งานมหกรรมงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 12 17-28 ตุลาคม 2550 เวลา 10.00 น. – 21.00 น. สำนักพิมพ์คมบาง บู๊ท N 54 โซนซี ชั้น ล่าง ขอเสนอ หนังสือใหม่

ซื้อหนังสือของสำนักพิมพ์คมบาง ชมนาด หวีกล้วย 400 บาทขึ้นไป รับถุงผ้าแทนถุงพลาสติก ไปเลยยยยย

ชมัยภร แสงกระจ่าง
ผัดไทยไม่ใส่เส้น นวนิยายชวนคิด เล่มใหม่ ของ ชมัยภร แสงกระจ่าง เคยตีพิมพ์เป็นตอนในนิตยสารสกุลไทย รวมเล่มงานนี้ทันทีเลย!!


วรรณกรรมแปลระดับโลก
คุณนายดัลโลเวย์ (Mrs Dalloway) นวนิยายเรื่องดัง ของ เวอร์จิเนีย วูล์ฟ แปลเป็นไทยครั้งแรกโดย ดลสิทธิ์ บางคมบาง คอวรรณกรรมพลาดไม่ได้ด้วยประการทั้งปวง

นิตยสาร ลัช อินดี้แมกกาซีน ของจริง ออกช้า แต่ออกแน่ มาแล้ว เล่มรับการเมืองในประเด็นสุดร้อนนนนน ศิลปะกับการเมือง อ่าน บทสัมภาษณ์ ศิลปินการเมืองของไทย เจ้าของรางวัลศิลปาธรคนล่าสุด วสันต์ สิทธิเขตต์ สัมภาษณ์นักแปล ดลสิทธิ์ บางคมบาง สัมภาษณ์สินธุ์สวัสดิ์ ยอดบางเคย เกี่ยวกับแนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทย ฯลฯ

รายละเอียดเพิ่มเติม

ผัดไทยไม่ใส่เส้น
ชมัยภร แสงกระจ่าง 368 หน้า ราคาปก 270 ลดในงานเหลือ 215 บาท

นักอ่านที่เป็นแฟนของชมัยภร แสงกระจ่าง คงทราบดีว่า ชมัยภร เป็นนักเขียนที่มักจะเขียนนวนิยายแปลกๆ ใหม่ๆ อยู่เสมอ นวนิยายส่วนใหญ่เป็น “เรื่องชีวิต” ที่อาจจะมีทั้งแบบชีวิตหวานแหวว และแบบชีวิตหนักหนาสาหัส
“ผัดไทยไม่ใส่เส้น” ชื่อเรื่องออกไปทางสนุกสนาน นึกว่าพระเอกจะต้องขายผัดไทย นางเอกคงเป็นลูกค้าสาวหน้าสวย แต่เรื่องนี้ไม่มีกระทะและตะหลิวผัดไทยให้เห็นสักฉากเดียว (ฮา) ดังที่โปรยไว้ที่ปกว่า ไม่ใช่เรื่องของผัดไทย แต่เป็นเรื่องของแท็กซี่ที่รัก แน่นอน เมื่อพระเอก นามว่า ‘กันเกรา’ ของเราขับแท็กซี่ เรื่องนี้ต้องไม่อยู่ในฟากเรื่องชีวิตหวานแหววเป็นแน่
หลายคนอาจจะรีๆ รอๆ ว่า โอ้…ชีวิตฉันก็หนักหนาเสียเต็มประดา ขออ่านเรื่องชีวิตแหววๆ สักหน่อยจะได้ไหม แต่เราอยากจะบอกว่า เมื่อเรารู้สึกว่าโลกนี้มันหนักหา การงานเหนื่อยยาก การบ้านการเมืองเขม็งเกลียว เศรษฐกิจยิ่งไม่ต้องพูดถึง เมื่อคุณได้รู้จักกับกันเกรา เมื่อคุณได้อ่านชีวิตของเขา เมื่อคุณได้สัมผัสหัวจิตหัวใจของชายหนุ่มที่ต้องผ่านอุปสรรคชีวิต คุณจะรู้สึกว่า ชีวิตเป็นเรื่องที่แม้จะหนักหนา แต่ชีวิตก็ให้อะไรแก่เรามากมาย และการเผชิญความยากลำบากเสียบ้าง ก็สร้างความหอมหวานให้ชีวิตนั้นเอง
ผัดไทยไม่ใส่เส้น มีความเป็นชีวิตอยู่เต็มเปี่ยม
คุณจะรู้สึกว่า อุปสรรคของคุณเล็กจิ๋วไปในพริบตา

