เรือนไข้ใต้ราศีนาฬิกาทราย
ราคาปก 250 บาท หนา 272 หน้า
หมายเหตุ พิมพ์เพียง 1,000 เล่ม เท่านั้น


ผลงานของบรูโน ชูลซ์ เรื่อง ถนนจระเข้   เคยได้รับการจัดพิมพ์มาแล้ว โดยสำนักพิมพ์คมบาง เมื่อปี 2544  นับเป็นการเปิดโลกวรรณกรรมต่างประเทศในประเทศไทย   โดยผู้แปล ดลสิทธิ์ บางคมบาง นอกจากจะทำให้วงการวรรณกรรมไทย ได้รู้จักชื่อของนักเขียนชาวโปแลนด์คนนี้แล้ว ยังนับเป็นการสร้างบรรทัดฐานการแปลในรูปแบบของนักแปลเอง โดยมุ่งเน้นการแปลความให้ได้ความหมายทั้งโดยตรงและโดยนัยตามรูปแบบทางภาษาของต้นฉบับ 



ชื่อของดลสิทธิ์ บางคมบาง มิใช่นักแปลหน้าใหม่แต่อย่างใด  คอวรรณกรรมรัสเซียจะคุ้นชื่อของเขาในนาม สิทธิชัย แสงกระจ่าง มากกว่า ผลงานในช่วงยุคสมัยเพื่อชีวิต เป็นการแปลงานของนักเขียนรัสเซียที่โด่งดัง เช่น ลีโอ ตอลสตอย, ฟีโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี้ , นิโคไล โกโกล ซึ่งผลงานบางส่วนได้มีการพิมพ์ซ้ำใหม่ โดยสำนักพิมพ์คมบาง งานที่ยังคงสำนวนการแปลตามแบบเดิมยังคงใช้ชื่อสิทธิชัย แสงกระจ่าง และงานเล่มที่มีการปรับปรุงสำนวนแปลตามแบบใหม่ ก็จะใช้ชื่อ ดลสิทธิ์ บางคมบาง  เขาได้รับรางวัลนักแปลอาวุโสดีเด่นรางวัลสุรินทราชา  จากสมาคมนักแปลและล่ามแห่งประเทศไทย ประจำปี พ.ศ. 2552 



ดลสิทธิ์ บางคมบาง เดินในเส้นทางการแปลวรรณกรรมโลกอย่างจริงจัง และมุ่งมั่นที่จะแปลงานที่มีความสำคัญต่อวงการวรรณกรรมโลก โดยเมื่อพ้นจากยุควรรณกรรมเพื่อชีวิตแล้ว เขาก็มุ่งที่จะแปลงาน “วรรณกรรมสำคัญของโลก”  อันหมายถึง วรรณกรรมที่มีความเป็นต้นแบบ หรือความริเริ่มสร้างสรรค์ เป็นที่กล่าวขวัญ และ/หรือส่งอิทธิพลต่อวรรณกรรมที่มีตามมาจากนั้นในระดับระหว่างประเทศ



ผลงานแปลดังกล่าว คือ  เฟอร์ดีเดอร์ก ของ วีโทลด์ กอมโบรวีช นักเขียนชาวโปแลนด์, ในความนิ่งนึก ของ ฟรันซ์ คาฟคา นักเขียนชาวเชค  , คุณนายดัลโลเวย์ ของ เวอร์จิเนีย วูล์ฟ นักเขียนหญิงชาวอังกฤษ ผลงานทั้งสามเล่มตีพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ชมนาด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสำนักพิมพ์คมบาง 



 เรือนไข้ใต้ราศีนาฬิกาทราย  ผลงานเขียนของ บรูโน ชูลซ์ เป็นวรรณกรรมสำคัญของโลกอีกชิ้นหนึ่ง ที่ได้รับการกล่าวถึงในโลกวรรณกรรมอย่างมาก  และด้วยเขาเป็นทั้งนักเขียนและจิตรกร เขาจึงมีมิติให้ได้วิเคราะห์วิจารณ์และกล่าวถึงอย่างมากมายหลากหลาย ไม่นับที่เขาเป็นหนึ่งในชาวยิวที่ถูกสังหารโดยหน่วยเอสเอสของพวกนาซี



