ชมัยภร แสงกระจ่าง กับ Troika Author

นิธิ นิธิวีรกุล รายงาน

อาจจะเคยคุ้นกันมานานแล้วกับนิยามคำว่าผู้ชายสีฟ้า,
ผู้หญิงสีชมพู​ เช่นนั้นเมื่อนิยายเล่มหนึ่งปรากฏชื่อว่า​ ‘ผู้หญิง​สีฟ้า’
ความสนใจจึงพึงมีด้วยเหตุผลสองประการ​ 1)
เพื่อค้นหาความหมายในความเป็นผู้หญิง​สีฟ้า​ และ​ 2)
ในวันและวัยที่ผ่านพ้นมาจนถึงการได้รับตำแหน่งศิลปินแห่งชาติของชมัยภร แสงกระจ่าง​

ผู้หญิง​ในมุมของชมัยภรมีเฉดสีแบบไหน

ยิ่งเมื่อบวกรวมกับนิยามความเป็นนักเขียนหญิงของคนสองรุ่น​
คือ​ รุ่นของชมัยภรและอีกรุ่นคือ​ Troika Author หรือ​ ‘สาม’
นักเขียนสาวรุ่นหลาน​

นักเขียนทั้งสองจะมีมุมและการมองอย่างไรเพื่อสะท้อนให้เห็นสีที่เป็นตัวของตัวเองภายในงานเปิดตัวหนังสือ​‘ผู้​หญิง​สีฟ้ากับนวนิยายสองรุ่น’

ร่วมเสวนาให้เข้มข้นยิ่งขึ้นโดย คิม จูฮยอน ซีอีโอของบริษัท everyone’s film (หรือชื่อเกาหลี ว่า โมดูฟิล์ม) ผู้สร้างซีรี่ส์ Web Drama ของเกาหลี

เริ่มแรกกับประเด็นที่มาของชื่อนิยาย​

ชมัยภรให้คำตอบไว้ว่า​

“ผู้หญิงสีฟ้ามันเกิดความรู้สึกมาจากที่ผู้หญิงต้องใช้สีชมพู
แล้วผู้ชายก็ต้องใช้สีฟ้า แต่ถ้าทันทีที่ผู้หญิงไม่ใช่สีชมพู อย่างที่เมื่อกี้คุยกับคุณจรัญ
หอมเทียนทอง (อดีตนายกสมาคมผู้จัดพิมพ์ฯ​) เขาบอกว่า อย่างนี้นางเอกก็เป็นทอมน่ะสิ
ซึ่งไม่ใช่ เพียงแค่นางเอกไม่ได้เป็นผู้หญิงสีชมพูเท่านั้นเอง นางเอกจะลำบากหน่อย
ต้องต่อสู้ชีวิต ไม่ได้มีชีวิตเป็นผู้หญิงสีชมพู จึงเป็นที่มาของเรื่องนี้”