สำนักพิมพ์คมบาง หวังว่า ผู้อ่านคงมองเห็นมุมมองของชีวิตของหนุ่มแท็กซี่หัวใจแกร่งคนนี้ และคงเอาใจช่วยเขาตลอดเรื่อง ที่สำคัญ คงจะทำให้ผู้อ่านได้อะไรมากมายจากการอ่านชีวิตของเขา
ขอให้คุณรักการอ่าน

สำนักพิมพ์คมบาง

คำนำจากชมัยภร แสงกระจ่าง

ฉันชอบใช้บริการรถแท็กซี่ เพราะขับรถไม่เป็น ครั้งหนึ่ง นั่งรถจากมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ข้ามเมืองมาถึงบ้านที่ถนนกรุงเทพกรีฑา ย่านศรีนครินทร์ คนขับรถเป็นชายหนุ่มร่างเล็ก รื่นเริง คงภาคภูมิใจในชีวิตตนเองมาก จึงเล่าให้ฟังตลอดทางโดยฉันไม่ได้ถาม หรือรุกเร้าหาคำตอบ ในระยะเวลาเกือบสองชั่วโมง ได้รายละเอียดครบถ้วนราวกับนวนิยายเรื่องหนึ่ง ลงจากรถแล้ว ฉันก็ยังไม่ได้บอกเขาเลยว่า เป็นนักเขียน จากนั้น ฉันก็เริ่มตอกย้ำเรื่องที่ได้ยินได้ฟังอีกครั้งด้วยการเล่าให้ใครต่อใครฟัง สังเกตปฏิกิริยาของทุกคนที่ได้ฟัง รวมทั้งอาจารย์สุวรรณา เกรียงไกรเพ็ชร์ เจ้าเก่า ทุกคนหัวเราะ ขำและตื่นเต้น ฉันจึงตัดสินใจให้เขาเป็นพระเอก และจินตนาการต่อเติมไปเองว่า เขาจะต้องเป็นคนเช่นไร ยิ่งเล่ายิ่งต่อเติมเสริมแต่ง เขาก็ยิ่งมีชีวิตชีวาในความรู้สึกของฉัน และไม่ช้าไม่นานฉันก็ลงมือวางโครงเรื่อง แรกก็ติดขัดว่า เรื่องนี้ควรจะชื่ออะไร ปรากฏว่า คำว่า “ผัดไทย”(อิทธิพลจากการทำงานวิจัยกับอาจารย์เจตนา นาควัชระ) ก็แวบเข้ามาในหัว และคำว่า “ไม่มีเส้น” ก็ตามมา จึงกลายเป็น “ผัดไทยไม่ใส่เส้น” ส่วนตัวละครสายพระเอกก็ให้ชื่ออยู่ในสายตระกูลต้นไม้ที่ชอบ อบเชย ชิงชัน กันเกรา พิลังกาสา
เหมือนทุก ๆเรื่องที่เขียนในสกุลไทย ฉันถูกนักอ่านทักถามด้วยความแปลกใจ แปลกดีนะ นักอ่านทั้งหลายบ่นกัน นักทำละครโทรทัศน์บางคนก็เผลอโทรศัพท์มาจับจองตอนที่ตีพิมพ์ไปได้สองตอน ฉันตอบขำ ๆ ไม่ต้องจองหรอกค่า เพิ่งเขียนได้ไม่กี่ตอนเอง เพราะฉันรู้ดีว่าเรื่องของฉันทำละครยาก เพราะไม่มีความสามารถในการสร้างโครงเรื่องให้หวือหวาได้ ฉันยิ่งเขียนก็ยิ่งทรมานกันเกรา เพราะหวังจะให้เขาเป็น “ผัดไทย” ที่แสนอร่อย นักอ่านก็เกรี้ยวโกรธกันเป็นการใหญ่ พบหน้ากันทีไรที่รู้จักก็รีบเดินมาบอก “น้อง…อย่าทรมานกันเกรามันมากนัก” ฉันเองยังอดอิจฉามันไม่ได้ที่มีคนห่วงใยมันขนาดนั้น บางคนเดินมาหาคู่ให้มันอีก สั่งห้ามว่า “นี่พี่…อย่าให้ลัดดาวัลย์เป็นนางเอกนะ” อีกรายหนึ่งดีใจตอนที่ดวงศศีโผล่มา แต่รายสุดท้ายเห็นจะเป็นเพื่อนบ้านสุดรักสนิท เดินมาเดินมาบอกว่า “พี่ไม่ชอบยายซูซี่อะไรนี่เลย..อย่าให้เป็นนางเอกนะ”ฉันก็เอาแต่ยิ้ม จะตอบได้อย่างไร กันเกรามันเป็นคนเลือกนี่นา (ฮา) และระหว่างตีพิมพ์ บรรณาธิการนรีภพ สวัสดิรักษ์เล่าว่า มีท่านนักอ่านมาเยี่ยมสกุลไทย เมื่อถามว่ามาอย่างไร ท่านก็ตอบว่า กันเกรามาส่ง ทำให้ฉันอดปลื้มไม่ได้ที่กันเกราอยู่ในหัวใจนักอ่านปานนั้น
ในที่สุด ผัดไทยไม่ใส่เส้น ก็จบลงจนได้ ตอนรวมเล่ม ฉันสงสารก็แต่บรรณาธิการสำนักพิมพ์ เขาต้องเกลาตัวเลขและข้อมูลของกันเกราจนเหน็ดจนเหนื่อย ขอขอบคุณ และขอบคุณนักอ่านทุกคนที่ยังติดตามใส่ใจชมัยภรอย่างเหนียวแน่น
ขออุทิศให้เจ้าของข้อมูลคนแรก กันเกราตัวจริง และกันเกราผู้เป็นผัดไทยไม่ใส่เส้นคนอื่น ๆในสังคมไทย

