ลดราคา!

จากวินทร์ถึงปราบดา ปรากฏการณ์ของการวิจารณ์วรรณกรรรมไทยร่วมสมัย

242 ฿

ผู้แต่ง หลายคน
ISBN 9786167787008
จำนวน 306 หน้า
สำนักพิมพ์
ปีที่พิมพ์ 2556

หมวดหมู่: , ป้ายกำกับ:

รายละเอียดเพิ่มเติม

หนังสือ จากวินทร์ถึงปราบดา  เป็นผลสืบเนื่องมาจากงานวิจัยสาขาวรรณศิลป์  ของโครงการวิจัยเรื่อง การวิจารณ์ในฐานะปรากฏการณ์ของสังคมร่วมสมัยเพื่อพัฒนาความรู้ด้านสังคมศาสตร์การวิจารณ์ ภาคสอง ซึ่งผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. สุวรรณา  เกรียงไกรเพ็ชร์  เป็นหัวหน้าโครงการ  และเป็นโครงการวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)

ในระหว่าง 1 เมษายน พ.ศ. 2551 ถึง 30 กันยายน พ.ศ. 2552  ผู้เขียนในฐานะผู้วิจัยสาขาวรรณศิลป์ได้เลือกศึกษาบทวิจารณ์วรรณกรรมของวินทร์  เลียววาริณ  และบทวิจารณ์วรรณกรรมของปราบดา หยุ่น  เป็นกรณีศึกษา เพื่อให้ต่อเนื่องกับโครงการวิจัยภาคแรก  ที่ได้ศึกษาบทวิจารณ์วรรณกรรมของอังคาร  กัลยาณพงศ์  และบทวิจารณ์วรรณกรรมของชาติ  กอบจิตติ  ไปแล้ว

วินทร์  เลียววาริณ  และปราบดา หยุ่น  เป็นนักเขียนร่วมสมัยที่สร้างปรากฏการณ์ทางสังคมวรรณกรรมอย่างโดดเด่น  วินทร์ซึ่งได้ฉายานักเขียนแนวทดลอง  ได้ฉีกขนบวรรณกรรมและสร้างสรรค์นวลักษณ์แห่งกลวิธีการประพันธ์อย่างแยบยล โดยไม่ทิ้งสาระด้านเนื้อหา  เขาได้รับรางวัลวรรณกรรมอย่างต่อเนื่องและเมื่อได้รับรางวัลซีไรต์ถึง 2 ครั้ง  เขาก็ได้ถูกจับตามองจากสังคมวรรณกรรมอย่างถี่ถ้วนยิ่งขึ้น  ปราบดา หยุ่น  ก็เช่นเดียวกัน  เริ่มสร้างสรรค์ผลงานหลังจากวินทร์ประมาณ 10 ปี  ปราบดาเป็นหนึ่งในจำนวนนักเขียนแถวหน้าของวงวรรณกรรมไทยที่นำเสนอผลงานที่สำแดงคตินิยมหลังสมัยใหม่   ผลงานแปลกแหวกขนบของเขากระตุ้นให้ผู้อ่านตั้งคำถามกับปรากฏการณ์ของสังคม  ไม่ว่าจะเป็นภาษา วัฒนธรรม  ความเชื่อ  ระบบตรรกะที่คุ้นชิน  ความใหม่สดของผลงาน  และภาพลักษณ์ของนักเขียนคลื่นลูกใหม่  ทำให้วรรณกรรมของปราบดาเป็นที่นิยมในหมู่นักอ่านหนุ่มสาวที่ต้องการอ่านวรรณกรรมมีสาระและร่วมสมัยทั้งเนื้อหา ความคิด  และกลศิลป์  เมื่องานเขียนของปราบดาได้รับรางวัลซีไรต์  เขาก็ถูกจับตามองจากสังคมวรรณกรรมอย่างเข้มงวดเช่นเดียวกัน  ดังนั้น  วรรณกรรมของนักเขียนหนุ่มทั้งสองคนจึงได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากและหนักหน่วง  ในขณะทำงานวิจัย วินทร์มีผลงานเขียน  31  เล่ม  ปราบดามีผลงานเขียน  22  เล่ม  และทั้งสองคนมีหนังสือที่เขียนร่วมกันเพราะเป็นจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ที่เขียนถึงกันอีก 7 เล่ม   ผู้เขียนพบบทวิจารณ์วรรณกรรมของวินทร์  เลียววาริณ  71  เรื่อง  วิทยานิพนธ์ 5 เรื่อง  บทวิจารณ์วรรณกรรมของปราบดา  หยุ่น  48 เรื่อง  และ กำลังมีผู้ทำวิทยานิพนธ์อีก 1 เรื่อง  ในวงวรรณกรรมไทยซึ่งกล่าวได้ว่าการวิจารณ์ยังไม่เติบโตนัก  จำนวนบทวิจารณ์วรรณกรรมของนักเขียนทั้งสองคนสะท้อนว่าผลงานของเขามี  “อะไร”  ที่เชิญชวนหรือกระทั่งท้าทายนักวิจารณ์  และเมื่อศึกษาบทวิจารณ์โดยละเอียดก็พบว่าบทวิจารณ์หลายบทเสนอศาสตร์หรือองค์ความรู้อันอาจพัฒนาไปสู่ทฤษฎีแห่งการวิจารณ์  พร้อมกันนั้นบทวิจารณ์ได้แสดงให้เห็นเส้นทางควบคู่กันระหว่างการสร้างสรรค์และการวิจารณ์  ซึ่งบางครั้งก็เคียงคู่กันไป  บางครั้งก็ล้ำหน้า  แต่บางคราก็ล้าหลัง  และนั่นเป็นเหตุผลที่ผู้เขียนเลือกศึกษาผลงานและบทวิจารณ์วรรณกรรมของนักเขียนทั้งสอง  เพราะแสดงให้เห็นปรากฏการณ์ของสังคมร่วมสมัยที่น่าจะสกัดความรู้ด้านสังคมศาสตร์การวิจารณ์ของวงวรรณกรรมไทยได้เป็นอย่างดี

