบ่อยๆ จะช่วยได้เยอะ”

ด้าน จิระนันท์ พิตรปรีชา กวีซีไรต์ปี 2532 ปัจจุบันมีทายาทเป็นนักเขียนหนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรงนั่นคือ แทนไท และวรรณสิงห์ ประเสริฐกุล โดยเน้นย้ำว่าต้องให้ “เสรีภาพทางการอ่าน” กับลูกเป็นสำคัญ

“เราไม่เคยไปเคี่ยวเข็ญไปสอนอะไรเขาเลยนะ แต่มีอยู่ช่วงหนึ่งสมัยเขาเป็นวัยรุ่น ติดเกมบ้าเกมมาก ถึงกับไม่ยอมทำอะไรเลย แต่ว่าคนเป็นแม่ต้องดูกระบวนการเติบโตของลูก เพราะวัยรุ่นเป็นวัยที่มีความรู้สึกต่อต้าน ยิ่งพ่อแม่เป็นนักเขียน คนมองว่าโตขึ้นเขาก็ต้องเป็นนักเขียนด้วย หมายถึงถูกคาดหวังจากโลกภายนอกมากเกินไป ในฐานะคนเป็นแม่ต้องอยากให้ลูกรักการอ่านเพราะหนังสือคือขุมทรัพย์ทางปัญญา

ฉะนั้นเราต้องใจเย็นๆ รอก่อน ขณะเดียวกันก็สร้างสภาพแวดล้อมให้เขารู้สึกอยากอ่าน เขาอยากอ่านหนังสือการ์ตูนก็หาให้เขาอ่าน เหมือนกับเป็นทางเลือกหนึ่งว่ามีเรื่องอะไรบ้างที่เขาสนใจ ค่อยขยายผลต่อได้ เวลาเขาถามเขาสงสัยอะไร ก็ช่วยอธิบายว่าเรื่องนี้แม่ก็อ่านมาจากหนังสือเล่มนี้ จะทำให้เขาอยากไปค้นหามาอ่านเอง ด้วยความที่เราอ่านมาเยอะ เราจะมีเรื่องแปลกๆ มาอ้างอิงให้เขาฟัง เขาจะรู้สึกว่ามันเป็นวิถีชีวิต ที่สำคัญเวลาลูกถามพยายามอย่าตอบลูกว่า “ไม่รู้” ถึงแม้ว่าไม่รู้ก็ต้องบอกว่าไปค้นได้ที่ไหน เขาสนใจเรื่องอะไรก็ส่งไปเรียนเรื่องนั้น”

พร้อมทั้งเล่าต่ออีกว่า “หลังจากพอถึงวัยหนึ่งเขาเลิกเล่นเกม อาจจะหันมาสนใจเรื่องไร้สาระหรือมีสาระบ้าง เขาก็จะหยิบขึ้นมาอ่านเอง และอารมณ์แบบเด็กๆ มันดีอย่างหนึ่งคือพอเขาอ่านจบ เขาบอกว่าเรื่องอย่างนี้ฉันก็เขียนได้ จริงๆ ไม่ได้ไปกดดันเขา ปล่อยให้เขาเลือกเอง หนังสือพ่อแม่กองอยู่ในบ้านเขาก็ไม่อ่านหรอก เขาหาอ่านเอง เราไม่ไปตัดสินว่าอันไหนมีสาระหรือไม่มีสาระ เพราะสมัยก่อนเราโตมาจากร้านหนังสือ จะเห็นว่าหนังสือมีตั้งสิบหมวด ลูกๆ คนหนึ่งอ่านวรรณกรรมหรือวรรณคดี คนหนึ่งอ่านนิยายจีนกำลังภายใน แม่จะจัดให้หมด เลยเอาวิธีการจากแม่มาให้ลูกด้วย

นั่นคือให้ “เสรีภาพทางการอ่าน” ไม่เซ็นเซอร์ ไม่มีเรทติ้ง แม้แต่การ์ตูนโป๊โดยส่วนตัวคิดว่าไม่ค่อยเป็นห่วงเพราะว่าการอ่านเป็นเพียงแหล่งเรียนรู้ แต่การกระทำต้องผ่านสิ่งแวดล้อมที่เป็นอยู่ เด็กที่เติบโตมากับสิ่งมืดจะรับมาโดยง่าย แต่เราไม่ได้เป็นแบบนั้นเลยไม่ค่อยกลัวเท่าไร”

