“ราตรีนี้มืดไม่เห็นเพ็ญโสมส่อง”

เพ็ญพระจันทร์สีทองหายไปไหน

ข่าวร้ายร้ายโหมซ้ำกระหน่ำใจ

ดั่งใบไม้ร่วงแล้วก็ร่วงลา

ไปแล้วหรือพี่สาว-หนาวหรือพี่

ไปสู่ที่มีตะวันอันเจิดจ้า

ไปสู่อุ่นไอรัก “เปลวสุริยา”

ไปเป็น “เทวีขวัญฟ้า”-รพีพร

“ฟ้าคลุ้มฝน”มัวมนคนข้างหลัง

น้ำตาหลั่งอาลัยอกใจอ่อน

“หนามชีวิต”ยังแว่วไหวจนใจรอน

“หงส์เหิร”เอยบินร่อนสู่สวรรยา

เรารับรู้แล้วว่ารพีรัก

เราตระหนักแน่ในรพีกล้า

รพีรักคู่ขวัญดวงจันทรา

ย่อมจากฟ้าจากไกลไปด้วยกัน

สิ้นสองพี่เหมือนตะวันพระจันทร์ดับ

สิ้นสองพี่ลาลับสิ้นสูญขวัญ

วงศิลปินครึ้มชระอับลงฉับพลัน

น้ำตาโลมโลกสั่นสะท้านสะเทือน

ไปเถิดพี่ไปสวรรค์อันบรรเจิด

เป็นเพ็ญศรีอันเลอเลิศเทพใดเหมือน

นางสวรรค์กล่อมสวรรค์ซ่านดาวเดือน

ให้ฟ้าเลื่อนสวรรค์ลั่นบรรเลงรมย์



ชมัยภร แสงกระจ่าง

๑๔ พฤษภาคม ๒๕๕๐


ประวัติ คุณเพ็ญศรี
ตัดตอนจากบทความ เรื่อง นางเพ็ญศรี พุ่มชูศรี ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยสากล-ขับร้อง) พุทธศักราช ๒๕๓๔ นิตยสารสกุลไทย ฉบับที่ 2426 ปีที่ 47 ประจำวันอังคารที่ 17 เมษายน 2544


คุณเพ็ญศรี พุ่มชูศรี เกิดที่จังหวัดพิษณุโลก เมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๗๒ หลังจากที่ท่านเรียนจบระดับมัธยมที่โรงเรียนเฉลิมขวัญสตรีพิษณุโลกแล้ว ครอบครัวของท่านก็ได้ย้ายเข้ามาอยู่ที่กรุงเทพมหานคร แต่เนื่องจากฐานะของทางบ้านค่อนข้างขัดสน คุณเพ็ญศรีจึงไม่มีโอกาสได้เรียนหนังสือต่อ อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่มีความสนใจและสามารถร้องเพลงได้ดีตั้งแต่เล็กๆ คุณเพ็ญศรีจึงได้เข้าประกวดร้องเพลงตามงานวัดต่างๆ ตั้งแต่อายุเพียง ๘ ปี โดยใช้นามว่า “ผ่องศรี พุ่มชูศรี” และประสบความสำเร็จได้รับรางวัลชนะเลิศหลายสิบครั้ง จนเกือบจะหาคู่แข่งมาเทียบเคียงไม่ได้ จากความสามารถอันโดดเด่นนี้ ทำให้มีผู้ทาบทามให้ไปร้องเพลงอัดแผ่นเสียงเป็นครั้งแรก เมื่อปี ๒๔๘๔ ขณะที่อายุเพียง ๑๒ ปี โดยร้องเพลงชื่อ “ศีลธรรมทั้งห้า” ซึ่งเป็นผลงานการประพันธ์ทั้งคำร้องและทำนอง โดย ศิวะ วรนาฏ โดยได้รับเงินค่าตอบแทน ๕ บาท จากนั้น อีกประมาณ ๑ ปีถัดมา คือช่วงปี ๒๔๘๕ ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒ กองทัพญี่ปุ่นได้เข้ามาตั้งฐานทัพในประเทศไทย บริษัทมิตซุย ซึ่งเป็นบริษัทของญี่ปุ่น ก็ได้ว่าจ้างให้คุณเพ็ญศรีไปขับร้องเพลงเป็นประจำในค่ายทหารญี่ปุ่น โดยให้เงินเดือน ๔๕ บาท ครั้นถึงปี ๒๔๘๗ คุณเพ็ญศรีก็ได้ไปสมัครเป็นนักร้องประจำวงดนตรีสากลของกรมโฆษณาการ โดยการสนับสนุนอย่างแข็งขันของ ครูเวส สุนทรจามร และได้รับการบรรจุให้เป็นข้าราชการสามัญ ทำหน้าที่ร้องเพลงกับวงดนตรีกรมโฆษณาการ ซึ่งมี ครูเอื้อ สุนทรสนาน เป็นหัวหน้าวง ต่อมาก็ได้ร้องเพลงบันทึกแผ่นเสียงที่ห้าง ต.เง็กชวน ส่งผลให้ผลงานเพลงที่ท่านร้อง เริ่มเผยแพร่ออกไปเรื่อยๆ ทำให้ประชาชนทั่วไปได้เริ่มรู้จักกับยอดนักร้องที่มีน้ำเสียงที่ไพเราะจับใจคนใหม่ และเพิ่มความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนนอกเวลาราชการ คุณเพ็ญศรีก็ได้เริ่มร้องเพลงให้กับวงดนตรีรัตนศิลป์ ของ ครูแก้ว อัจฉริยกุล ที่โรงภาพยนตร์พัฒนากร โดยขับร้องเพลง “เสียงสะอื้น” ซึ่งเป็นผลงานการประพันธ์ทำนองโดย ครูเอื้อ สุนทรสนาน และคำร้องโดย ครูแก้ว อัจฉริยกุล เป็นเพลงแรก