  เรือนไข้ใต้ราศีนาฬิกาทราย มีเนื้อหาที่เกี่ยวเนื่องกับผลงานเล่มแรกของเขา คือ ถนนจระเข้ ด้วยฉากและตัวละครชุดเดียวกัน ทั้งมีเหตุการณ์ที่สัมพันธ์กัน แต่สามารถอ่านได้เข้าใจโดยไม่ต้องอ่านต่อเนื่องกัน เรื่องราวเกี่ยวกับลูกชาย พ่อ และครอบครัว ในเมืองเล็กๆ ที่เต็มแน่นด้วยจินตนาการเหนือจริง ทำให้การอ่านแต่ละครั้งจะค้นพบอะไรใหม่อยู่เสมอ



 นอกจากนี้ เรือนไข้ใต้ราศีนาฬิกาทราย ยังได้รับการสร้างเป็นภาพยนตร์  ในชื่อเรื่อง The Hour-Glass Sanatorium  โดยผู้กำกับ  Wojciech Jerzy Has ผู้กำกับยิว-โปลิช  และภาพยนตร์เรื่องนี้ได้รับรางวัล Jury Prize  ในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานนส์ ปี ค.ศ 1973



 สำหรับนักอ่านวรรณกรรมแล้ว  เรือนไข้ใต้ราศีนาฬิกาทราย เป็นเล่มที่คุณพลาดไม่ได้ด้วยประการทั้งปวง


 


จากผู้แปล – ดลสิทธิ์ บางคมบาง


 บรูโน ชูลซ์ เป็นนักเขียนชาวโปแลนด์ผู้ซึ่งผู้แปลเคยนำรวมงานขนาดสั้นของเขามาแปลเป็นภาษาไทยไว้เมื่อปี พศ. 2544 ในชื่อ ถนนจระเข้ ซึ่งในครั้งนั้นดูจะเหมือนมีคนที่ชอบมันอย่างมากอยู่หนึ่งหรือสองคน และมีที่พอจะเรียกว่าชอบมันอยู่บ้างเหมือนกันอีกจำนวนหนึ่ง ไม่น่าจะเกินสิบคน ที่นอกจากนั้นมักจะมีความเห็นว่าเป็นงานที่ย่อยยาก อ่านไม่เข้าใจ หลายคนสารภาพว่าถึงกับหงายท้องไปเลยกับความใหม่ต่อการจะรับรู้เข้าใจของเขา และนั่นกระมังที่เป็นเหตุให้ แม้ทั้งที่พิมพ์จำนวนน้อยและเวลาก็ล่วงไปแล้วหลายปี งานพิมพ์ในคราวนั้นก็ยังเหลือค้างอยู่จำนวนมากจนวันนี้



 อย่างไรก็ตาม ผู้แปลได้รับรู้มาบ้างว่าในระยะหลังๆมีนักอ่านจำนวนหนึ่ง และที่ไม่ได้รับรู้มาก็น่าจะมีอยู่อีกจำนวนหนึ่ง ได้ย้อนกลับไปหยิบ ถนนจระเข้ มาอ่านใหม่ แม้จะไม่ได้รับรู้ว่าเขามีความเห็นใหม่กับมันอย่างไร แต่ก็เป็นกำลังใจให้ผู้แปลหยิบรวมงานขนาดสั้น ที่เหลือรอดมาจากสงครามโลกครั้งที่สองอีกเล่มหนึ่งของเขา มาแปลในชื่อ เรือนไข้ใต้ราศีนาฬิกาทราย เล่มที่ท่านกำลังถืออยู่นี้