วิธีสอนมุมมองความคิดเกี่ยวกับชีวิตและโลก “สอนเรื่องหลักๆ แต่เรื่องจุกจิกอย่าไปสนใจมากเกินไป ให้เขาทดลองด้วยวิธีของเขาเอง ถ้าเรามีบทเรียนของเราว่าแม่เคยทำผิดมาอย่างนี้ บอกเขาไปว่าต้องทำอย่างนี้ถึงจะถูก ผู้ใหญ่วัยทองส่วนใหญ่ลืมไปอย่างหนึ่งว่าตัวเองก็ไม่อยากอยู่ใต้อำนาจ ไม่ชอบการบังคับ ฉะนั้นต้องใช้เหตุผลและความรักความห่วงใย จะมีพลังมากกว่า

อย่างงานเขียนของเขา แม่เป็นกำลังใจได้ แต่เรื่องประเด็นแนวคิดเป็นเรื่องของเขาเอง นี่เป็นสิ่งที่แม่ภูมิใจมาก เขาค้นพบตัวเองด้วยตัวเอง และถูกใจเราด้วย คงไม่ไปบอกว่าอุตส่าห์สั่งสอนบ่มเพาะมากับมือ ส่วนตัวสอนได้แต่ลูกคนอื่น ล่าสุดนี้ไปเวิร์คชอปที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ คือตอนเด็กๆ ต้องมีคนมาจุดประกายให้เรา แต่สำหรับลูกมันใกล้ชิดกันเกินไป ต้องเรียกว่าซึมซับจากพ่อแม่ถูกต้องที่สุด เพราะถ้าเขาโตขึ้นมาในร้านขายข้าวแกง โอกาสที่จะได้อ่านหนังสือก็ลดลงอีก แต่นี่เขาโตมาในบ้านที่มีกองหนังสือเยอะแยะ

พยายามทำให้เขาทึ่งหรืออัศจรรย์ใจ ลงทุนซื้อหนังสือมาไว้รอบๆ บ้านหน่อย ไม่อ่านไม่เป็นไร สิบเล่มอ่านหนึ่งเล่มถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว หมายถึงเป็นแนวที่เราอยากให้เขาอ่าน ส่วนการ์ตูนเขาจะไปหาอ่านหรือไม่ก็เป็นเรื่องของเขา”

ขณะที่ อรสม สุทธิสาคร นักเขียนสารคดีหญิงมือหนึ่งของเมืองไทย เล่าถึงลูกชายหัวแก้วหัวแหวน ปองธรรม สุทธิสาคร ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้นที่กำลังเดินตามเส้นทางแม่ด้วยการเป็นนักเขียนสารคดีรุ่นใหม่ว่า

“จริงๆ อยากจะบอกว่าตัวเราเองตั้งแต่เด็กจะมีหนังสือเป็นเพื่อน ต้องจัดว่าอ่านหนังสือมาตลอด ขณะนั้นความเหงาเป็นแรงขับดันให้ต้องหาอะไรมากำจัด ความเหงาทำให้เราอ่านหนังสือมากในวัยเด็ก อ่านมาเรื่อยๆ จนถึงทุกวันนี้ก็ยังอ่านหนังสืออยู่ ถามว่าลูกเป็นนักอ่านไหม ไม่ค่อยเป็นนักอ่านเท่าไร อาจจะขัดอกขัดใจพอสมควร เพราะอยากให้เขาเป็นนักอ่าน อยากให้เขาอ่านหนังสือ แต่ว่าเขาไม่ค่อยชอบอ่าน เขาไปสนใจเรื่องฟุตบอล เรื่องกีฬา ฉะนั้นเขาก็จะอ่านหนังสือฟุตบอลมาตลอด ตั้งแต่อายุน้อยๆ ทำให้เขามีความรู้เรื่องบอลมาก

แม้ว่าเขาจะไม่มีความเป็นนักอ่าน แต่เขาจะอ่านเรื่องบอลอย่างเอาจริงเอาจัง ความรู้เรื่องนี้แน่นมาก นิสัยอย่างหนึ่งของเขาที่เหมือนเราคือถ้าสนใจอะไรจะเอาจริงเอาจังมาก เคยถามเขาตรงๆ อย่างคนรุ่นใหม่ว่าอยากเป็นอะไร เขายังไม่รู้ตัวเองว่าอยากเป็นอะไร เลยบอกเขาไปว่าลองเขียนหนังสือดูสิ เขียนเรื่องตลกก็ได้ เพราะเขาเป็นคนอารมณ์ขัน มุขเยอะ ช่างเล่า เวลาเล่าอะไรคนจะฮา เขาถามว่าจะเขียนยังไง ก็บอกว่าให้เขียนสนุกๆ