ผลของการวิจัยสามารถตอบโจทย์วิจัยที่กำหนดไว้  และประเด็นความคิดจากทัศนะวิจารณ์ทั้งด้านบวกและด้านลบที่สกัดได้จากบทวิจารณ์ยังให้ความรู้ในเรื่องสังคมศาสตร์การวิจารณ์  และสุนทรียศาสตร์ในบริบทของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป  นอกจากนี้ผู้เขียนยังเชื่อมโยงผลการศึกษาวิจัยบทวิจารณ์ของวินทร์ เลียววาริณและปราบดา  หยุ่นกับผลการศึกษาวิจัยบทวิจารณ์ของอังคาร  กัลยาณพงศ์และชาติ  กอบจิตติ เพื่อชี้ให้เห็นความเชื่อมโยงในบริบทและบทบาทของนักเขียนทั้ง ๔ คนนี้  โดยเฉพาะอย่างยิ่งการมิได้วางตนอยู่ใน “พื้นที่” ของวรรณกรรมกระแสหลัก  แต่กลับมีความโดดเด่นจนในที่สุดกลายเป็นหัวเลี้ยวหนึ่งของวรรณกรรมไทยร่วมสมัย

นอกจากผู้เขียนจะใช้ข้อมูลจากบทวิจารณ์และบทสัมภาษณ์แล้ว  ในระหว่างการวิจัย ได้จัดการสัมมนาทางวิชาการ 2 ครั้ง คือ การสัมมนาการวิจารณ์วรรณกรรมของวินทร์  เลียววาริณ  ในเดือนมิถุนายน 2552  และการสัมมนาบทวิจารณ์วรรณกรรมของปราบดา หยุ่น ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2552  ผู้เขียนจึงใช้ข้อมูลจากวิทยากร ซึ่งมีทั้งนักวิชาการ นักเขียน และนักอ่านร่วมประกอบการวิเคราะห์วิจัยด้วย  รายละเอียดของการสัมมนาทั้งสองครั้งจะอยู่ในภาคผนวกของหนังสือเล่มนี้  รวมทั้งรายชื่อผลงานและรายชื่อบทวิจารณ์วรรณกรรมของนักเขียนทั้งสองคน

ผู้เขียนหวังว่าหนังสือจากวินทร์ถึงปราบดาจะให้ความรู้ด้านการวิจารณ์วรรณกรรม  สังคมวิทยาวรรณกรรม  สังคมศาสตร์แห่งการวิจารณ์  และที่สำคัญคือบทบาทของการวิจารณ์ต่อการสร้างสรรค์และการอ่าน  เพราะนอกจากการวิจารณ์จะได้สะท้อนปฏิกิริยาของผู้อ่านแล้วยังส่องสะท้อนให้เห็นพัฒนาการของการสร้างสรรค์วรรณกรรมอีกด้วย

ผู้เขียนขอขอบคุณคุณวินทร์  เลียววาริณ  คุณปราบดา  หยุ่น  นักวิชาการ  นักวิจารณ์  นักอ่านและผู้สื่อข่าวสายวรรณกรรม  สำหรับผลงานวรรณกรรม  บทบรรยาย  บทความ  บทวิจารณ์ และบทสัมภาษณ์ที่เป็นข้อมูลในการศึกษาวิจัยเรื่องนี้

ศาสตราจารย์ ดร. รื่นฤทัย  สัจจพันธุ์