แฟนๆ คุณชมัยภร คงทราบกันดีนะคะว่า คุณชมัยภร เป็นชาวจันทบุรี เมื่อห้องสมุดมหาวิทยาลัยบูรพา จันทบุรี แจ้งมาว่าอยากจะรวมพลนักเขียนจันทบุรี ก็เข้าทางและเข้าทีเลยค่ะ

งานนี้ชาวจันบุรีที่อยู่กรุงเทพฯ อย่าง ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา เจ้าของสำนักพิมพ์โอเพ่นบุคส์ ก็มาด้วย ส่วนคุณกาญขณา นาคนันทน์ แม้จะเกิดที่ชัยภูมิ แต่ตอนนี้ก็เป็นชาวสอยดาว จันทบุรีไปแล้วค่ะ อีกคนที่ขาดไม่ได้ ในเมืองจันทร์ ก็คือ คุณเทพย์ สิทธานี นักเขียนชาวจันทบุรีแต่กำเนิด และปัจจุบันก็มีอาชีพด้านกฎหมาย พร้อมๆ กับเขียนหนังสือ อยู่ที่จันทบุรี แถมด้วยเรวัตร พันธุ์พิพัฒน์ กวีซีไรต์ ปี 2547 ชาวสุพรรณ ที่ปัจจุบันอยู่ที่โป่งน้ำร้อน จันทบุรี

เรียกว่า งานนี้ นักเขียนเมืองจันท์ (แท้ และไม่แท้) มากันพร้อมหน้า

มหาวิทยาลัยบูรพา อยู่ที่ ท่าใหม่ เส้นทางเดียวกับไปคุ้งวิมาน สำหรับคนไม่คุ้นเคย ก็คงต้องงกันบ้าง เพราะมีถนนหลายสายตัดกันในทางไปคุ้งวิมาน แต่ป้ายบอกทางกลับไม่มี (อิอิอิ เราก็หลงสิคะ จะอะไรเสียอีก)

รายการเสวนาแรก เป็นของนักเขียนผู้ใหญ่ คือ ชมัยภร แสงกระจ่าง และ กาญจนา นาคนันนท์ ในหัวข้อ ถนนนักเขียนเส้นทางที่มิได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ

คุณกาญจนา ที่เป็นเจ้าของนวนิยายเรื่อง ผู้กองยอดรัก เล่าถึงเคล็ดลับการเขียนเรื่อง ที่ต้องมาจากความประทับใจ แต่ที่แสนจะทึ่งก็คือ นวนิยายเรื่องแรกของคุณกาญจนา เกิดขึ้นเพราะ “อกหัก” ค่ะ เห็นไหมคะ อกหักให้อะไรคุณมากกว่าที่คิดค่ะ หากเราแสดงออกมาในทางที่สร้างสรรค์ คุณกาญจนา จึงได้มีนวนิยายต่อเนื่องกันมามากมาย (เจ้าตัวกล่าวให้ขำขำว่า ก็อกหักต่อมาเรื่อยๆ –ฮา)

สิ่งที่คุณกาญจนา เน้นย้ำ และพยายามกระตุ้นชาวจันทบุรีก็คือ ในเมื่อเป็นชาวจันทบุรี เหตุใดไม่ศึกษาประวัติศาสตร์ของจังหวัดให้ลึกซึ้ง เพราะคุณกาญจนา อ่านหนังสือประวัติศาสตร์จันทบุรีมากมาย รวมทั้งประวัติชัยภูมิ ก็อ่าน เพราะสมัยก่อนเป็นครูที่ชัยภูมิ ก่อนจะย้ายมาที่จันทบุรี คุณกาญจนา ย้ำว่า เป็นเรื่องที่ชาวจันทบุรี ต้องเร่งผลักดัน โดยสถาบันการศึกษาก็ควรจะเป็นศูนย์รวม

ส่วนคุณชมัยภร เล่าถึงวัยเด็ก แม่เป็นชาวสวนและครู พ่อเป็นข้าราชการ เป็นครอบครัวที่อ่านหนังสือ แต่สมัยก่อนไม่นิยมให้ลูกอ่านหนังสืออ่านเล่น คุณชมัยภร จึงต้องตื่นมาตอนพ่อแม่ไปกรีดยางตอนเช้ามืด เพื่อแอบอ่านหนังสืออ่านเล่นของแม่