เขียนตอนแรกเขาเอามาให้เราอ่าน สองสามหน้าแรกเล่าเรื่องสมัยมัธยม พออ่านไปพบว่ามันตลกแบบลูกทุ่ง เป็นเด็กสไตล์ลูกทุ่ง ไม่ได้มีกลิ่นอายของความเป็นเด็กเมืองหรือเด็กวัยรุ่นทั่วไป สำบัดสำนวนเราอ่านแล้วชอบ บอกเขาให้เขียนจบเป็นตอนๆ จนได้พิมพ์ออกมาเป็นเล่ม พอเขาได้ไปทำงานเรื่องแนวสารคดีอยู่นิตยสาร “ฅ คน” ก็ไม่อยากให้เขาทิ้งเรื่องแนวตลก ทุกวันนี้มาเขียนหนังสือ เขียนในแนวลักษณะเป็นสารคดีซึ่งเป็นแนวเดียวกันกับเรา พยายามอ่านงานเขา เขาอยากมีเส้นทางของเขาเอง นี่คือสิ่งที่เห็นในตัวเขา”

อีกหลายๆ อย่างที่คนเป็นแม่ประทับใจ “สิ่งหนึ่งที่เห็นคือเขาเป็นเด็กมีความคิดสร้างสรรค์ในการตั้งชื่อเรื่อง นำเสนอความคิดสร้างสรรค์ เขามีความสุขกับการเขียนหนังสือ การเข้ามาสู่วงการนักเขียนสารคดีทำให้เขาได้เห็นชีวิตผู้คนและเป็นสิ่งที่เขาชอบ แม้ว่าช่วงเป็นวัยรุ่นเขาจะติดบอลก็ไม่รู้สึกหนักใจอะไร การที่เด็กไปสนใจกีฬาเป็นสิ่งที่ดี ทำให้เขาได้รู้จักรุ่นพี่คนนั้นคนนี้ เพียงแต่มันไม่ใช่สไตล์ของเรา มันเป็นสไตล์ของเด็กผู้ชาย แต่บอกเขาไปว่าไม่ควรอ่านแต่หนังสือแนวฟุตบอล ควรจะอ่านหนังสืออย่างอื่นบ้าง

จริงๆ เขาชอบให้แม่เล่ามากกว่า เรื่องเกี่ยวกับเกร็ดประวัติศาสตร์ แต่พอเวลาเขามาเขียนหนังสือก็เริ่มอ่านงานเขียนสารคดีดีๆ จะบอกเขาเสมอว่าถ้าอยากเติบโตบนเส้นทางสายนักเขียนควรอ่านมากกว่านี้ อ่านให้หนักกว่านี้ อ่านให้หลากหลายกว่านี้ สิ่งหนึ่งคือหนังสือที่บ้านเยอะมาก เพราะเรามีความสุขกับการอ่าน ฉะนั้นเขาจะเริ่มเห็นคุณค่าของการอ่านมากขึ้น และอ่านงานดีๆ มากขึ้น”

กนกวลี พจนปกรณ์ เจ้าของนวนิยายเรื่อง “กาษา นาคา” และ “อภิมหึมามหาเศรษฐี” ที่เพิ่งลาจอไปเมื่อไม่นาน พูดถึงนวนิยายเรื่อง “ยิ่งฟ้ามหานที” ว่าเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับแม่พอดี ขณะนี้กำลังลงตีพิมพ์ในนิตยสารสกุลไทย พร้อมทั้งเล่าถึงความสนิทสนมกับลูกชายและลูกสาวที่กำลังเรียนอยู่ต่างประเทศด้วยกันทั้งคู่ว่าปรึกษาหารือกันได้ทุกเรื่องและตลอดเวลา

“การปลูกฝังให้ลูกรักการอ่านคิดว่าน่าจะเป็นสิ่งแวดล้อม ส่วนการแนะนำน่าจะเป็นการสรรหาหนังสือดีๆ มาให้เขาอ่าน เพราะทุกวันนี้ซื้อหนังสือต้องเลือก ไม่ใช่ว่าให้สตางค์เขาไปซื้อเอง แต่ก่อนคิดว่าขอให้ลูกอ่านเถอะ อ่านอะไรก็ได้ แต่ทุกวันนี้บางทีมีเรื่องไม่เหมาะสำหรับเด็ก อยากบอกพ่อแม่ว่า ณ วันนี้ต้องเลือกหนังสือให้เขาอ่าน ไม่ใช่อ่านโดยวิจารณญาณของเขาเอง เพราะบางคนบอกว่าลูกเรียนอยู่ ป.4 ชอบอ่านนิยายมาก แต่นิยายนั้นเด็กไม่ควรอ่าน ดังนั้นพ่อแม่มีส่วนสำคัญที่สุดว่าหนังสือเล่มไหนเหมาะสมกับเด็ก ถ้าโตขึ้นมาคงไม่ต้องห่วงเพราะเขาจะมีวิจารณญาณหรือมีวุฒิภาวะเลือกได้เอง

