หลังจากเปิดให้แฟนๆ ได้ตั้งชื่อผลงานเขียนกวีนิพนธ์ที่คุณชมัยภร แสงกระจ่าง เขียนลงในเฟซบุ๊ก และตั้งชื่อเล่นไว้ว่า ‘กวีนิพนธ์โควิด’ ในที่สุดคุณชมัยภรก็เลือกชื่อเรื่อง ‘ก้าวผ่านกาฬเวลา’ ที่ตั้งโดย สิกขมานามนพิสุทธิ์ พิทักษ์สันติภาพ เป็นชื่อรวมเล่มบทกวีล่าสุด 

“กาฬ ที่แปลว่าดำ มันเก๋มากนะ ก้าวผ่านกาลเวลา หรือ กาฬเวลา เราอ่านว่า กา ละ เวลา ก็ยังเป็นคำเสียงเดิมเลย กาฬเวลา มีความหมายว่า เป็นช่วงเวลาที่มืดมน”

กวีนิพนธ์ทั้งหมดเขียนขึ้นในวันที่ประเทศไทยเข้าสู่ช่วงปิดเมืองเพื่อป้องกันโรคติดเชื้อจากไวรัสโรโรนา หรือที่เราเรียกว่า โควิด-๑๙ (COVID-๑๙)   

“กวีนิพนธ์โควิด-๑๙ แปลว่า โควิดอายุยังน้อย”

คุณชมัยภรวันนี้ที่มีอารมณ์ขันขึ้นมาบ้างแล้ว

“เริ่มเขียนชิ้นที่หนึ่งตั้งแต่วันที่ ๒๑ มีนาคม ไปสิ้นสุดวันที่ ๑๖ มิถุนายน เขียนไปทุกวัน มันเหมือนเป็นบันทึก”

ก่อนจะเข้าสู่สถานการณ์ของการระบาด โดยปกติแล้วคุณชมัยภรจะออกจากบ้านแทบทุกวัน ทั้งไปประชุม ไปจัดกิจกรรม ไปอบรม ไปสอนเรื่องการอ่าน การเขียน แต่เมื่อมีประกาศว่า ‘ไม่ให้ออกจากบ้าน’ จึงกลายเป็นโจทย์หนักของคนที่ปกติไม่เคยถูกจำกัดเสรีในการเดินทาง 

“แล้วจะทำอะไรถ้าไม่ให้ออกจากบ้าน ถ้าจะต้องอยู่บ้านก็ควรจะมีหลักฐานหลงเหลือไว้บ้าง” คุณชมัยภรจึงตั้งใจกับตัวเองว่าจะเขียนบันทึกประจำวันในรูปแบบของบทร้อยกรองวันละหนึ่งชิ้น 

คุณชมัยภรเขียนไว้ในเฟซบุ๊กส่วนตัวทุกวัน เป็นเวลา ๘๗ วัน ซึ่งในการเขียนนั้นเมื่อโพสต์บทกวีในแต่ละวันก็ได้เห็นอารมณ์และความรู้สึกของเพื่อนนักอ่านในเฟซบุ๊กที่ต่างมีประสบการณ์ร่วมกัน ในวันของการเปิดเรื่องนั้นคุณชมัยภรบอกว่า

“ตอนขึ้นต้น เป็นตอนที่ย้อนกลับไปว่าโลกทั้งโลกมันเชื่อมต่อกันอย่างไร พูดถึงเรื่องความสมัครสมานกันของทั้งโลก ความสนุกสนานของทั้งโลก เราเที่ยวข้ามประเทศกันไป ข้ามประเทศกันมาอย่างไร”

เริ่มต้นเขียนชิ้นที่ ๑ ในวันที่ ๒๑ มีนาคม ๒๕๖๓ ด้วยเรื่องของทั้งโลก โดยใช้คำว่า ‘เมื่อวาน’ ว่าเมื่อวานนี้โลกเป็นอย่างไร “เมื่อวานนี้โลกกำลังรื่นเริงบันเทิงบันทึก”  คุณชมัยภรบอกว่า “ไม่ใช่แค่บันเทิงอย่างเดียว บันเทิงแล้วบันทึกด้วย ใครไปไหนมาไหนก็ต้องถ่ายรูปเก็บไว้ แต่เมื่อมีประกาศให้หยุดอยู่บ้านออกมา ก็เหมือนกับว่าทุกอย่างในโลกที่กำลังเคลื่อนหยุดการเคลื่อนไหวทันที ตอนจบของบทแรกจึงลงท้ายด้วย

เมื่อโลกพลิกอีกด้านเราพลันล้ม และตกลงจมพลัน ณ วันนี้” 