ชมัยภร แสงกระจ่าง
๑๔ กันยายน ๒๕๕๐

รายละเอียดเพิ่มเติม

คุณนายดัลโลเวย์ ราคาปก 220 ราคาขายในงาน 175 บาท
เวอร์จิเนีย วูล์ฟ
จากผู้แปล ดลสิทธิ์ บางคมบาง

Mrs Dalloway เคยเป็นภาพยนตร์มาเมื่อหลายปีก่อน นำแสดงเป็น Mrs Dalloway โดยดารารุ่นใหญ่ Vanessa Redgrave และเมื่อไม่นานมานี้ก็มีภาพยนตร์ดัดแปลงและเสริมต่อเรื่องราวจากวรรณกรรมเรื่องเดียวกันนี้ ในชื่อ The Hours นำแสดงเป็น Virginia Woolf ผู้เขียน โดยดาราดัง Nicole Kidman ซึ่งเป็นที่ต้อนรับไม่น้อย และนักอ่านคอวรรณกรรมคงได้ผ่านตากันมาแล้ว

ว่าไปแล้วชื่อของ Virginia Woolf เป็นที่กล่าวขวัญและรู้จักกันดีในแวดวงวรรณกรรมไทยมาเนิ่นนาน ในฐานะนักเขียนแนวกระแสสำนึก (Stream of Consciousness) ผู้มีผลงานอันน่าทึ่ง เป็นที่กล่าวขวัญและอยู่ในความนิยมของนักอ่านทั่วโลกมานานยาว เพียงแต่ผลงานของเธอไม่มีผู้ใดแปลออกมาเป็นภาษาไทยเท่านั้น

ในการแปลครั้งนี้จึงเป็นความพยายามของผู้แปลในอันจะให้นักอ่านชาวไทยได้รู้จักตัวเนื้องานของนักเขียนคนสำคัญคนหนึ่งของศตวรรษที่ยี่สิบผู้นี้ และ คุณนายดัลโลเวย์ เล่มที่ท่านถืออยู่นี้จึงเป็นผลงานเล่มแรกของเธอที่ได้รับการแปลเป็นภาษาไทย

Virginia Woolf เป็นนักเขียนชาวอังกฤษ ร่วมสมัยเดียวกันพอดีกับ James Joyce นักเขียนชาวไอริช ซึ่งมีผลงาน A portrait of an Artist as a Young Man และ The Dubliners แปลเป็นภาษาไทยมาก่อนหน้านี้แล้ว โดยทั้งคู่นี้ต่างเกิดในปี ๑๘๘๒ และเสียชีวิตในปี ๑๙๔๑ ด้วยกัน
นักเขียนแนวกระแสสำนึกอีกคนในฟากยุโรปตะวันออก ที่ร่วมสมัยเดียวกันกับ Virginia Woolf และมีผลงานแปลเป็นภาษาไทยหลายเล่มหลายสำนวนด้วยกัน เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่นักอ่านคอวรรณกรรม ได้แก่ Franz Kafka (๑๘๘๓ – ๑๙๒๔)
นักอ่านที่ผ่านการอ่านงานเขียนของ Kafka มาก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะในสำนวนแปลของผู้แปลในชื่อเล่ม ในความนิ่งนึก คงจะพอคุ้นเคยกับการอ่านงานเขียนในแนวกระแสสำนึก (Stream of Consciousness) มาบ้าง และคงพบมาแล้วถึงความแตกต่างจากงานเขียนของนักเขียนอื่นโดยทั่วไป
คุณนายดัลโลเวย์ เล่มนี้ก็เช่นนั้น และอาจเป็นปัญหาอยู่บ้างสำหรับนักอ่านที่ยังไม่คุ้น แต่ผู้แปลเชื่อว่า เมื่อได้อ่านลึกเข้าไปในตัวเรื่องแล้ว เขาจะพบว่านี่เป็นประสบการณ์ในการอ่านที่แตกต่างอย่างยิ่ง โดยผู้อ่านจะสัมผัสได้ถึงชีวิตภายในของตัวละคอนได้ลึกกว่างานประเภทอื่นๆที่เขาได้เคยอ่านมา ทั้งเหมือนจะเสริมให้เขาต้องใช้จิตนาการที่ลึกมากขึ้นในการจะรับรสวรรณกรรมให้เป็นไปโดยเต็ม

