ความฮอตของบุพเพสันนิวาสนี้ ช่างมีอานุภาพทะลุทะลวงใจคนจริงๆ ด้วยความสนุกสนาน ความตลก ความน่ารักของนักแสดง รวมไปถึงความรู้ทางประวัติศาสตร์ และความน่าสนใจของเรื่องเล่า ที่ถ่ายทอดผ่านตัวหนังสือ จนถูกหยิบยกมาทำเป็นละคร แน่นอนว่าต้องไม่ธรรมดา ถึงขนาดที่คนทั่วบ้านทั่วเมืองต้องติดละครงอมแงมขนาดนี้ได้ ก็ต้องขอบคุณและชื่นชมคนที่เขียนบทประพันธ์นี้ ที่ทำให้เราได้มีโมเมนต์ดูละครสนุกสนานและได้อรรถรสแบบนี้

แต่ในมุมเดียวกันทำให้มานั่งนึกถึงกลุ่มคนที่ไม่ได้ดูละครแบบเราๆ กลุ่มคนที่ไม่สามารถสัมผัสความรู้สึกและอรรถรสเหล่านี้ได้ นั่นเรากำลังหมายถึงผู้พิการทางสายตา นึกคิดไปว่า…ถ้าเขาเหล่านั้นได้มีโอกาสแบบเราๆ ก็คงจะดีไม่น้อย เพราะจริงๆ อาจไม่ใช่แต่ละครบันเทิงใจเรื่องนี้ เรื่องราวดีๆ มากมายที่อยู่ในยุคโซเชียล ก็หมายรวมอยู่ด้วย แต่เราจะทำอย่างไรได้ กับการส่งมอบโอกาสเหล่านี้ให้กับกลุ่มคนที่ไร้โอกาสเหล่านั้น

โครงการดีๆ นี้จึงผุดขึ้น กับ “โครงการทำละครวิทยุเพื่อคนตาบอด” ทั้งนี้เพื่อให้เขาได้มีโอกาสสัมผัสกับความบันเทิงเฉกเช่นอย่างเรา งานนี้ไม่ธรรมดา ต้องหาคนที่มีความสามารถมาช่วย เพราะการทำละครวิทยุ มันไม่ใช่เรื่องง่ายอย่างแน่นอน และแล้วกลุ่มที่ริเริ่มความคิดดีๆ ที่ชื่อว่า “กลุ่มก่อการดี รวมมิตรการละคร” โดยมี “อาจารย์จเลิศ เจษฎาวัลย์” คณบดีคณะสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยรามคำแหง “เก่ง ไกรวิทย์ กุลวัฒโนทัย” พิธีกรมากความสามารถ ผู้คร่ำหวอดวงการมายา ร่วมกับ “ดร.ธนา ทุมมานนท์” ผู้บริหารเว็บไซต์ไทยรัฐออนไลน์ มาช่วยกันทำละครวิทยุเพื่อคนตาบอดขึ้น ทั้งนี้ได้เรื่องราวจากนวนิยายมาทำหลายเรื่อง โดยเราจะพาไปพูดคุยกับเจ้าของนวนิยายคนนั้น

“ชมัยภร บางคมบาง” ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี 2557 หรือนักเขียนนวนิยายชื่อดังที่มีผลงานมากมาย รวมไปถึงเรื่องสั้น สารคดี บทกวี และวรรณกรรมอื่นๆ อีก โดยเปิดใจกับ ไทยรัฐออนไลน์ ถึงการอนุญาตให้นำนวนิยายทั้งหมดไปทำละครวิทยุ แหม่..ฟังแล้วน่าสนุก ชวนนึกไปถึงอดีตที่ผ่านมา ที่ยุคหนึ่ง ละครวิทยุ โด่งดังเป็นที่สุด อะไรก็เทียบเทียมไม่ได้ ใครเกิดไม่ทัน ก็อดใจรอละครวิทยุเรื่องนี้นะ เรื่อง จดหมายถึงดวงดาว ที่ศิลปินแห่งชาติคนนี้เป็นผู้ประพันธ์ โดยละครเรื่องนี้เคยถูกหยิบยกไปทำเป็นละครบนหน้าจอทีวีแล้วเช่นกัน

ศิลปินแห่งชาติ เปิดใจว่า “จริงๆ แล้วเรายกให้หมดเลย ไม่ว่าจะนวนิยายเรื่องไหน เอาไปทำละครวิทยุได้หมดเลย เรายกให้หมดทุกเรื่อง จากที่เช็กมาก็มีอยู่ 28 เรื่อง แต่ถ้าอยากได้นอกเหนือจากนั้น เราก็พร้อมจะให้หมด คืออะไรที่ทำเพื่อคนอื่น เราจะให้อยู่แล้ว หนังสือเสียงเราก็ยกให้ ดังนั้นการที่จะเอานวนิยายไปทำละครวิทยุเพื่อคนตาบอด เราก็พร้อมยกให้ทุกเรื่อง”

ไม่ต้องมาซื้อหรืออะไร

เราเขียนหนังสือ เราก็เอาเรื่องราวของคนอื่นมาเขียนอยู่แล้ว เช่นมีอยู่เรื่องหนึ่ง ที่ชื่อว่า พระอาทิตย์คืนแรม เราก็เขียนถึงคนตาบอด ดังนั้นหากจะเอาไปทำเป็นละครวิทยุเพื่อคนตาบอด เราก็ยินดี และไม่มีปัญหาอะไร ตลอดมาใครขอ เราก็ให้ตลอด ยกเว้นแต่เอาไปขาย ซึ่งเราก็บอกไปว่า อย่าไปทำมันเลย ก็ปฏิเสธไป

ผลงาน??