“โดยเรื่องนี้เขียนลงในนิตยสารขวัญเรือน แรกทีเดียว
เราจะเขียนเรื่องราวแนวชีวิต ไม่ใช่แนวเจ้าชายเจ้าหญิงหรือพระเอกนางเอก
ทีนี้ก็เกิดความรู้สึกว่า เราควรจะเขียนเรื่องที่มันโรแมนติกบ้าง วันหนึ่ง อาจารย์จเลิศ
เจษฎาวัลย์ (คณบดีคณะสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยรามคำแหง) ก็มาเล่าเรื่องให้ฟัง
เนื่องจากลูกศิษย์เขาเจอผู้หญิงคนหนึ่งยืนคอยใครก็ไม่รู้หน้าศูนย์การค้า ตั้งแต่บ่ายจนถึงค่ำโดยไม่ไปไหน ลูกศิษย์ก็ยืนเฝ้าอยู่อย่างนั้น ปรากฏว่าเธอกลับบ้านไม่ถูก เขาก็เลยไปส่งบ้าน
ก็เลยชอบพอกัน แต่ก็ถูกกีดขวางโดยผู้ปกครองของผู้หญิง
เป็นหน้าที่ของดิฉันที่ต้องเขียน ว่าต้องเขียนอย่างไรให้มันโรแมนติก
ซึ่งดิฉันก็แก่แล้ว เขียนอย่างไรก็ไม่โรแมนติก มันก็เลยกลายเป็นเรื่องที่จริงจังขึ้นทุกที
ผู้หญิงที่เราวางพล็อตไว้ก็แข็งแรงขึ้นเรื่อยๆ แกร่งขึ้นเรื่อยๆ
ก็กลายมาเป็นผู้หญิงสีฟ้า ซึ่งที่มันเป็นแบบนั้นเพราะว่าเรา
เพราะเราก็ต้องผ่านอะไรแบบนี้มา เราก็เลยต้องสร้างอะไรแบบนี้ขึ้นมา
เพราะฉะนั้นผู้หญิงสีฟ้าก็เลยกลายเป็นผู้หญิงแกร่ง”

ส่วนผลงานของ Troika Author หรือ “สาม”​ เติบโตมาจากโลกออนไลน์​

สามบอกเล่าถึงนิยายของตัวเองในชื่อ​ ‘เกมส์รักพลิกอนาคต’
เอาไว้ว่า ด้วยความที่ตัวสามอยู่เกาหลี ในเรื่องพื้นที่ก็อยู่ในเกาหลีเลย
ที่มาก็คือเมื่อมาคิดถึงเรื่องอนาคตแล้ว ก็คิดไปถึงการไปดูดวง
ทำให้เชื่อว่าสิ่งที่หมอดูพูดมันเป็นเรื่องจริง​

“แต่ในความเป็นจริงแล้ว มันเป็นแค่ความเป็นไปได้
ก็เลยเขียนเรื่องนี้มาเพื่อให้คนรู้ว่าในอนาคตไม่ว่ามันจะเกิดอะไรขึ้นเราสามารถเปลี่ยนแปลงได้”

นวนิยายเล่มนี้จะถูกนำไปสร้างเป็นซีรี่ส์เกาหลีในชื่อ Mark Point โดยสามบอกว่า

“ทางเรากับทางบริษัทได้คุยกันแล้วเรารู้สึกว่าเราอยากเป็นนักเขียนคนไทยคนหนึ่งที่มีผลงานออกไปถึงเกาหลีบ้าง
เราก็เลยลองเขียนพล็อตแล้วเสนอไป”

คิม จูฮยอน ซีอีโอของบริษัทชื่อ everyone’s film หรือชื่อเกาหลี (อ่านว่า) โมดูฟิล์ม ได้กล่าวสอดรับไว้ว่า​

“ในพล็อตนิยายไทยก็จะมีความแตกต่างจากพล็อตของเกาหลี
มีส่วนที่คล้ายคลึงกันแล้วก็มีส่วนที่แตกต่างกันด้วย
ซึ่งพอมันลงตัวมันก็เป็นทั้งความแตกต่างและความคล้ายคลึงกัน”

ก่อนเป็นนักเขียนของสองรุ่นที่แตกต่าง

รุ่นใหม่จากออนไลน์

เส้นทางก่อนมาเป็นนักเขียนของสามเริ่มต้นจากการที่เป็นคนชอบอ่านหนังสืออย่างหัวขโมยแห่งบารามอส
งานของแนวแจ่มใสของ May 112 ก่อนจะเริ่มเขียนบทคัดย่อในชั้นเรียนจนมาถึงเริ่มเผยแพร่ในเว็บไซต์
Dek D จนเริ่มมีฐานแฟนคลับจึงนำไปลง E-book

โดยสามยังบอกเล่าต่ออีกว่าแฟนคลับในโลกนักอ่านออนไลน์เกิดขึ้นจากการเขียนนิยาย
อัพเดตไปเรื่อยๆ