คิดว่าการอ่านเริ่มต้นจาก “บ้าน” สำคัญที่สุด โดยบรรยากาศที่บ้านหนังสือเต็มบ้านอยู่แล้ว พ่อแม่ชอบอ่านชอบเขียนกัน ลูกชายจะชอบอ่านเรื่องข่าวสาร เรื่องรถ เครื่องยนต์ หรือการเมือง ส่วนลูกสาวจะชอบแนววรรณคดี วรรณกรรม ศิลปวัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ ถ้าพ่อแม่ไม่ชอบอ่านแล้วจะไปให้โรงเรียนหรือครูช่วยปลูกฝังเรื่องการอ่านคงไม่ทัน ต้องปลูกฝังกันตั้งแต่ยังเด็กๆ สมัยก่อนเวลาอ่าน “สตรีสาร” จะมีการ์ตูนภาพสีสวยๆ ก็จะเอามาอ่านเล่านิทานให้ลูกฟัง เวลาเราเขียนหนังสือเขาก็จะอยู่ใกล้ๆ เจอหนังสือเด็กก็จะซื้อให้เขาอ่าน เจออะไรดีๆ ก็เล่าให้เขาฟัง การปลูกฝังคงค่อยๆ สั่งสมมาเรื่อยๆ ไม่ใช่ภายในเวลา 5-6 ปี”

ความสนใจอยากเป็นนักเขียน “ถามว่าอยากให้ลูกเป็นนักเขียนนวนิยายเหมือนพ่อกับแม่ไหม คงไม่ถึงขั้นนั้น แต่ว่าลูกชายเคยทำงานอยู่นิตยสารรถ เขาก็เขียนได้ในแบบของเขา ส่วนลูกสาวเขาเขียนสารคดีได้ ถ้าดูลักษณะการเขียนของเขาก็เขียนได้ดี และที่สำคัญคือลูกสาวเขาจะชอบอ่านนิยายของแม่ก่อนจะพิมพ์เป็นเล่ม ตรงไหนไม่น่าจะเป็นไปได้ เขาก็จะบอก ถกเถียงกัน แม่อาจจะฟังบ้างไม่ฟังบ้าง ตอนหลังถึงได้นึกออกว่าเขาก็วิจารณ์ได้เหมือนกัน

บอกเขาเสมอว่าการเขียนเป็นเรื่องสำคัญ ไม่เฉพาะเขียนนิยาย งานทุกอย่างต้องเขียนให้ถูกต้อง ไม่ว่าทำอาชีพอะไร หนีไม่พ้นเรื่องการเขียน บางทีความที่เขาเป็นลูกนักเขียน เขาค่อนข้างจับผิดเรื่องการใช้ภาษาพอสมควร อันนั้นอาจจะเป็นผลมาจากสมัยเด็กชอบเล่นเกมต่อคำ คล้ายๆ ทำให้เขามีคลังคำมากขึ้น ลูกจะรู้คำบางคำที่วัยรุ่นไม่รู้ แต่ขณะเดียวกันเขาก็ใช้คำภาษาสมัยใหม่หรือภาษาวัยรุ่น

ถ้าอยากให้ลูกอยากเขียนหรืออยากเป็นนักเขียน อันดับแรกต้องอยากอ่านก่อน ทั้งฟัง พูด อ่าน เขียน ต้องเอื้อกัน หาเหตุและผลให้เขาเห็นความสำคัญเรื่องการอ่านการเขียน เมื่อเขาเห็นว่ามีความสำคัญยังไง อาจจะเห็นคนประสบความสำเร็จในชีวิตหรือเป็นฮีโร่ เขาอยากเป็นอย่างนั้นบ้าง อีกวิธีหนึ่งต้องสร้างความประทับใจให้เขาเกิดความรัก จริงๆ ความรักเป็นนามธรรม ดังนั้นต้องทำให้เขาเห็นเป็นรูปธรรมก่อน นั่นคือต้องให้เขามีความประทับใจ เพราะถ้าไปบังคับโดยเขาไม่ประทับใจ อาจกลายเป็นความเกลียดไปได้ ถ้าจะปลูกฝังการอ่านการเขียนให้ลูกต้องสร้างบรรยากาศตรงนี้ก่อน”