ตอนนี้ก็ยังเขียนหนังสืออยู่ แต่ตั้งแต่หนังสือขวัญเรือนและสกุลไทยปิดตัวลง ก็ยังไม่มีช่องทางให้ลงเลย เราก็ไปลองลงอีกช่องทางหนึ่งทางโซเชียล แต่แฟนคลับที่เป็นคนรุ่นเดียวกับเราที่ยังติดตามอ่านอยู่ ก็ยังงงๆ ไม่รู้จะตามมาอ่านอย่างไร ซึ่งเราก็ต้องเขียนไป เพราะต้องเขียนให้จบ แต่จะมีคนอ่านมากน้อยแค่ไหน ก็ไม่เป็นไร

เขียนแนวไหน?

ปกติเราจะชอบเขียนหนังสือแนวสนุกสนาน เกี่ยวกับประเด็นทางสังคม ครอบครัว สัตว์เลี้ยง แต่ก็มีประเด็นทางการเมืองบ้าง แต่ไม่มาก และก็ไม่ใช่เรื่องรักโรแมนติก พิษรักหักสวาทก็ไม่ใช่ อย่างเด็กท้องในวัยเรียน พ่อแม่จะแก้ปัญหายังไง ก็เป็นเรื่องราวทางสังคมเป็นส่วนใหญ่

เรื่องนี้น่าสนุก

จริงๆ แล้วอยากเชียร์ให้เอานวนิยายเรื่องนี้ไปเขียน เพราะเขียนไว้นานแล้ว แต่ไม่มีใครเอาไปทำละครสักที เรื่องนี้ชื่อว่า เช้าชื่น คืนฉาย มันเป็นเรื่องของคนเก็บเด็กมาเลี้ยง ซึ่งปกติแล้วมันก็น่าจะสนุกนะ แต่ตอนจบเรื่องนี้ มันไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่า พ่อมันเป็นใคร มันเลยกลายเป็นปัญหา (หัวเราะลั่น) ไม่มีคนเอาไปทำ พร้อมบอกว่า เอาจริงๆ ในสังคมมันพิสูจน์ไม่ได้หรอก ว่าใครเป็นใคร อย่างในเรื่อง เด็กคนหนึ่งที่เขาเอามาทิ้งนั้นมีชื่อพ่อแม่ แต่อีกคนมันไม่มี มันก็ไม่รู้หรอกว่าเจ้าคุณปู่จะเป็นใคร พ่อเป็นใคร ซึ่งบางครั้งเราก็ตลก คนอ่านก็มาถามว่า พี่ๆ สรุปใครเป็นพ่อ เราก็ขำๆ คิดในใจ ทำไมเราจะต้องรู้ด้วยเหรอ ว่าเด็กคนนั้นลูกใคร หรือเขาเรียนฟิสิกส์กันมากไป ที่ต้องพิสูจน์ทุกอย่าง

คนตาบอดเขียนอินสุดๆ

จริงๆ แล้ว คนพิการทางสายตาสามารถทำอะไรได้หมด มีอยู่ช่วงหนึ่ง ตอนที่เขียนเรื่องพระอาทิตย์คืนแรม เป็นนวนิยายที่เกี่ยวกับคนตาบอด ตอนแรกเราคิดว่าเขาน่าสงสารอย่างนู้นอย่างนี้ แต่พอเราได้ไปศึกษาจริงๆ และได้ไปเจอ เรากลับพบว่า เขาก็มีศักดิ์ศรีเท่าๆ กับคนอื่นๆ ในสังคม เขาไม่ได้ต้องการให้เราสงสาร เวทนาอะไรเขา เขาต้องการยืนอยู่ได้ในสภาพที่เขาเป็น ไม่ได้ต้องให้เราไปโอบอุ้มอะไรเขาหนักหนา ครั้งหนึ่งก็เคยสอนคนตาบอดเขียนนวนิยาย เชื่อมั้ย? เขาเขียนได้ดีมาก อินสุดๆ เพราะเขาเขียนจากความรู้สึก ไม่ใช่จากสิ่งที่เห็น พี่ชอบมาก ซึ่งถ้าละครวิทยุเพื่อเขาแบบนี้ ก็น่าจะดีมาก

นี่คือสิ่งที่เราได้พูดคุยกับศิลปินแห่งชาติผู้นี้ ฟังแล้วก็รู้สึกสนุก ได้อรรถรส ออกรสออกชาติ นี่แค่สัมภาษณ์กันสั้นๆ นะ ถ้าลองได้อ่านนวนิยาย หรือดูละครวิทยุจากบทประพันธ์ของเขาแล้ว มีหวังเราต้องติดงอมแงมแกะไม่ออกทั้งบ้านทั้งเมืองแน่นอน

สุดท้าย ดร.ธนา ฝากทิ้งท้ายแบบจริงใจว่า เราคิดจะทำละครวิทยุเพื่อคนที่พิการทางสายตา แต่ก็ไม่ใช่ผู้ที่มีปัญหาทางด้านสายตาเท่านั้น สว. ผู้สูงวัย หรือคนแก่ เราก็นึกถึง…ดังนั้นโครงการนี้ จึงเกิดจากความที่เราอยากส่งมอบสิ่งดีๆ ให้กับทุกคนในสังคม โดยให้ไทยรัฐออนไลน์ที่เป็นส่วนเล็กๆ และเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ได้ทำเรื่องราวดีๆ เหล่านี้ ทั้งนี้หากใ