“ในวันแรกมีแฟนคลับสิบคนคือดีใจมาก หลังๆ ก็ไม่ท้อ
พอเริ่มทำไปเรื่อยๆ มาดูอีกทีหนึ่งก็สองพันคนแล้ว”

ส่วนชมัยภรบอกเล่าว่าการเริ่มเขียนหนังสือในแบบยุคของตนนั้นแทบเป็นคนละโลกนะ แต่มันเป็นโลกที่ต้องม้วนไปหากัน

“ดิฉันเกิดจากหนังสือ
คืออ่านหนังสือของคุณพ่อคุณแม่ที่อยู่ในบ้านทุกเล่ม แม่อ่านนวนิยาย พ่ออ่านสารคดี
เพราะฉะนั้นความรู้สึกอยากอ่านมันจะมีตลอดเวลา
มีช่วงหนึ่งอ่านหนังสือจนกระทั่งวันสอบ อ่านนิยายจนสัปหงก
พออ่านเยอะแล้วเราจะรู้สึกเขียน แล้วเราจะอ่านเปลี่ยนไปเรื่อยๆ
เรียนหนังสือมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วเรียนอักษรศาสตร์มันก็คือหนังสือทั้งนั้น
เราก็เลยโตมากับหนังสือ ซึ่งเราก็ต้องเลือกว่าเราจะเขียนแบบไหน
ซึ่งช่วงที่หนังสือมีอิทธิพลกับเรามากที่สุดก็คือช่วง 12-13 งานของคุณศุภร
บุนนาค ภาษาเขางามมาก เราก็เรียนอักษรศาสตร์ตามหนังสือของคุณศุภรนั่นแหละ
เส้นทางมันเหมือนมาด้วยหนังสือ
แต่เราข้ามขั้นนิดหนึ่งตรงที่เราเป็นนักวิจารย์ก่อนจะมาเป็นนักเขียน มาลงสกุลไทย
มาลงขวัญเรือน อย่างเรื่องผู้หญิงสีฟ้าก็ลงขวัญเรือน

พอได้ยินสามพูดเรื่องออนไลน์ มีคนอ่านสิบคนก็ดีใจมาก
ดิฉันเขียน fictionlog มีคนอ่าน 15 คน ซึ่งตื่นเต้นมาก
เพราะไม่ใช่คนเก่าๆ เพราะกลุ่มนั้นเขาเข้าไม่ได้ เข้าไม่เป็น เป็นคนใหม่ มันเป็นโลกที่ในที่สุดเราก็ต้องเรียนรู้
และเราก็ต้องไม่สนใจว่าจะมีคนอ่านกี่คน เราสนใจแค่ว่าเราจะทำงาน เพราะฉะนั้นโลกนี้มันให้โอกาสเราปรับตัว
ซึ่งจุดประสงค์ของมันคือเรายังทำงานได้หรือไม่ได้”

ส่วนคิมจูฮยอน เล่าถึงตนเอง ในนฐานะคนทำซีรี่ส์ว่า

“ในเบื้องต้น​ตัวเองก็ชอบอ่านนิยายรัก​
ก่อนจะโตขึ้นจึงได้เริ่มอ่านหนังสือที่มันซับซ้อนหรือระทึกขึ้น
และมันก็ส่งผลต่อการทำซีรี่ส์ด้วย เพราะว่าคนเกาหลีชอบอ่านหนังสือทั้งผ่านหนังสือและอ่านแอพเช่นกัน”

จากนิยายสู่ละครซีรี่ส์

ผู้สร้างเลือกเรื่อง

ในฐานะที่เคยมีผลงานถูกนำไปสร้างเป็นละคร​ ชมัยภรบอกเล่าถึงผลงานของตนในอดีตที่ยังมีการติดต่อนำไปสร้างเป็นละคร​
ขณะที่ไม่มีนิยายไปทำละคร