ในบทต่อๆ มา ก็เล่าถึงอารมณความรู้สึก บรรยากาศ และข่าวคราวต่างๆ ที่เกิดขึ้น และในแต่ละบทก็จะมีรายละเอียดต่างๆ ไว้ด้วยว่าวันที่นี้ มียอดผู้ติดเชื้อเท่าไร มียอดผู้เสียชีวิตเท่าไร 

กล่าวได้ว่าเป็นการบันทึกสภาพสถานการณ์ ทั้งสภาพภายในจิตใจ สภาพที่บ้าน สภาพแวดล้อม สภาพสังคม ในช่วงเวลานั้นๆ ไว้เช่นเดียวกับการเขียนบันทึกประจำวัน แต่เป็นการบันทึกไว้ในรูปแบบของกวีนิพนธ์

“ทุกอย่าง บันทึกเรื่องของตัวเองสัมพันธ์กับเรื่องของสังคม”  

น่าจะเป็นคำจำกัดความที่ชัดเจน คุณชมัยภรขยายความว่า  

“เช่น วันนี้เราบันทึกเกี่ยวกับความเหงา ความเหงานั้นไม่ได้เกิดกับเราคนเดียวแน่นอน เพราะว่าคนที่อยู่ในภาวะที่ต้องหยุดอยู่บ้าน ทุกคนก็ต้องมีภาวะนี้เกิดขึ้น แต่เมื่อบันทึกแล้วก็ต้องมีตัวเราอยู่บ้าง บางชิ้นก็มีตัวเราเยอะ บางชิ้นก็มีน้อย บางชิ้นก็เป็นบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงๆ เช่น เกิดตู้ปันสุขขึ้น ก็หยิบมาเขียน เขียนให้มีลักษณะทางวรรณศิลป์มากขึ้น สร้างเป็นเรื่องที่อิงจากความจริงที่เกิดขึ้น”

ตัวอย่างเช่น ช่วงที่โรคกำลังระบาดแล้วเกิดปัญหาการเงินกับหลายๆ คน ก็เขียน ‘จดหมายถึงนายก’ 

“ท่านนายกครับ ผมกำลังตกอับแล้วแน่วแน่
เมียกับลูกร้องกระจองอแง แล้วยังแม่นอนป่วยโปรดช่วยที
ท่านนายกครับ เร็วๆ หน่อยขอรับ อย่าเมินหนี
นั่น รั้วกระทรวงคลังยังพอมี วันพรุ่งนี้ผมจะไปปีนนะขอรับ”
(*ตอนจบของบท)

หรือเรื่อง ‘ตู้ปันสุข’ ที่เขียนตอนที่เพิ่งมีตู้ปันสุขตามจุดต่างๆ หยิบเรื่องของยายที่เอาผัดขิงกับน้ำพริกไปใส่ตู้ปันสุข แล้วหลานที่ไปดูตู้หยิบผัดขิงของยายกลับมาเพราะจำได้ว่ายายชอบกิน หรือเรื่องของครอบครัวที่ไปหยิบของในตู้แล้วแม่ร้องไห้ซึ้งใจที่เห็นคนไทยมีน้ำใจ

นอกจากบรรยากาศที่บางครั้งก็มีทั้งความเศร้า มีคำถาม มีความ หวั่นตระหนกต่อโรคระบาด ในอีกส่วนก็มีบรรยากาศที่ผ่อนคลาย มีเรื่องที่มีตัวละครน่ารักๆ เช่น เรื่องย่าตัดผมหลาน เรื่องของสัตว์เลี้ยงน่ารักรอบตัว 

“บางจังหวะที่เขียนเรื่องเครียดมากๆ  เต็มไปด้วยสถานการณ์อึดอัดคับข้องใจติดกัน ๔-๕ วัน ก็จะสลับเอาเรื่องสัตว์เลี้ยงมาเขียน  เป็นเรื่องที่เขียนเกี่ยวกับตา ยาย หลาน หรือเด็กกับสัตว์เลี้ยง เพื่อผ่อนคลายอารมณ์ของคนอ่าน ผ่อนคลายทั้งตัวผู้รับและผู้เขียน เพราะผู้รับกับผู้เขียนมีประสบการณ์เดียวกัน”

กวีนิพนธ์ทั้ง ๘๗ บทนี้ เนื้อหาเป็นไปตามสถานการณ์แต่ะวัน ในการเขียนเรื่องจะไม่ได้ต่อกัน สามารถอ่านแยกบทกันได้ แต่ในการเขียนทุกบทนั้นสัมผัสจะต่อกัน 

การเขียนกวีนิพนธ์ในช่วงสถานการณ์การระบาดของโรคครั้งนี้สิ้นสุดลงวันที่ ๑๖ มิถุนายน  รวมทั้งหมด ๘๗  ชิ้น ๘๗ วัน