 การที่ผู้แปลหยิบเอางานของบรูโน ชูลซ์ มาแปลแม้ทั้งที่เป็นงานที่ขายยาก ก็ด้วยความรู้สึกว่าจะเป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างมากหากนักอ่านชาวไทยของเราไม่รู้จักนักเขียนผู้นี้ และที่หยิบมาแปลจนครบเท่าที่มีอยู่ก็เพื่อให้นักอ่านในส่วนที่ได้อ่าน ถนนจระเข้  มาแล้ว ได้พบสิ่งที่สืบเนื่องไปจากที่เขาได้อ่านมา รวมทั้งจะได้สัมผัสงานในแบบฉบับของเขาโดยทั้งหมดได้



  งานเขียนของบรูโน ชูลซ์ ในชุดรวมเล่มในภาษาโปลิชที่ใช้ชื่อในภาษาไทยของผู้แปลว่า ถนนจระเข้ นั้นตีพิมพ์ครั้งแรกในโปแลนด์เมื่อปี 1934 และชุดที่สอง ซึ่งก็คือ เรือนไข้ใต้ราศีนาฬิกาทราย เล่มนี้ ตีพิมพ์ครั้งแรกในโปแลนด์เมื่อปี 1937 ในช่วงเวลานั้น แม้จะได้รับการกล่าวขวัญถึงอยู่บ้าง และบางเรื่องก็เป็นงานที่ได้รับรางวัลมาก่อนหน้า แต่ก็เป็นไปในวงอันจำกัด และกระแสที่คุกคามเข้ามาของภาวะสงครามก็มีส่วนอยู่มากที่ทำให้ไม่ได้รับความสนใจกว้างขวางนัก จนเมื่อหลังจากบรูโน ชูลซ์ เสียชีวิตไปแล้ว (พฤศจิกายน 1942) งานเหล่านี้ -ได้รับการตีพิมพ์ขึ้นใหม่ในปี 1957 พร้อมกับมีการแปลและตีพิมพ์ขึ้นในภาษาเยอรมัน และ ภาษาฝรั่งเศส แล้วตามมาด้วยภาษาอิตาลี และ นอร์เวย์-  จึงได้รับการกล่าวขานกันขึ้นอย่างกว้างขวาง จนเมื่อได้รับการแปลและตีพิมพ์เป็นภาษาอังกฤษขึ้นในปี 1977 กระแสความชื่นชมก็ยิ่งเป็นที่กล่าวขวัญขึ้นในวงวรรณกรรมทั่วโลก และชื่อของบรูโน ชูลซ์ ได้รับการยกย่องให้เป็นนักเขียนสำคัญคนหนึ่งศตวรรษที่ 20



 ความสำคัญของงานเขียนของเขาสืบเนื่องไปสู่การให้ความสำคัญอย่างมากต่องานภาพเขียนทั้งหลายที่เขาได้เขียนขึ้นไว้ระหว่างยังมีชีวิต จนขนาดกลายเป็นกรณีพิพาทระหว่างประเทศขึ้น กล่าวคือ เมื่ออิสราเอลได้ขนย้ายเอาอาคารหลังหนึ่ง ซึ่งบรูโน ชูลซ์ ได้เขียนภาพเขียนขึ้นบนผนังไว้ ไปตั้งในพิพิธภัณฑ์สงครามในประเทศอิสราเอล โปแลนด์ –ซึ่งเป็นประเทศที่โดรโฮบิชซ์ เมืองบ้านเกิดของบรูโน ชูลซ์ ตั้งอยู่มาก่อน- ก็ประกาศอ้างความเป็นเจ้าของ และพร้อมกันนั้น ยูเครน ซึ่งเป็นประเทศที่เมืองแห่งนี้ไปอยู่ในอาณาเขตเมื่อตั้งเป็นประเทศขึ้น ก็ประกาศอ้างความเป็นเจ้าขึ้นของเช่นกัน