“อย่าง รังนกบนปลายไม้ เพราะซื้อดักกัน
เป็นเทคนิคดักกันไปดักกันมาไม่ต้องทำ จริงๆ ผู้หญิงสีฟ้า ตอนลงแรกๆ เขาจองนะคะ
สมัยก่อนพอลงกันได้สักสี่ห้าตอนเขาก็จะมาจอง แต่เขารู้ฤทธิ์เดชชมัยภรดี
เพราะพอเขียนไปเรื่อยๆ มันจะไม่มันเหมือนเรื่องของสาม เพราะชมัยภรไม่พลิก ฉะนั้นพอเขาติดใจเรื่อง
ติดใจตัวละคร เขาจะจองไว้ แล้วพอเขาไปทำละคร
เขาอาจจะบอกเราหรือไม่บอกเราก็ได้ในการเลือกตัวละคร ซึ่งดิฉันก็ไม่ก้าวก่าย
เวลาคนทำละคร เขาเลือกเรื่องให้ไปตรงกับดารา
บางทีดาราคนนี้ดังก็จะหาเรื่องไปป้อนให้เขา บางเรื่องก็ไม่ได้คิดว่าจะไปทำเลย
อย่างเรื่องหน้าต่างสีชมพู ประตูสีฟ้า มันเป็นเรื่องเด็กมาก
แต่ปรากฏว่าตอนนั้นน้องพลับดัง
ทางช่องก็เลยไปขอซื้อเพราะจะทำให้น้องพลับเป็นตัวละคร
เพราะฉะนั้นมันไม่มีเงื่อนไขอะไรชัดเจน แต่ส่วนใหญ่ก็เป็นโครงสร้างของเรื่อง
ถ้าดิฉันสามารถเขียนเรื่องราวที่มันพลิกผันมากๆ อย่างที่น้องสามเขียน
ทางช่องก็อาจจะชอบ”

“ทุกวันนี้เราก็จะเห็นละครในลักษณะนี้
แต่ลักษณะละครที่เราเบื่อ มันซ้ำไปซ้ำมา มันอยู่ที่เทคนิคการสร้าง
มันก็สามารถพลิกมุมให้คนเห็นว่าน่าสนใจได้”

ผู้สร้างและนักเขียนทำงานร่วมกัน

ในส่วนของสาม​
ขั้นตอนการนำนิยายไปสร้างเป็นละครเริ่มต้นตั้งแต่ในขั้นคอนเซ็ปต์กับสนพ.ซึ่ง​จะวางแผนไว้แต่แรกแล้วว่าจะต้องเป็นซีรี่ส์
มีโปรดิวเซอร์คอยคุม (คล้าย บก.) และCo-writer ที่คอยปรับภาษาและขยายเนื้อหา

“คือเขาจะใช้ไอเดียจากต่างประเทศว่าเราไม่สามารถใช้คนๆ
เดียวในการเขียนงานได้เวลาที่จะทำซีรี่ส์ จะต้องใช้ประมาณสามคน คนแรกเขียน
คนที่สองปรับ แล้วคนที่สามก็จะปรับอีกที”

ซึ่งการจะนำไปสู่ละครซีรี่ส์แบบที่คนไทยคุ้นกันนั้น​
สามบอกว่าต้องอาศัยความกล้าในการพาตัวเองเข้าไปนำเสนอ

“มีโอกาสได้เจอเราก็เลยเสนอตัวเพราะเราก็ต้องมีความกล้านิดนึง
เราก็เสนอว่าเราอยากทำซีรี่ส์จังเลยค่ะ ถ้าเกิดเรามีโอกาสเราจะทำยังไงได้บ้าง
เขาก็เลยบอกว่าถ้าอย่างนั้นก็เลยส่งพล็อตมาแล้วกันว่ามันโอเคหรือเปล่า
ทางเขาเห็นว่ามันน่าสนใจก็เลยดีลกัน รวมทั้งการประสานกันในแง่ของการตลาด”