การเริ่มเขียนหนังสือ คุณชมัยภร เล่าว่าเกิดขึ้นเอง เป็นคนชอบเขียน มีอะไรน้อยใจที่บ้านก็เขียน เช่น น้อยใจแม่ก็เขียนว่า ไม่ใช่ลูกแม่ แล้วก็เอาไปแปะไว้ที่ฝาบ้าน ให้พ่อกับแม่ได้อ่าน

แต่การเริ่มเขียน จริงจังก็คือ เขียนเรื่องเกี่ยวกับเพื่อนๆ และได้ลงในหนังสือชัยพฤกษ์ คุณชมัยภรบอกว่า เรื่องนั้นเขียนถึงเพื่อนในห้อง พอเรื่องได้ลง เพื่อนๆ ก็พากันตื่นเต้นทั้งกลุ่ม (เจ้าตัวจำเหตุการณ์นี้ไม่ได้ แต่เพื่อนๆจำได้ และเล่าให้ฟังว่าเพื่อนตื่นเต้นกันมาก)

ส่วนเรื่องนวนิยายที่ไปสร้างเป็นละคร คุณชมัยภร กล่าวว่า ก็ขึ้นกับผู้จัด

เสวนาช่วงต่อมา เป็นช่วงของ ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา เรวัตร พันธุ์พิพัฒน์ และเทพย์ สิทธานี นักเขียนหนุ่มทั้งสามคน เล่าถึงวัยเด็กที่เริ่มอ่านหนังสือ

คุณภิญโญ เป็นชาวขลุง มีครอบครัวใหญ่ พี่น้องถึง 9 คน เติบโตมากับการอ่าน โดยมีห้องสมุดเป็นสถานที่แรกในการเริ่มอ่าน คุณภิญโญบอกว่า มันเป็นโลกแห่งความรู้ ที่ไม่มีขีดจำกัด พอเข้ามาเรียนต่อกรุงเทพ เรื่อวน่าตลกก็คือ ด้วยความที่บ้านพักที่มีนบุรีไกลจากโรงเรียนเตรียมอุดมมาก คุณภิญโญจึง เตี๊ยม กับหัวหน้าห้องว่า จะเข้าเรียนสาย แต่มาแน่ เพราะบ้านอยู่ไกล ระหว่างก่อนคาบแรก คุณภิญโญจึงไปเตร็ดเตร่ที่ศูนย์หนังสือจุฬา และเลือกอ่านหนังสือมากมายตามชอบใจ

ส่วนคุณเทพย์ อ่านหนังสือผจญภัยท่องเที่ยวก่อน เพราะชอบเรื่องท่องเที่ยวตามนิสัย พอเริ่มโต ก็ได้รู้จักหนังสือ “ซ้าย” หลายๆ เล่ม ที่ปลูกฝังให้ชอบอ่านหนังสือ ไปพร้อมๆ กับนิสัย ขบถ จึงมักต้องย้ายโรงเรียนบ่อยๆ ด้วยความขบถส่วนตัว แต่ก็สุดท้ายก็จบรามคำแหง ได้เป็นนักกฎหมายสมใจ

เรวัตร์ เล่าว่า เป็นลูกชาวไร่ ยากจน ไม่รู้ว่าตนเองมาเขียนหนังสือได้อย่างไร ถ้าเทียบกับสถานะวัยเด็ก สมัยเด็กก็มีห้องสมุดเป็นที่พึ่ง แต่ก็ไม่มีอะไรมาก เพราะห้องสมุดต่างจังหวัดก็มีหนังสือไม่มาก

เมื่อกล่าวถึงเรื่องสังคมการอ่าน คุณภิญโญ วิจารณ์ถึงการส่งเสริมการอ่าน และการสนับสนุนการอ่านที่ผิดที่ผิดทาง คุณเทพย์ เล่าถึงระบบการตลาด ระบบสายส่งที่ทำลายคนทำหนังสือเล็กๆ

นักเขียนทั้งสามคน ก็หวังจะให้คนอ่านหนังสือมากๆ และอยากให้ห้องสมุดเลือกหนังสือที่ดีมีประโยชน์แก่คนอ่านให้มาก มีหนังสือดีๆ อีกมายมายที่ไม่ได้เข้ามอยู่ในห้องสมุด

เมื่อห้องสมุดเป็นศูนย์รวมความรู้ ก็ต้องทำให้คนเข้าห้องสมุดมากๆ