ครั้นถึงปี ๒๔๙๐ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้คุณเพ็ญศรีขับร้องเพลงพระราชนิพนธ์เพลง “สายฝน” ซึ่งเพิ่งได้ทรงพระราชนิพนธ์เอาไว้ก่อนหน้านั้นไม่นาน โดยเป็นการร้องสดในรายการบรรเลงดนตรีรายการหนึ่ง หลังจากนั้น ในปี ๒๔๙๑ จึงได้ขับร้องเพลงนี้บันทึกแผ่นเสียงกับห้างแผ่นเสียงนำชัย นับเป็นงานสำคัญในยุคแรกๆ ของการทำงานที่คุณเพ็ญศรีมีความภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง หลังจากนั้นชื่อเสียงของคุณเพ็ญศรีก็เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง กล่าวได้ว่าเกือบจะไม่มีใครที่ไม่รู้จัก “เพ็ญศรี พุ่มชูศรี” เลย


ในช่วงปี ๒๔๙๔-๒๔๙๕ งานร้องเพลงก็ประดังเข้ามาหาคุณเพ็ญศรีมากขึ้นเรื่อยๆ ท่านได้ร้องเพลงบันทึกแผ่นเสียงเพิ่มขึ้น และยังได้เข้าร่วมงานกับละครคณะชุมนุมศิลปิน ซึ่งเป็นคณะละครเวทีของ คุณสุวัฒน์ วรดิลก โดยคุณเพ็ญศรีรับหน้าที่ทั้งร้องเพลงประกอบการแสดง และร่วมแสดงด้วย แต่เนื่องจากทางราชการไม่อนุญาตให้ข้าราชการไปแสดงละครกับเอกชน ท่านจึงตัดสินใจลาออกจากราชการเพื่อไปร่วมงานกับ คุณสุวัฒน์ วรดิลก อย่างเต็มตัว ในระยะนั้นเองทั้งคุณเพ็ญศรี และคุณสุวัฒน์ก็เกิดความรักใคร่ เห็นอกเห็นใจกันจึงได้ตัดสินใจใช้ชีวิตคู่ร่วมกัน และอยู่เป็นคู่ทุกข์คู่ยากกันมาตราบจนทุกวันนี้


แม้ว่าจะลาออกจากราชการไปแล้ว หากทางการมีงานสำคัญๆ คุณเพ็ญศรีก็มักจะได้รับเชิญให้ไปร่วมงานด้วยเสมอ เช่น ได้รับเชิญให้ไปขับร้องเพลงพระราชนิพนธ์เพื่อบันทึกแผ่นเสียงอีกหลายครั้ง


ชีวิตและงานของคุณเพ็ญศรีซึ่งกำลังรุ่งโรจน์เป็นอย่างยิ่ง ก็หาได้ราบรื่นไปจนตลอดรอดฝั่งไม่ เพราะในช่วงหนึ่ง ทั้งท่านเองและคุณสุวัฒน์ก็ต้องประสบกับมรสุมทางการเมือง มีอันต้องถูกจองจำ ขาดอิสรภาพไประยะหนึ่ง ซึ่งท่านได้เล่าด้วยความขมขื่นว่า ทั้งท่านและคุณสุวัฒน์ถูกใส่ร้ายจากคู่แข่งทางการเมืองด้วยข้อหาที่รุนแรง แต่ปราศจากความเป็นจริงโดยสิ้นเชิง อันมีสาเหตุเนื่องมาจากการที่คุณสุวัฒน์ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร


ภายหลังจากที่มรสุมใหญ่ในชีวิตพัดผ่านไปแล้ว ท้องฟ้าก็กลับแจ่มใสดังเดิม ชีวิตการงานของคุณเพ็ญศรีก็กลับมารุ่งเรืองอีกครั้ง โดยในปี ๒๕๐๖ หลังจากที่ได้รับอิสรภาพแล้วท่านได้รับรางวัลแผ่นเสียงทองคำพระราชทาน (รองชนะเลิศ) จากเพลง “วิหคเหิรลม”และเพลง “ม่านไทรย้อย”ต่อมาในปี ๒๕๐๘ ท่านก็ได้รับรางวัลชนะเลิศแผ่นเสียงทองคำพระราชทานจากเพลง “ง้อรัก”ทั้งยังได้รับพระราชทานรางวัลดาราทองพิเศษในฐานะผู้มีงานร้องเพลงดีเด่นในรอบปี ซึ่งจัดโดยสมาคมผู้สื่อข่าวบันเทิงอีกด้วย และในเวลาต่อมา คุณเพ็ญศรีได้จัดตั้งโรงเรียนสอนการร้องเพลงเล็กๆ ขึ้น ให้ชื่อว่า “ศกุนตลา” โดยเปิดสอนให้แก่บุคคลทั่วไปที่สนใจการขับร้อง ทำให้มีนักร้องใหม่ๆ ที่มีความสามารถเกิดขึ้นมาหลายคน นอกจากงานสอนร้องเพลงแล้ว ท่านยังได้รับเชิญให้ไปร้องเพลงเพื่อช่วยงานการกุศลและสาธารณประโยชน์ต่างๆ อย่างสม่ำเสมอตลอดมา อีกทั้งเคยได้รับเลือกให้เป็นประธานชมรมนักร้องแห่งประเทศไทยติดต่อกันถึง ๓ สมัยอีกด้วย


ผลงานเพลง : เพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้แก่เพลง สายฝน ดวงใจกับความรัก เทวาพาคู่ฝัน มหาจุฬาลงกรณ์ ความฝันอันสูงสุด และ อาทิตย์อับแสง เป็นต้น


ราชาเป็นสง่าแห่งแคว้น ใต้ร่มมลุลี สุดรำพัน ธนูรัก รำพันสวาท ห่วงรักห่วงอาลัย พิษรัก ยาใจยาจก กำสรวลสวาท ศรกามเทพ หาดสงขลา ผู้ที่พระเจ้าลืม โอ้ยอดรัก หงส์ทอง เมื่อเธอกลับมา เดือนดวงเด่น หงส์เหิร ชื่นตาฟ้างาม จันทร์ข้างแรม รำพึง ชายหาด ฝากรัก ชื่นสุข ชะตาฟ้า เพื่อเธอ ม่านไทรย้อย คนจะรักกัน ศกุนตลา ดึกแล้วคุณขา จันทร์เจ้าขา เหยื่อกามเทพ โพระดก ลาทีความรัก ทาสรัก พระจันทร์ร้องไห้ วิหคเหิรลม รักข้ามแดน หนามชีวิต อยากจะรักสักครั้ง พ่อแง่แม่งอน สัญญารัก สาบานรัก รักลวง ฯลฯ


นับตั้งแต่ครั้งแรกที่คุณเพ็ญศรีร้องเพลงบันทึกแผ่นเสียงมาจนถึงปัจจุบันนี้ เป็นเวลาเกือบ ๖๐ ปีแล้ว ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ท่านได้ฝึกฝน และเพาะบ่มสั่งสมประสบการณ์ทางด้านการขับร้องเพลงไทยสากลมาเป็นอย่างดี ประกอบกับความเป็นผู้มีอัจฉริยภาพและพรสวรรค์อันพิเศษ ทั้งในด้านเทคนิคการขับร้องเพลงและน้ำเสียงอันไพเราะ มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใคร ทำให้ท่านเป็นนักร้องสตรีที่ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ได้รับความนิยมสูงที่สุดท่านหนึ่งในประวัติศาสตร์ของวงการเพลงไทยสากล และเมื่อประสบความสำเร็จถึงขีดสุดแล้ว ท่านก็ยังได้ช่วยชี้แนะแนวทางและถ่ายทอดเทคนิคตลอดจนวิธีการขับร้องเพลงให้แก่นักร้องรุ่นหลัง นับเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติเพียบพร้อมเหมาะสมกับการเป็นศิลปินแห่งชาติทุกประการ สำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติจึงได้ประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติให้ท่านเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (เพลงไทยสากล-ขับร้อง) เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๓๔