ด้านคิมจูฮยอน ฝั่งเกาหลีบอกว่า พิจารณาจากพล็อตและตอบคำถามไว้ว่าทำไมถึงชอบในเรื่องนี้​
คิมกล่าวว่า

“ปกติแล้วทางเว็บดราม่าที่มีละครลักษณะเดียวกันเยอะ
พออ่านพล็อตของคุณสามแล้วพบว่ามันมีความแตกต่าง ก็เลยคิดว่าเป็นสินค้าใหม่ที่น่าสนใจ
เพราะมันจะพลิกค่อนข้างเยอะ เกี่ยวข้องกับโชคชะตา การมองเห็นอนาคต
มีความสืบสวนสอบสวนอยู่ในตัว รวมทั้งดราม่าครอบครัว มีความรัก มันจึงเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจ”

เส้นทางที่เปลี่ยนไปของนักเขียน

เมื่อแพลตฟอร์ม​การอ่านแปรเปลี่ยนจากกระดาษมาสู่หน้าจอสมาร์ทโฟน​
การสร้างงานเขียนแทบไม่ต้องผ่านนิตยสารอีกแล้ว นักเขียนรุ่นเก่าอย่างชมัยภรมองอย่างไร?

“มันก็เป็นปัญหาที่เรากำลังพิจารณากันอยู่” ศิลปินแห่งชาติให้คำตอบ​

“สมาคมนักเขียนเองก็กำลังหาทางอยู่เหมือนกัน
บางทีทางสมาคมอาจจะต้องทำเพจของตัวเองแล้วให้นักเขียนทั้งหลายเข้ามาใช้พื้นที่ได้
แล้วมีหน่วยงานราชการสนับสนุนเพื่อให้ค่าเรื่องนักเขียนให้เขาอยู่ได้บ้าง
ทำอย่างไรเขาเปิดพื้นที่เหล่านี้ขึ้นมาได้ มันจำเป็นที่จะต้องมีในส่วนของสมาคมนักเขียนด้วย
นักเขียนรุ่นเก่าๆ ก็สามารถเข้าไปใช้พื้นที่ของคุณรุ่นใหม่เพื่อเข้าถึงนักอ่านได้
ถ้าเราสามารถสร้างพื้นที่ของเราขึ้นมาได้ แต่เราก็ต้องคิดถึงวิธีในการอ่าน
การเสพของคนที่เขาไม่สามารถที่จะใช้โทรศัพท์มือถืออ่านได้ เขาก็ต้องอ่านหนังสือเล่ม
ดิฉันคิดว่านิตยสารบางเล่มก็ยังควรจะอยู่
ฉะนั้นหนทางของสื่อสิ่งพิมพ์ก็เป็นหน้าที่ของเราที่ต้องช่วยกันคิด
มันอยู่ในระยะปรับตัว สื่อเองก็ต้องปรับตัว
ทำอย่างไรให้เขาสามารถทำละครให้มีความหลากหลายให้ได้”

สำหรับที่สามมองว่า หนังสือกระดาษในความคิดตน​คือคนจะซื้อมาเพื่อเป็นของสะสม
เป็นของที่ซื้อแล้วอ่านซ้ำได้ เอาไว้เก็บเอาไว้โชว์
แล้วเอื้อต่อสายตาของคนเรามากกว่า

เช่นเดียวกับคิมจูฮยอน
ซึ่งมองว่าการทำเว็บดราม่าก็จะมีกลุ่มตลาดที่ต่างกันกับเสน่ห์ของหนังสือ ซึ่งไม่ได้แปลว่าการเสพเว็บดราม่าจะไปบดบังเสน่ห์ของหนังสือให้หายไป
เนื่องจากทั้งสองสื่อจะให้ภาพที่แตกต่างกัน
เพราะการดูหนังมันคือการดูจินตนาการของผู้กำกับ
แต่ถ้าเราอ่านหนังสือคือเราจะสามารถได้ดูจินตนาการของตัวเองด้วย.