และก่อนเข้าสู่การอ่าน ผู้แปลขอชี้แจงเกี่ยวกับการใช้วรรค -ซึ่งนักอ่านบางคนอาจเห็นว่ามีมากเกินไป น่าจะรวบเข้าด้วยกันได้โดยไม่เสียความ- ว่า ผู้แปลใช้วรรคด้วยความมุ่งหมาย ๑) แยกคำไม่ให้สับสน ๒) คั่นความที่แทรกเข้ามา ๓) ทอดเสียงท้ายคำที่ทิ้งวรรคให้ไปรับกับคำที่ตามมา ๔) เป็นจังหวะให้กับเสียงของความคิด เช่นจังหวะของคลื่นทะเล ตามจังหวะของกระแสสำนึก ดังนั้นในการอ่านจึงอาจต้องทอดสายตาไปหาคำที่รับความกันกับคำในท้ายวรรคอยู่บ้าง ซึ่งจากการอ่านไปได้สักระยะก็จะจับกฎเกณฑ์ได้โดยง่าย
ผู้แปลหวังไว้กับตัวเองว่าจะมีโอกาสนำผลงานของ Virginia Woolf เรื่องอื่นๆมาเสนออีกได้ในโอกาสข้างหน้า

สิงหาคม ๒๕๕๐
ซับตาเมา โป่งน้ำร้อน จันทบุรี.

Virginia Woolf
(๑๘๘๒ – ๑๙๔๑)

ชาวอังกฤษ นักเขียนนวนิยายแนวทดลอง นักวิจารณ์ นักเขียนเรื่องสั้น นักเขียนความเรียง ชั้นนำในยุคสมัยของเธอ
เกิดในย่าน Hyde Park Gate ปี ๑๘๘๒ เจ็บป่วยทางจิตใจครั้งแรกจากความตายของพ่อของเธอ Sir Leslie Stephen ในปี ๑๙๐๔ หลังจากนั้นย้ายมาอยู่ย่าน Bloombery เกิดกลุ่มวรรณกรรมในชื่อเดียวกันจากกลุ่มเพื่อนนักเขียนและศิลปินที่คบหา รวมทั้งร่วมกับสามี Leonard Woolf ตั้งสำนักพิมพ์ Hogarth Press ที่มีชื่อเสียงขึ้นในปี ๑๙๑๗ ด้วย
เธอทำงานในช่วงสงบจากการเจ็บป่วยทางจิตใจเป็นระยะๆ มีผลงานอย่างต่อเนื่อง นวนิยายสองเรื่องแรกยังเป็นในรูปแบบตามนิยมกันมาก่อนหน้า จนเมื่อ Jacob’s Room ปรากฏขึ้นในปี ๑๙๒๒ จึงได้รับการกล่าวขวัญว่าเป็นงานที่มีนวัตการอย่างสูง จากนั้น Mrs Dolloway (๑๙๒๕) ก็ได้รับการวิจารณ์ว่าพัฒนาขึ้นอย่างมากด้วยวิธีเขียนที่ใช้บทสนทนาภายใน (Interior Monologue) หรือกระแสสำนึก (Stream of Consciousness) และเน้นบุคลิกตัวละครมากกว่าเค้าโครงเรื่อง
หลังจากนั้นมาก็มี To the Lighthouse (๑๙๒๗) The Waves (๑๙๓๑) Between the Acts (๑๙๔๑) และอื่นๆ นอกจากนั้นเธอยังมีงานเขียนประเภทความเรียง ข้อเขียนแนวสตรีนิยม งานเชิงชีวประวัติ และเรื่องสั้น ตลอดจนบทความวิจารณ์อื่นอย่างต่อเนื่องมากมายด้วย
จากการเจ็บป่วยทางด้านจิตใจอย่างต่อเนื่องยาวนาน ในที่สุดเธอก็ฆ่าตัวเองด้วยการจมน้ำตาย ในปี ๑๙๔๑.