ปิดท้ายด้วย ชมัยภร แสงกระจ่าง ผู้เป็นทั้งนักเขียน เป็นอาจารย์ และเป็นแม่ของ กว่าชื่น บางคมบาง ลูกสาวที่โตมากับหนังสือ ปัจจุบันเป็นบรรณาธิการสำนักพิมพ์คมบางและทำงานเขียนไปพร้อมๆ กันด้วย

“ต้องสร้างบรรยากาศในการอ่านให้กับเขา อย่าไปบังคับให้เขาอ่าน อย่าไปทำให้เขารู้สึกว่าลูกต้องอ่านหนังสือ แต่ทำบรรยากาศให้เขาอยากอ่าน ถึงจะมีหนังสือเยอะก็ไม่สำคัญเท่าพ่อแม่ต้องอ่านให้เห็นเป็นตัวอย่าง ตอนเป็นเด็กเล็กๆ เขาอาจจะอ่านตามเรา แต่พอโตขึ้นมาโดยธรรมชาติเขาจะปฏิเสธ ถ้าอยากให้เขาสนใจหนังสือเล่มนี้ต้องอ่านให้เขาเห็น แต่อย่าบอกว่าเล่มนี้ดีนะ เขาจะไม่สนใจ แต่ทำให้เห็นเป็นตัวอย่าง ทำให้เขารู้สึกและทำให้เขาเห็นว่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต

อย่างเช่นซื้อตู้หนังสือเพื่อให้เห็นว่าเป็นส่วนหนึ่งของบ้าน ทุกวันนี้มีหนังสือขายพร้อมตู้ เขาจะเห็นด้วยตัวเขาเอง เป็นการค้นพบด้วยตัวเขาเอง ถ้าหากว่าเขารักการอ่านด้วยการบอก ไม่นานเขาก็จะรู้สึกว่าเขาถูกครอบหรือถูกพ่อแม่ชี้นำ ตัวอย่างเห็นได้ชัด ตอนลูกสาวเล็กๆ เล่มไหนบอกว่าดี เขาไม่อ่าน อย่างถ้าบอกว่า “โต๊ะโตะจัง” ดี เขาไม่อ่าน แต่พอมีคนมาพูดกับเราว่าเรื่องนี้ดี เขาแอบได้ยิน ทีนี้อ่านเลย”

นอกจากนี้ยังแนะนำด้วยว่า “เมื่อก่อนนี้เชื่อว่าอ่านอะไรก็ได้ อ่านไปก่อนเถอะ สมัยนี้พอเริ่มต้นอ่านแล้วมันอาจทำให้เขาไขว้เขวทำให้เขาตกอยู่ในห้วงอารมณ์บางอย่าง สมมติว่าเด็กวัยรุ่นไปอ่านเจอหนังสือเกี่ยวกับเซ็กซ์ เขาจะหาหนังสือแนวนี้โดยไม่เปลี่ยนกลุ่มอ่าน ถูกดูดเข้าไปอยู่ในความอยากรู้อยากเห็น ฉะนั้นพ่อแม่ต้องเลือกมาก่อน และต้องพูดคุยสร้างบรรยากาศของการอ่าน จะให้อ่านหนังสืออะไรก็ได้อย่างเมื่อก่อนไม่ได้แล้ว

การติดเรทหนังสือถ้าทำได้ก็ดี แต่กลัวหนังสือสอดไส้ หน้าปกเป็นเรื่องรักหวานแหววสวยใสแบบเด็กๆ แต่ข้างในเป็นเรื่องเซ็กซ์ ถ้าจะติดเรทหน่วยงานที่ทำจะต้องอ่านจริงๆ และสำนักพิมพ์ต้องรับผิดชอบ ไม่ใช่ติดป้ายแต่ยิ่งสอดไส้หนักเข้าไปอีก อย่างที่รัฐประกาศผ่านโฆษณา “ทำดีให้เด็กดู” จริงๆ ควรจะเป็น “ทำดีให้เด็กเห็นเป็นประจำ” เด็กไม่ต้องไปดูที่ไหนหรอก การทำเป็นตัวอย่างให้เด็กเห็นเป็นวิธีการเรียนรู้อย่างเป็นธรรมชาติ หรือถ้าพ่อแม่ยากจนคิดว่าหนังสือไม่เป็นสิ่งสำคัญในบ้าน ต้องมีวิธีพูด ครูและโรงเรียนก็มีบทบาทสำคัญ”

คุณแม่ทั้งหลายที่เห็นความสำคัญของการอ่าน น่าจะนำข้อคิดและวิธีการดีๆ เหล่านี้ไปปฏิบัติกับลูก เพราะถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าที่สุด.