 สิ่งนี้พอจะให้ภาพได้ว่าโลกได้ให้ความสำคัญแก่นักเขียนผู้นี้เพียงใด



 นักอ่านชาวไทยซึ่งอาจไม่คุ้นเคยกับชื่อของบรูโน ชูลซ์ มาก่อน หลายคนอาจมองข้าม ถนนจระเข้ ไปด้วยไม่รู้จัก แต่ว่าไปแล้ว นักอ่านที่รู้จักคุ้นเคยกับชื่อของฟรันซ์ คาฟคา บางทีก็ด้วยที่มองข้ามไป แม้ทั้งที่เขาน่าจะเป็นกลุ่มแรกที่จะชื่นชอบงานเขียนของบรูโน ชูลซ์ เพราะดูเหมือนพอจะกล่าวได้ว่า เขาคือนักเขียนคนที่เดินต่อไปอีกจากที่ฟรันซ์ คาฟคา ได้เดินไว้ ด้วยน้ำเสียงที่แตกต่างออกไป และด้วยทัศนะทางภาษาที่ดิ่งลึกลงกว่า



 ปัญหาของนักอ่านชาวไทยที่อาจมีต่อการอ่านงานของบรูโน ชูลซ์ นั้น นอกเหนือจากข้อเกี่ยงงอนในเรื่องโครงสร้างทางภาษา ซึ่งทำให้มีข้อติงว่าประโยคที่แปลออกมาไม่อยู่ในโครงสร้างภาษาไทย แล้ว ความคุ้นชินกับวรรณกรรมโครงสร้างยังทำให้เขาตั้งรับไม่ทันกับการอ่านวรรณกรรมในรูปแบบอื่น ข้อนี้ นักอ่านหลายคนที่อ่าน คุณนายดัลโลว์เวย์  ของ เวอร์จิเนีย วูล์ฟ ที่ผู้แปลได้แปลไว้ก็ประสบเช่นกัน



 บางทีการอ่านโดยปล่อยใจไปตามสบาย ไม่มีข้อยึดว่าวรรณกรรมจะต้องมีรูปแบบหรือโครงสร้างประโยคเป็นอย่างไร และไม่จำเป็นจะต้องมีความเข้าใจในทุกถ้อยคำที่แสดงอยู่ไว้ในตัววรรณกรรม ยอมปล่อยให้สิ่งที่ไม่เข้าใจเป็นสิ่งที่เขาจะพบได้ในวันข้างหน้าบ้าง การอ่านก็จะเป็นไปอย่างราบรื่นกว่า และ ที่สำคัญ โดยมันเป็นงานในรูปแบบที่เขายังไม่คุ้นนัก การอ่านจึงน่าจะเป็นไปโดยค่อยๆเลาะเล็มไปมากกว่าการจะอ่านอย่างอ่านเอาอ่านเอา แบบตะลุยให้จบโดยเร็ว



 ผู้แปลหวังว่า เรือนไข้ใต้ราศีนาฬิกาทราย เล่มนี้ จะให้ประสบการณ์ในการอ่านที่ดีกับทุกคนที่ได้อ่าน และสำหรับผู้ที่เพิ่งอ่านงานของนักเขียนผู้เป็นความภูมิใจของชาวโปแลนด์ผู้นี้เป็นครั้งแรกด้วยเล่มนี้ ผู้แปลหวังว่าเขาคงจะติดตามหา ถนนจระเข้ มาอ่านด้วย เพื่อประกอบเรื่องราวทั้งหมดให้มีความสมบูรณ์ขึ้น แม้แต่ละเรื่องจะมีความสมบูรณ์ในตัวก็ตาม และเพื่อที่เขาจะได้รับรสจากผลงานทั้งหมดที่มีเหลืออยู่ของนักเขียนสำคัญของโลกผู้นี้



 ขอจงมีความสุข และค้นพบสิ่งที่ดีจากการอ่าน.


     5 มีนาคม 2553
            ซับตาเมา, หนองตาคง, โป่งน้ำร้อน, จันทบุรี.