“พอเขียนไปถึงวันที่แปดสิบกว่าเริ่มมองเห็นว่าสถานการณ์ในสังคมมันอยู่ตัว เขียนประเด็นต่างๆ ไปหมดแล้ว  ซึ่งถ้าหากเขียนต่อจะทำให้เกิดอารมณ์ซ้ำ สังคมก็เริ่มนิ่ง เลยคิดว่า เราหยุดตรงนี้ดีกว่า หยุดตรงคำขอบคุณ หยุดที่เราจะปิดกิจกรรมนี้ แต่ก็ไม่ได้หยุดเขียน ไปเขียนอย่างอื่นต่อ แต่หมายถึงว่าการบันทึกเหตุการณ์ต่างๆ พอมันเข้าที่ เราก็หยุด พอดีแล้ว ไม่มีอะไรตื่นเต้นแล้ว พูดง่ายๆ ก็คือ ทางสาธารณสุขควบคุมได้แล้ว” 

จึงจบลงด้วยบทส่งท้ายที่ชื่อว่า ‘คำขอบคุณ’

“ขอบคุณที่ตามอ่านกันทุกหน้า
ขอบคุณที่มีเวลายามฉุกเฉิน
ขอบคุณที่ยังให้หัวใจเพลิน
ขอบคุณที่เราเดินมาพบกัน” 

(คำขอบคุณ0)

คุณชมัยภรเองมองภาพรวมของกวีนิพนธ์ ก้าวผ่านกาฬเวลา  ว่า
“กวีนิพนธ์ แต่ละวรรคมันไม่ใช่ภาพเดียวซึ่งเป็นธรรมชาติของงานกวีนิพนธ์ ไม่ใช่บรรทัดนี้จะต้องหมายถึงแบบนี้ตลอดกาล แต่หมายความได้ลึกกว่านั้น เวลาเราอ่านทำความเข้าใจมันสามารถเข้าใจได้หลายชั้น เพราะฉะนั้นงานชิ้นนี้แม้มันจะเป็นบันทึกประจำวัน เป็นบันทึกที่เฉพาะสถานการณ์ แต่เราไม่อ่านมันในเฉพาะสถานการณ์โควิดอย่างเดียวก็ได้ เวลาเราเผชิญอะไร หรือเกิดอะไรขึ้นในชีวิต งานต่างๆ เหล่านี้ก็สามารถไปเปรียบเทียบได้แทบทุกชิ้น มันสามารถอธิบายโลกได้”

กวีนิพนธ์เล่มนี้ ไม่เพียงเป็นบันทึกเหตุการณ์ผ่านสายตากวีเท่านั้น แต่ยังเป็นบันทึกภาพเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ ที่ครั้งหนึ่งเราต่างตกอยู่ในสภาวะเดียวกันทั้งโลก มีความหวาดกลัว เหงา เศร้า หดหู่ ท้อแท้ หรือแม้แต่อารมณ์ความสุขกับบางจังหวะที่สอดแทรกเข้ามาในช่วงเวลาที่ยากลำบาก หลายกระแสสังคม หลายผู้คน หลายความเศร้า หลายรอยยิ้ม 

หลายเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในช่วงการระบาดของโรคครั้งนี้ถูกบันทึกไว้ในกวีนิพนธ์ ก้าวผ่านกาฬเวลา เล่มนี้ ที่จะเป็นเหมือนเครื่องย้อนเวลาให้เราได้มองกลับไปถึงสิ่งต่างๆ ที่บางครั้งเราอาจลืมไปแล้ว

การจัดพิมพ์ครั้งแรกนี้ สำนักพิมพ์คมบางได้เปิดให้ผู้อ่านสั่งจองล่วงหน้าและจัดพิมพ์ในจำนวนที่เหมาะสมกับการสั่งจอง เป็นหนังสือที่ถึงมือผู้อ่านทุกท่านในแบบพอดีๆ นอกจากนี้หนังสือยังจะวางจำหน่ายครั้งแรกในงาน “ABC Book Fest งานเทศกาลหนังสือเริ่มต้น” ซึ่งจัดเป็นครั้งแรกในประเทศไทย อันควรได้บันทึกไว้ด้วย

หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ก้าวผ่านกาลเวลา กวีนิพนธ์เล่มนี้ จะทำให้ผู้่อ่านได้มองเห็นพลังในชีวิตและมีแรงที่จะผ่านความหมองหม่นมืดมนในชีวิตไปได้อย่างปลอดภัยทั้งกายและใจ

ก้าวผ่านกาฬเวลา
พิมพ์ครั้งที่ 1 เพียง 500 เล่ม เท่านั้น

ราคาปก 260 บาท 
Pre-order เหลือ 220 บาท

สั่งจองได้ที่นี่ หรือ inbox ไปที่เพจสำนักพิมพ์คมบาง

ราคาพิเศษ 8 กรกฎาคม – 3 สิงหาคม 2563